x close

นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ หอยกาบน้ำจืด ตัวเฝ้าระวังสารตกค้างจากยาฆ่าศัตรูพืช




นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ "หอยกาบน้ำจืด" ตัวเฝ้าระวังสารตกค้างจากยาฆ่าศัตรูพืช

          
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ในแต่ละปีมีการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมาก สิ่งที่ควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญก็คือการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระบบนิเวศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมตามมาอันเนื่องมาจากฤทธิ์ที่ตกค้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนคลอรีน ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงชนิดสังเคราะห์ ที่สามารถสะสมอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตได้ยาวนาน

          อ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และคณะ ได้ศึกษาวิจัย "การใช้หอยกาบน้ำจืดเป็นตัวเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ ในกลุ่มออร์กาโนคลอรีนในพื้นที่เกษตรกรรมภาคกลางในประเทศไทย" เนื่องจากสารกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์กาโนคลอรีนมีหลายชนิด ชนิดที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือสารดีดีทีซึ่งมีทั้งข้อดีในการช่วยควบคุมแมลง ในขณะเดียวกันก็ออกฤทธิ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตได้

          ในประเทศไทยมีการห้ามการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์กาโนคลอรีนมากว่า 30 ปีแล้ว แต่มีการอนุญาตใช้ในบางกรณี รวมทั้งยังมีการลักลอบการใช้สารกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้อยู่ เช่น ใช้ในการควบคุมหอยเชอรี่ จากการศึกษาวิจัยพบว่ายังมีการตกค้างของสารชนิดนี้ตามแหล่งธรรมชาติทั้งดินและน้ำ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากดินตะกอนและน้ำโดยใช้วิธีการทางเคมี สารกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์กาโนคลอรีนจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารที่ได้รับ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ รวมทั้งอาจส่งผลในระยะยาวทำให้เกิดโรคเรื้อรัง โรคมะเร็ง และภาวะการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของทารก

          ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ อ.ดร.นพดล ได้เลือกหอยกาบน้ำจืดซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำและฝังตัวอยู่ในดินตะกอน เป็นตัวเฝ้าระวังสารตกค้างจากยาฆ่าศัตรูพืช พื้นที่ในการศึกษาวิจัยอยู่ในบริเวณคลองรังสิต คลอง 7 ซึ่งมีหอยกาบน้ำจืด 3 ชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก วิธีการศึกษาวิจัยมีการเก็บตัวอย่างดินตะกอนบริเวณคลองรังสิต และเก็บตัวอย่างหอยกาบมาศึกษาการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชด้วยกระบวนการทางเคมี รวมทั้งศึกษาถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงของหอยกาบทั้งภายในและภายนอก

         ผลการศึกษาวิจัยพบว่ายังมีการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนคลอรีนซึ่งตกค้างในดินตะกอนและหอยกาบน้ำจืดที่เก็บตัวอย่างมาได้ แม้ว่าปริมาณของสารกำจัดศัตรูพืชอาจไม่มากถึงกับทำให้หอยกาบตายหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนคลอรีนซึ่งตกค้างในดินตะกอนและหอยกาบน้ำจืด พบว่าในหอยกาบน้ำจืดมีปริมาณสารดังกล่าวที่ปนเปื้อนตกค้างมากกว่าในดินตะกอนถึง 10 เท่า ดังนั้นหอยกาบน้ำจืดที่พบในแหล่งน้ำใกล้พื้นที่เกษตรกรรมจึงสามารถเป็นตัวเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี 

          อ.ดร.นพดล กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าของงานวิจัยในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันมีการขยายขอบเขตพื้นที่ในการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมไปที่ จ.น่านซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจเนื่องจาก จ.น่าน มีพื้นที่ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มสารกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้า ซึ่งนิสิตที่ร่วมศึกษาวิจัยได้มีการใช้สัตว์ชนิดต่างๆ ในระบบนิเวศเป็นตัวเฝ้าระวัง ไม่ว่าจะเป็นหอยกาบ ปูนา กบ และปลา


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ หอยกาบน้ำจืด ตัวเฝ้าระวังสารตกค้างจากยาฆ่าศัตรูพืช โพสต์เมื่อ 19 กันยายน 2555 เวลา 17:05:33 1,162 อ่าน
TOP