เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ครูหยุยวอนรัฐบาล จัดสรรงบประมาณตั้งสภาเยาวชน แก้ปัญหาวัยรุ่นท้อง-ติดยา-ตีกัน ด้านสมาคมจิตแพทย์เผยหลัก 4 ก. ให้ผู้ปกครองร่วมมือแก้ปัญหา
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อเรื่อง "เซ็กส์วัยใส ติดยา ตีกัน แก้อย่างไร" โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหาเรื่องการติดยาเสพติด ยกพวกตีกัน มีเพศสัมพันธ์ และตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งหากเด็กไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ และแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด ปัญหานี้จะยิ่งฝั่งรากลึกมากขึ้น
ทั้งนี้ ครูหยุย กล่าวต่อว่า ในส่วนของชุมชนต้องร่วมกันสำรวจสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ว่า เอื้อต่อการกระทำผิดหรือไม่ โดยผู้ปกครอง และเด็กจะต้องร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น ให้ทราบถึงสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องการ และจัดเวทีให้พวกเขาได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และตนอยากเรียกร้องให้รัฐบาล จัดสรรงบประมาณสนับสนุนสภาเยาวชน สำหรับใช้ดำเนินกิจกรรมระดับจังหวัด และชุมชน ในการจัดเวทีระดมสมอง และทำกิจกรรมแก้ไขปัญหาเยาวชนดังกล่าว
ด้าน น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าทีมโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กในวัย 12-25 ปี จะเรียนรู้จากสภาพแวดล้อม และสังคม ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ อาจทำให้เด็กมีปัญหาก็ได้ ทั้งนี้ ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่มีส่วนให้เด็กโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ
โดย น.พ.ยงยุทธ ยังเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เริ่มต้นได้ที่บ้าน ตามแนวทาง 4 ก. ได้แก่
1.) ก. กติกาภายในบ้าน ดูทีวี เล่นอินเทอร์เน็ต คุยโทรศัพท์อย่างเป็นเวลา
2.) ก. กิจกรรมภายในครอบครัว และส่งเสริมให้เข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน
3.) ก. กอด เป็นการแสดงออกสัมผัสทางกายระหว่างพ่อแม่กับลูก และคนภายในบ้าน
4.) ก. เก็บเรื่องมาเล่า ถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน ได้ผลดีกว่าการมุ่งสั่งสอนอย่างเดียว
ด้าน นายอวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร ผู้พิพากษา รองหัวหน้าศาลเยาวชน จังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า ปัญหาเยาวชนติดยาเสพติด ส่วนใหญ่มาจากผู้ใหญ่ และการนำเสนอข่าวการจับกุมยาเสพติด ที่มีการบอกมูลค่า ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการค้ายาเสพติด โดยส่วนตัวเห็นว่าหากเด็กถูกจับ ขอผู้ปกครองอย่ารีบประกันตัว เพื่อให้เด็กเข้าสู่ระบบการอบรม และให้ออกมาจากสภาพแวดล้อมก่อนสักระยะ เชื่อว่าจะทำให้เด็กเกิดความเกรงกลัว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก