x close

คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. สร้างตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ แปรรูปอาหารทะเล


          คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลิตตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์และไม้ฟืน ติดตั้งบนพื้นที่เกาะบุโหลนดอนและเกาะบุโหลนเล จังหวัดสตูล สนับสนุนให้ชาวบ้านแปรรูปสัตว์ทะเลเป็นผลิตภัณฑ์ตากแห้ง ลดปัญหาการเน่าเสียของสัตว์ทะเลสด และถ่ายทอดวิธีการแปรรูปมะม่วงและมันสำปะหลังแก่ชาวบ้าน เมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนากับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และการพัฒนาตามนโยบายหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัดของรัฐบาล

 


          นายสุทธิรักษ์ เพชรรัตน์ นักวิทยาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัยเปิดเผยว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะบุโหลนดอนและเกาะบุโหลนเลส่วนใหญ่มีอาชีพประมง ซึ่งการทำประมงของชาวบ้านส่วนใหญ่จะส่งสัตว์ทะเลจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือหากขายเองจะต้องนำมาขายบนฝั่งซึ่งอยู่ห่างจากเกาะประมาณ 20 กิโลเมตร ทำให้มีต้นทุนในการขนส่งสูง เพื่อให้คุ้มค่าขนส่งหรือค่าน้ำมันเรือ ชาวบ้านจึงต้องเก็บสัตว์ทะเลไว้ด้วยการแช่น้ำแข็ง รอจนกว่าจะได้จำนวนมากพอจึงจะส่งมาจำหน่ายบนฝั่ง ซึ่งใช้ระยะเวลาหลายวัน ส่งผลให้สัตว์ทะเลเน่าเสียและจำเป็นต้องทิ้งไปในที่สุด 

          การแปรรูปอาหารทะเลโดยการทำแห้งโดยใช้ตู้อบ เป็นเครื่องมือการแปรรูปเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำ สามารถทำได้ทุกพื้นที่ ซึ่งตู้อบที่ผลิตขึ้นนั้นเป็นตู้อบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งให้ความร้อน และยังออกแบบให้สามารถใช้ไม้ฟืนเป็นแหล่งให้ความร้อนในขณะที่ไม่มีแสงแดด คือในเวลากลางคืนหรือขณะฝนตก จึงสามารถใช้งานได้ในทุกสภาพอากาศ ชาวบ้านสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแปรรูปอาหารทะเล เช่น ปลาตากแห้ง กุ้งแห้ง หมึกตากแห้ง ซึ่งการทำแห้งจะสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานโดยไม่ต้องควบคุมอุณหภูมิ ช่วยลดปริมาณน้ำหนัก ลดภาระ การขนส่ง ลดต้นทุนในการเก็บรักษาและยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าอย่างอื่นได้



          นอกจากการผลิตและติดตั้งตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์และไม้ฟืน ให้กับชาวบ้านเกาะบุโหลนดอนและเกาะบุโหลนเล ได้ใช้แปรรูปอาหารทะเลเป็นผลิตภัณฑ์ตากแห้งแล้ว คณะผู้วิจัยยังได้ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสุขลักษณะที่ดีในการแปรรูปอาหาร ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) รวมทั้งยังได้ถ่ายทอดวิธีการแปรรูปมะม่วงและมันสำปะหลัง ได้แก่ การทำมะม่วงกวน มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม และมันสำปะหลังทอดกรอบ ซึ่งพืชทั้งสองชนิดนี้นิยมปลูกกันมากบนพื้นที่เกาะบุโหลน เป็นการส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มให้กับชาวบ้านในพื้นที่เกาะบุโหลนอีกด้วย 
    



          ด้านนางปรีดา โสรมณ์ หัวหน้ากลุ่มสตรีเกาะบุโหลนเล หนึ่งในผู้เข้าร่วมรับฟังการถ่ายทอดความรู้การแปรรูปอาหารในครั้งนี้กล่าวว่า เนื่องจากตนเปิดร้านจำหน่ายอาหารไทยแก่นักท่องเที่ยว จึงชอบที่จะเข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับการทำอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาจะต้องเดินทางเข้าฝั่งซึ่งมีระยะทางไกลพอสมควร การเดินทางมาติดตั้งตู้อบและถ่ายทอดความรู้เรื่องการแปรรูปอาหารแก่ชาวบ้านของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำให้ตนและชาวบ้านรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก ถือเป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านตื่นตัวในเรื่องการทำมาหากินด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ในฐานะตัวแทนชาวบ้านทุกคนขอขอบคุณมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีส่วนช่วยต่อยอดภูมิปัญญาของชาวบ้านเกาะบุโหลน ตนและชาวบ้านตั้งใจไว้ว่าจะรวมกลุ่มกันผลิตอาหารตามวิธีการที่ได้รับการถ่ายทอดในครั้งนี้เพื่อวางจำหน่าย โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดพายุ ไม่สามารถออกทะเลได้ จะได้ใช้เวลาและทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด 

          นายสุทธิรักษ์ เพชรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการผลิตปลา ปลาหมึกตากแห้งด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์และไม้ฟืน เป็นโครงการในสังกัดคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะบุโหลน ระยะที่ 1 ปี 2555 ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยจากมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมุ่งเน้นพัฒนาด้านประมงและผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อช่วยเสริมสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวบ้านเกาะบุโหลนอย่างยั่งยืน



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. สร้างตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ แปรรูปอาหารทะเล อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2555 เวลา 17:20:55 1,046 อ่าน
TOP