x close

นักวิจัย มข. ผลิตไบโอเอทานอลจากลำต้นมันสำปะหลัง











          รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมนักศึกษาระดับปริญญาโท ได้ศึกษาวิจัยการผลิตไบโอเอทานอล (ลิกโนเซลลูโลสิกเอทานอล) จากลำต้นมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนในกลุ่มของพลังงานชีวภาพ เมื่อผสมกับน้ำมันจะช่วยให้น้ำมันมีราคาถูกลง และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

          ในกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้เอทานอลนั้น รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย เผยว่า เริ่มจากการนำลำต้นมันสำปะหลังซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีจำนวนมากในภาคอีสาน นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นทำให้แห้งเพื่อเป็นวัตถุดิบตั้งต้น แล้วบดให้เป็นผงละเอียดขนาด 500 ไมครอน และนำไปกำจัดลิกนินออกไป จะได้สารสีขาวขึ้นที่เรียกว่า "โฮโลเซลลูโลส" และเพื่อให้เหมาะสมต่อการหมักซึ่งเป็นกระบวนการต่อไป จะมีการใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์กำจัดเพื่อให้ได้ "เซลลูโลส" ที่เหมาะกับการนำไปย่อยต่อ ซึ่งกระบวนการย่อยจะใช้กรดซัลฟิวริกเจือจางผสมในสัดส่วนที่เหมาะสม แล้วนำไปนึ่งในหม้อนึ่งอบไอน้ำ ที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส สภาวะความดัน 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว เป็นเวลา 90 นาที

          จากนั้นจะเป็นกระบวนการกรองเพื่อแยกเอาน้ำตาลและกากที่หลงเหลือออกจากกัน จะได้สารละลายที่ใสเพื่อนำไปหมักซึ่งเป็นกระบวนการของการผลิตเอทานอลต่อไป โดยใส่เชื้อยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ที่เจริญบนอาหารเหลว 10 มิลลิลิตร ลงไปในสารละลายน้ำตาลที่เติมอาหารสังเคราะห์ แล้วนำไปหมักที่ 30 องศาเซลเซียสบนเครื่องเขย่าที่ความเร็วรอบ 150 รอบต่อนาที เป็นเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง

          หลังจากบ่มเชื้อครบ 48 ชั่วโมงแล้ว นำสารละลายไปกลั่น เพื่อให้ได้เอทานอล โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการกลั่น คือช่วง 70- 80 องศาเซลเซียส ขั้นตอนนี้จะได้เอทานอลที่บริสุทธิ์ในระดับหนึ่งออกมา จากนั้นนำเอทานอลไปตรวจวัดด้วยเครื่อง GC-FID ซึ่งเป็นระบบตรวจวัดด้วยคอมพิวเตอร์ โดย รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย เผยว่า ปริมาณของเอทานอลที่ได้จะอยู่ที่ประมาณ 8 - 12 เปอร์เซ็นต์ ของวัถุดิบตั้งต้น

          รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า "แม้ว่าปริมาณของเอทานอลที่ได้จะอยู่ที่ 8-12 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม งานวิจัยนี้เชื่อว่ามีความคุ้มค่าในระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อนำเอทานอลที่ได้ไปผสมกับน้ำมันเบนซินจะทำให้น้ำมันเบนซินมีราคาถูกลง คิดว่าในอนาคตจะมีความคุ้มค่ามากขึ้น เป็นพลังงานทางเลือกอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้ใช้ประโยชน์จากลำต้นมันสำปะหลังอย่างคุ้มค่า แถมยังช่วยลดภาวะโลกร้อน ได้อีกทางหนึ่งด้วย"

          คลิ๊กชมคลิปวีดีโองานวิจัยนี้ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=_6l19oB4PSk&feature=youtu.be

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิจัย มข. ผลิตไบโอเอทานอลจากลำต้นมันสำปะหลัง โพสต์เมื่อ 25 มิถุนายน 2555 เวลา 18:10:44
TOP