x close

คณะแพทย์ มช. เปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แห่งแรกของภาคเหนือ





คณะแพทย์ มช. เปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แห่งแรกของภาคเหนือ

           คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดราคา 85 ล้านมาให้บริการประชาชน หุ่นยนต์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย แผลผ่าตัดเล็ก ลดความเสี่ยงแผลติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อน  ชูความเป็นเลิศ ทางการแพทย์ในภาคเหนือ

           เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) โดยคุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Chiang Mai Robotic Surgery Center) ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม   วัฒนชัย องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธาน 

           รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการงานวิจัย และงานบริการแบบสหวิทยาการ มุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ ประกอบด้วย ศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด, ศูนย์เอกซเรย์ด้วยเครื่อง PET SCAN, ศูนย์เลสิค, ศูนย์วิจัย Stem Cell และธาลัสซีเมีย, ศูนย์ผู้มีบุตรยาก,ศูนย์สุขภาพสตรีและศูนย์เวชศาสตร์ความงาม, ศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน รวมทั้ง ศูนย์ผู้สูงอายุ

           สำหรับหุ่นยนต์ผ่าตัด หรือ Robotic Surgery นับเป็นเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีทันสมัย สามารถทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้สะดวก ปลอดภัย และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ด้วยช่องมองภาพการผ่าตัดเป็นภาพ 3 มิติ และมีกำลังขยายภาพของกล้องผ่าตัดถึง 10 เท่า ทำให้การผ่าตัดมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และตัวหุ่นยนต์ผ่าตัดประกอบด้วยแขนหุ่นยนต์ 4 แขนที่มีการพัฒนาสามารถหักงอ และหมุนได้อย่างอิสระ จึงทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการผ่าตัด 

           นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมภาพการผ่าตัดภายใต้กล้องในบริเวณที่ต้องการผ่า เพื่อให้แพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ และพยาบาลสามารถมองเห็นได้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสามารถนำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยหลายระบบ ได้แก่ โรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ โรคทางระบบทางเดินอาหาร โรคทางระบบนรีเวช โรคทางระบบหัวใจ และโรคทางระบบหู คอ จมูก

           ศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นหนึ่งในภารกิจของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 หลังจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดซื้อ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด มูลค่า 85 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ได้ให้บริการผ่าตัดผู้ป่วยจำนวน 26 ราย เป็นคนไข้มะเร็งต่อมลูกหมาก 20 ราย และคนไข้มะเร็งลำไส้ 6 ราย ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย และไม่มีภาวะแทรกซ้อน  สำหรับประโยชน์ของการผ่าตัดรักษาด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดคือ เป็นการลดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด เพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัด แผลที่เกิดจากการผ่าตัดเล็กลงจึงทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของแผลผ่าตัด ลดระยะเวลาในการผ่าตัด และการสูญเสียเลือดระหว่างผ่าตัดน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

           ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการบรรยาย เรื่อง ”ประสบการณ์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในคณะแพทยศาสตร์ มช." โดย ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์, ผศ.นพ.สุภณ ศรีพลากิจ, อ.นพ.ปวิธ สุธารัตน์, ผศ.นพ.วิชัย ชื่นจงกลกุล มีการสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด และนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการสาธิตหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ ของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มุ่งสู่การเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำในระดับนานาชาติ



ขอขอบคุณข้อมูลลภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คณะแพทย์ มช. เปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แห่งแรกของภาคเหนือ โพสต์เมื่อ 11 มิถุนายน 2555 เวลา 15:03:45
TOP