x close

เภสัช มช. ผลิตตะไคร้ต้นเป็นน้ำมันหอมระเหย


ตะไคร้ต้น

ตะไคร้ต้น

ตะไคร้ต้น


            น้ำมันหอมระเหยจากต้นตะไคร้ งานวิจยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อะโรมาเธอราพีกลิ่นไทยแท้ ๆ หอมชวนหลงใหล

           ด้วยกลิ่นหอมเหมือนตะไคร้ผสมมะนาวและมีรสเผ็ดซ่า "ตะไคร้ต้น" จึงเป็นเครื่องเทศชั้นดีของผู้คนบนดอย สร้างความสนใจให้นักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเอาตะไคร้ต้นมาวิจัย พบมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยสูง และมีคุณสมบัติเด่นทั้งเป็นอโรมาทอราปีและมีฤทธิ์ไล่ยุงได้ดี แนะนำให้ส่งเสริมการใช้ในชุมชนให้มากขึ้น

           โครงการวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากน้ำมันตะไคร้ต้น เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ผศ.ดร.ภญ.สุนีย์ จันทร์สกาว เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมทีมวิจัย รศ.ภก.ปราโมทย์ ทิพย์ดวงตา,รศ.ดร.ภญ. พาณี  ศิริสะอาด,รศ.ดร.ภก.วิรัตน์ นิวัฒนนันท์ และ รศ.ภญ.สุวรรณา เวชอภิกุล โดยนำตะไคร้ต้นมาจากอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ผลการวิจัยพบว่ามีน้ำมันหอมระเหยในปริมาณสูง มีกลิ่นที่ผสมผสานของตะไคร้และมะนาว จึงสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งสำหรับอโรมาเทอราปีและผลิตภัณฑ์ไล่ยุงได้ 

           ผศ.ดร.ภญ.สุนีย์ จันทร์สกาว หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ยุงเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในด้านสาธารณสุขของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ คือ ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงมากขึ้น และโรคชิคุนกุนยา ทุกวันนี้ยังไม่มียาหรือวัคซีนใดที่ใช้รักษาได้โดยตรงทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา ในการรักษาจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการแพร่พันธุ์ของยุง และการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ซึ่งการป้องกันยุงกัดนั้นทำได้หลายวิธี เช่น การติดมุ้งลวดในบ้าน หรือทายากันยุงขณะทำงานและออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด 

           ส่วนยากันยุงที่มีจำหน่ายในท้องตลาดปัจจุบัน ส่วนประกอบมักจะเป็นสารเคมีสังเคราะห์เช่น diethyltoluamide, dimethyl phthalate ซึ่งกลิ่นของสารสามารถไล่ยุงและแมลงต่าง ๆ ได้ดี  แต่การใช้สารเคมีสังเคราะห์เหล่านี้ พบว่าอาจทำให้เกิดผื่นคันภายหลังจากทา ยากันยุงชนิด diethyltoluamide อาจมีผลต่อระบบประสาท และระบบหัวใจ หลอดเลือด โดยเฉพาะเด็กเล็ก จะเกิดอาการดังกล่าวได้มากกว่าผู้ใหญ่ มีรายงานว่ายาทากันยุงชนิดนี้ทำให้เกิดอาการชักกระตุกในเด็กบางคน เพียง 8-24 ชั่วโมง ภายหลังทายากันยุงชนิดนี้ จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง 

           นอกจากสารเคมีสังเคราะห์แล้วยังมีสมุนไพรหลายชนิดที่ช่วยไล่ยุงได้ โดยเฉพาะพืชที่มีน้ำมันหอมระเหยเป็นองค์ประกอบ เช่น ตะไคร้หอม เปลือกส้ม ตะไคร้ ยูคาลิปตัส กระเทียม ซึ่งการใช้สารจากธรรมชาตินั้นมีข้อดี คือ โอกาสที่จะเกิดการดื้อยาจะน้อยกว่าสารสังเคราะห์ที่เป็นตัวยาเดี่ยว เนื่องจากในสารจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหอมระเหย หรือสารสกัด ผลที่ได้มาจากการเสริมฤทธิ์ของสารหลาย ๆ ชนิด ที่เป็นองค์ประกอบ และการใช้สารจากธรรมชาติ หลาย ๆ ชนิด เป็นที่ยอมรับถึงความปลอดภัย  

           น้ำมันหอมระเหยที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ไล่ยุงในประเทศไทย คือน้ำมันตะไคร้หอม (citronella oil) ได้จากการกลั่นใบตะไคร้หอม (Cymbopogon nardus (Linn.) Rendle) ซึ่งมีข้อมูลการศึกษาประสิทธิภาพ พบว่าสามารถไล่ยุงได้นาน 2-4 ชั่วโมง แต่น้ำมันตะไคร้หอมมีกลิ่นฉุน ทำให้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากน้ำมันตะไคร้หอมไม่เป็นที่ยอมรับในผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะเด็ก ๆ 

           นอกจากน้ำมันตะไคร้หอมแล้ว พืชสมุนไพรไทยที่มีข้อมูลในการไล่ยุงได้ดีอีกชนิดหนึ่ง คือ น้ำมันตะไคร้ (lemon grass oil) ซึ่งพบว่าในการทดสอบกับยุงลายบ้าน (Aedes aegypti L.) ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสารละลาย 1 % และรูปแบบครีมและขี้ผึ้ง 15 % v/w มีประสิทธิภาพในการไล่ยุง 2-3 ชั่วโมง แม้ว่าน้ำมันตะไคร้ให้กลิ่นที่เป็นที่ยอมรับแต่ปริมาณผลผลิต (% yield) ที่ได้มีปริมาณที่ต่ำ โดยอยู่ในช่วง 0.25-0.50 % 

           ทีมวิจัยเห็นว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายของพรรณพืช มีน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรไทยหลายชนิดที่มีรายงานและมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ไล่ยุง จึงให้ความสนใจ "ตะไคร้ต้น" ซึ่งเป็นพืชที่พบมากในท้องถิ่น มีองค์ประกอบทางเคมีที่ใกล้เคียงกับตะไคร้ และเป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันหอมระเหยที่สูงถึง 3-5 % 

           น้ำมันตะไคร้ต้น เมื่อนำมาเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์ในความเข้มข้น 15 % สามารถให้ผลในการไล่ยุง Cx. Quinquefasciatus ได้ 48.1 - 76.2 % ขณะที่ให้ผลในการไล่ยุง Ae. Aegypti ได้ 20.5 - 28.9 % ซึ่งให้ผลดีพอ ๆ กับน้ำมันตะไคร้หอม แต่เป็นที่พึงพอใจมากกว่าเนื่องจากกลิ่นที่ดี ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไล่ยุง ให้เป็นทางเลือกหนึ่งกับผู้บริโภคในการเลือกใช้ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการไล่ยุงด้วยการใช้ร่วมกับน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีคุณภาพและเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค

           ตะไคร้ต้น มีชื่อสามัญคือ  ตะไคร้ต้น จะไคร้ต้น  ตะไคร้  มีชื่อวิทยาศาสตร์  Litsea cubeba (Lour.) Pers. วงศ์  LAURACEAE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นต้นไม้สูงถึง 10 เมตร ผลัดใบและกึ่งผลัดใบ  ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ เมื่อขยี้ใบดมดูจะมีกลิ่นเหมือนตะไคร้บ้าน ส่วนดอก  ออกเป็นช่อกลมที่ซอกใบ เป็นกระจุกแน่น แต่ละช่อมี 4-6 ผลสด มีรูปทรงกลมสีเขียว ส่วนที่มีน้ำมันคือที่เปลือกผล  ซึ่งจะมีต่อมน้ำมัน เมื่อผลสุกหรือผลแห้งจะเป็นสีดำ 

           ตะไคร้ต้นจะพบได้ในแถบพื้นที่ป่า บนที่สูงของป่าดงดิบ ใกล้ห้วย  หรือริมลำธาร ซึ่งชาวบ้านบนดอยหรือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ชายป่านิยมนำมาเป็นอาหาร เป็นเครื่องเทศประจำบ้าน ซึ่งในการศึกษานี้เก็บตะไคร้ต้นจากป่าชุมชนในอำเภอเวียงแหง จ.เชียงใหม่

           ทีมวิจัยได้นำผลตะไคร้ต้นสด ไปกลั่นน้ำมันหอมระเหยด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ น้ำมันหอมระเหยที่ได้นำมาเตรียมเป็นสารละลายความเข้มข้น 5, 15 และ 20 % ในน้ำมันแร่ แล้วนำไปทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันยุง พบว่าน้ำมันตะไคร้ต้นที่ความเข้มข้น 15 % มีค่าเฉลี่ยของระยะเวลาในการป้องกันยุงกัดนานที่สุดคือ 4.75 ชั่วโมง  รองลงมาคือน้ำมันตะไคร้ต้นความเข้มข้น 5 % มีค่าเฉลี่ยของระยะเวลาในการป้องกันยุงกัดเท่ากับ 4.37 ชั่วโมง  

           ดังนั้นทีมวิจัยจึงเลือกน้ำมันหอมระเหยที่ความเข้มข้น 5 %, 10 %และ 15 % มาเตรียมผลิตภัณฑ์ 4 รูปแบบ ได้แก่ ครีม โลชัน เจล และสเปรย์ และจากการศึกษาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง 4 รูปแบบ พบว่าผลิตภัณฑ์เจล 15 % สเปรย์ 10 % และเจล 10 % มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดดีที่สุด  และมีความแตกต่างทางสถิติกับทุกผลิตภัณฑ์ (p > 0.05)  โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัด  ดังนี้  5.87  0.47 ชั่วโมง, 5.37  0.72 ชั่วโมง และ 4.62  0.87 ชั่วโมง ตามลำดับ 

           จากผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า น้ำมันตะไคร้ต้นที่เป็นผลผลิตในประเทศไทย ให้ผลในการป้องกันยุงกัด เช่นเดียวกับข้อมูลที่เคยมีรายงานในต่างประเทศ และในการศึกษานี้ได้เพิ่มเติมผลในการป้องกันยุงกัดของผลิตภัณฑ์น้ำมันตะไคร้ต้นในรูปแบบต่าง ๆ และในความเข้มข้นที่ต่างกัน เนื่องจากในปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ในบางครั้งขนาดที่ใช้ที่เหมาะสมยังขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทำให้ผู้ใช้ขาดความเชื่อมั่น  

           จากผลการศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันยุง พบว่าน้ำมันตะไคร้ต้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงได้ถึง 4-5 ชั่วโมง ซึ่งน้ำมันตะไคร้ต้นน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของสารจากธรรมชาติที่ใช้ในการป้องกันยุงโดยเฉพาะยุงลาย ซึ่งหากมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในการใช้ร่วมกับน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่น หรืออาศัยเทคโนโลยีทางเภสัชกรรม อาจจะได้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงได้นานขึ้น ทำให้สะดวกในการใช้ และยังมีผลข้างเคียงน้อย 

           "ต่อเนื่องจากผลการศึกษาวิจัย เราก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่มีการเตรียมไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อที่จะนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เป็นการเพิ่มคุณค่าของตะไคร้ต้น จากเครื่องเทศบนดอย มาสู่ผลิตภัณฑ์พืชหอมเพื่อสุขภาพ เพราะน้ำมันตะไคร้ต้นยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางสุคนธบำบัด โดยทำให้รู้สึกสดชื่นเมื่อสูดดม และด้วยกลิ่นที่คล้ายตะไคร้ผสมมะนาวนั้นทำให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ จึงควรมีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาต่อยอดในระดับอุตสาหกรรม โดยการนำตะไคร้ต้นซึ่งเป็นพืชที่พบมากในพื้นที่สูง และเป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันหอมระเหยในปริมาณที่สูง นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบสมุนไพร ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนและยังเป็นการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.ภญ.สุนีย์ กล่าวทิ้งท้าย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เภสัช มช. ผลิตตะไคร้ต้นเป็นน้ำมันหอมระเหย อัปเดตล่าสุด 18 พฤษภาคม 2559 เวลา 17:31:51 3,576 อ่าน
TOP