x close

มศว ชี้ แจกแท็บเล็ต ป.4 คุ้มค่า-ได้ประโยชน์กว่า ป.1


   

 tablet


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

              มศว ศึกษาผลการใช้แท็บเล็ตระยะที่ 1 พบ แจกให้นักเรียนชั้นป.4 เหมาะสมกว่า นักเรียนชั้นป.1 เนื่องจากนักเรียนชั้นป.4 สามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า และเกิดการเรียนรู้มากกว่า นอกจากนี้ทางครู และผู้ปกครอง เสนอแนะขอให้จัดฝึกอบรมเพื่อให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี รวมไปถึงอยากให้จัดผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคให้แต่ละโรงเรียนด้วย

              วานนี้ (11 พฤษภาคม) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้จัดแถลงข่าว "ผลการดำเนินงานโครงการนำร่องการประยุกต์และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บแล็ตเพื่อการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาตามแนวนโยบายของรัฐบาลระยะที่ 1" โดยมี ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว ออกมาสรุปเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า การใช้แท็บเล็ตของกลุ่มนักเรียนนั้น พบว่า ด้านพฤติกรรมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนด้านการฝึกหัดและการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ทำให้นักเรียนเรียนรู้จนพบความถนัดของตนเอง ส่วนการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่ง คือ ด้านประสบการณ์เรื่องเทคโนโลยี ซึ่งทำให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ และสนใจใฝ่รู้มากขึ้น

              อธิการบดี มศว  ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้การใช้แท็บเล็ตนั้น เหมาะสมกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มากกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เนื่องจากการเรียนการสอนของชั้นป. 4 มีการจัดการสร้างสรรค์ ประเมินผล และบูรณาการมากกว่า โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ในห้องเรียน นักเรียนชั้นป.4 จะเรียนรู้ได้รวดเร็ว มีความสุข และกระตือรือร้น สนใจการเรียนมากขึ้น อีกทั้งยังมีโอกาสพัฒนาทักษะ และวินัยเกี่ยวกับการดูแลรับผิดชอบอุปกรณ์อีกด้วย

              ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของด้านสุขภาพตา พบว่า หลังจากที่นักเรียนลองใช้แท็บเล็ตแล้ว มีบางรายที่เกิดอาการแสบตา เคืองตา และน้ำตาไหล แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ว่า กลุ่มตัวอย่างที่ให้ลองใช้มีปัญหาทางสุขภาพตาหรือไม่ ส่วนทางด้านสุขภาพและพัฒนาการพบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บป่วย การทำกิจกรรมยามว่าง การบริโภคอาหารขยะ สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านสมาธิ ไม่พบผลกระทบในเชิงลบ

              ทั้งนี้ ผศ.นพ.เฉลิมชัย  ยังได้กล่าวถึงผลการใช้แท็บเล็ตที่มีต่อครูว่า ในด้านพฤติกรรมการสอน ครูต้องพึ่งความช่วยเหลือจากผู้ช่วยด้านเทคนิคในระหว่างการสอน แต่ครูมีความกระตือรือร้นมากขึ้น และสามารถใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม และการสอนโดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางนั้น พบว่าใช้สื่อการสอนเพื่อการคิด การแก้ปัญหาและการค้นพบไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนพฤติกรรมการสอนที่เปลี่ยนแปลงของครู นั่นก็คือ การจัดสิ่งแวดล้อมที่จูงใจ และเสริมแรงให้เกิดการเรียนรู้

              สำหรับการเปลี่ยนแปลงในด้านทัศนคติของครูนั้น ผศ.นพ.เฉลิมชัย  กล่าวว่า แท็บเล็ตไม่ได้เป็นตัวแทนครู แต่เป็นสื่อทันสมัย ที่ช่วยเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กว้างขึ้น มีการเรียนรู้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู และนักเรียน ผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้นักเรียนเรียนรู้แบบ  Learning by Doing อย่างแท้จริง

              นอกจากนี้ อธิการบดี มศว ยังกล่าวต่อว่า จากการสอบถามมุมมองความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า การใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอน ไม่สามารถสอนเพิ่มได้ในเรื่องจริยธรรม และจะเกิดปัญหาขึ้นบนสื่อออนไลน์ ซึ่งจะมาควบคู่กับการแจกแท็บเล็ตอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ควรพัฒนาครูให้รู้เท่านั้นเทคโนโลยี

              พร้อมกันนี้ อธิการบดี มศว ระบุถึงข้อเสนอแนะของผู้บริหารและครูว่า ผู้ช่วยด้านเทคนิคมีความสำคัญและจำเป็นมาก ทั้งในขั้นตอนการเตรียมการสอน และขณะสอน จึงควรมีการจัดอบรมครูอย่างต่อเนื่อง ส่วนทางด้านผู้ปกครองมีความเห็นว่า ควรมีการอบรมผู้ปกครองเพื่อดูแลบุตรหลาน และไม่ควรให้แท็บเล็ตเด็กกลับบ้านเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังระบุว่า อยากให้หน่วยงานมาเตรียมความพร้อมในด้านเทคนิคให้กับครูผู้สอน และเตรียมความพร้อมเรื่องเครือข่าย WiFi ในระดับชุมชน
                  
              อย่างไรก็ตาม อธิการบดี มศว ได้กล่าวสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเชิงนโยบาย โดยแบ่งเป็นข้อ ๆ ดังนี้
             
              1. ควรมีการจัดทำแผนแม่บทในการแจกแท็บแล็ต และต้องมีการจัดทำเบื้องต้นอย่างละเอียดที่จะชี้ชัดว่า แผนแม่บทดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้บริหาร คุณครูประจำชั้น ครูประจำกลุ่มสาระรายวิชา มีผลต่อนักเรียนว่าเรียนวันละกี่ชั่วโมง มีผลต่อผู้ปกครอง พ่อแม่ เพราะการแจกแท็บแล็ตอาจไม่คุ้มค่า ถ้าหากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่รู้เรื่อง

              2 .ต้องมีการพัฒนาเนื้อหาให้ครบถ้วนในทุกประเด็นเนื้อหาสาระ ต้องมีคุณภาพที่ดี คือ สนุกและเข้าใจง่ายให้เกิดการเรียนรู้มากกว่าในหนังสือ

              3. ผู้ที่รับผิดชอบต้องจัดหางบประมาณและวางแผน จัดการหาบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยทางเทคนิค เพื่อช่วยครูในทุกโรงเรียน เช่น โรงเรียนขนาดเล็กต้องมีช่างเทคนิคอย่างน้อย 1 คน โรงเรียนขนาดใหญ่ต้องมีมากกว่า 1 คน เป็นต้น
    
              4. ถ้างบประมาณมีจำนวนจำกัดและจำเป็น ต้องเลือกแจกนักเรียนในบางชั้น ผลการศึกษา 2 ชั้น คือ ชั้น ป.1 และ ป.4 ชี้ชัดว่า ควรแจกให้กับนักเรียนชั้นป.4 และควรนำงบประมาณที่เหลือไว้จ้างบุคลากรที่จะมาเป็นช่วงเทคนิคประจำโรงเรียน และไม่จำเป็นต้องแจกทุกคน แต่อาจจะจัดการเรียนแบบหมุนเวียน เปิดเป็นห้องเรียนแท็บแล็ต จัดตารางเรียนให้ทุกคนได้มีโอกาสมาใช้แบบหมุนเวียน

              ท้ายนี้ อธิการบดี มศว  กล่าวว่า จากผลการศึกษาดังกล่าว ยังไม่มีผลกระทบในเชิงลบอย่างชัดเจน ทั้งในชั้น ป.1 และ ป.4  เนื่องจากระยะเวลาในการใช้แท็บแล็ตยังไม่นานพอ เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นระยะที่ 1 เท่านั้น แต่ทั้งนี้ ผลการศึกษาชี้ชัดว่าแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้นป.4 คุ้มกว่า ป.1 แต่หากรัฐบาลจะแจกชั้นป.1 จะต้องตอบสังคมว่าเพราะอะไร



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
   


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มศว ชี้ แจกแท็บเล็ต ป.4 คุ้มค่า-ได้ประโยชน์กว่า ป.1 อัปเดตล่าสุด 12 พฤษภาคม 2555 เวลา 16:56:05
TOP