x close

ทีเด็ดครูเมืองน่าน พิชิตเด็กบกพร่องการเรียนรู้




ทีเด็ดครูเมืองน่าน พิชิตเด็กบกพร่องการเรียนรู้ (ไทยโพสต์)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอ่างทอง

          เคยสงสัยไหมครับ ว่าทำไมลูก ๆ หลาน ๆ แม้จะย่างเข้าสู่วัยประถมปลายแล้ว แต่เมื่อเทียบกับเด็ก ๆ คนอื่น กลับพบว่าลูกหลานตัวเองยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ บอกกล่าวอะไรก็ไม่ได้ เขียนหนังสือกลับจากหลังไปหน้า อ่านหนังสือข้ามบรรทัด หัวช้า เรียนตามเพื่อนไม่ทัน อารมณ์แปรปรวน จนนำไปสู่การมีผลการเรียนต่ำ สอบตก

          อาการของเด็กที่อยู่ในข่ายดังกล่าวจึงนับได้ว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning disabilities; LD) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเด็ก LD ที่จะมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในรูปแบบของปัญหาการอ่าน การเขียน สะกดคำ คำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ อันเป็นผลมาจากการทำงานผิดปกติของสมอง โดยเด็กในมีอยู่ถึงเกือบ 22% หรือ 3.3 ล้านคน ของสังคมไทย แต่ใครจะคิดบ้างว่าหากโรงเรียนซึ่งเป็นบ้านหลังที่สองของเด็กๆ ปล่อยปละละเลยให้เด็กเหล่านี้เรียนจบไปตามหลักสูตรชนิดที่ไม่มีการเรียนซ้ำชั้นเหมือนสมัยก่อน เด็ก ๆ ในกลุ่มนี้จะมีเป็นอนาคตอย่างไร

          ดังจุดหมายการเดินทางของเราในครั้งนี้ ที่ทางสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) อาสาพาเราไปดู 2 โรงเรียนในจังหวัดน่าน ที่ประสบผลสำเร็จเรื่องการพลิกแพลงการเรียนรู้มาเป็นส่วนช่วยในการเรียนการสอนเด็ก ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม LD ให้สามารถอ่านออก เขียนได้ คิดคำนวณได้ทัดเทียมกับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน      

          โรงเรียนบ้านร้อง อ.เวียงสา จ.น่าน เป็นสถานศึกษาอีกแห่งที่ประสบปัญหามีเด็กผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ จนนำไปสู่การงัดเอากลยุทธ์เสริมสร้างการเรียนรู้มากมายมาใช้ โดยเฉพาะการ "เล่นลิเก" ที่เปลี่ยนเด็กในกลุ่ม LD ให้อ่านออก เขียนได้เหมือนเด็กปกติ

          ดร.ไกรยส ภัทราวาส นักเศรษฐศาสตร์ด้านการศึกษา สสค. เผยว่า ในโลกเรามีประเทศบางกลุ่มที่มีเงินมากมาย แต่พวกเขากลับยังแก้ไขปัญหาเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ไม่ได้ เนื่องจากพวกเขามองในเรื่องของเงินเพียงอย่างเดียว แต่มองข้ามในระดับท้องถิ่น อย่างที่ รร.บ้านร้อง ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีแก้ปัญหาที่หลายประเทศทำไม่ได้ให้กลายเป็นเรื่องง่ายด้วยสิ่งที่พวกเขามีอยู่จนประสบความสำเร็จ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ชุมชนของเราต้องเข้มแข็งและกล้าที่จะเปิดรับ

          "ผมเชื่อว่าเราทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ สามารถที่จะพัฒนาให้เก่งขึ้นได้ แม้จะบกพร่องทางการเรียนรู้ เพื่อที่จะก้าวต่อไปและเป็นกำลังหลักของชาติในอนาคต"



"ลิเก" ยาแก้ปัญหาบกพร่องทางการเรียนรู้

          วิธีการอะไรบ้างที่ช่วยเด็ก LD ให้มีพัฒนาการดีขึ้น สมนึก ตาลตา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านร้อง เล่าว่า ปัญหาของโรงเรียนคือผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียน โดยเฉพาะผลการสอบ ONET ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งมาจากการมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โดยเมื่อมีการตรวจสอบแล้วก็พบว่ามีนักเรียนที่อยู่ในกลุ่ม LD มากมาย อย่างในปีนี้ก็มีถึง 40 คน จากนักเรียนทั้งหมด 216 คน ทำให้ต้องนำกลยุทธ์หลายอย่างมาใช้ โดยเฉพาะเรื่องของส่งเสริมการอ่าน แต่เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่กลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดกลับเป็นการ "เล่นลิเก"

          ด้าน สุวิทย์ สวนดอกไม้ หัวหน้ากลุ่มวิชาสาระภาษาไทย ครูผู้ใช้ลิเกมาเป็นสื่อในการฝึกสอน เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่าน-เขียนให้เด็ก ๆ ที่ รร.บ้านร้อง เล่าว่า การนำลิเกมาเป็นกิจกรรมพิเศษที่ช่วยสอนเด็ก ๆ ในด้านการเรียนรู้นั้น มีจุดเริ่มมาจากความต้องการที่จะอนุรักษ์ลิเกของเมืองน่านที่ปัจจุบันกำลังจะหายไป เมื่อปี 2549 จึงได้นำเงินทุนตั้งต้นจำนวนหนึ่งที่ได้จากผู้อำนวยการไปซื้อชุดลิเกเด็ก จัดตั้งเป็นคณะลิเกของ รร.บ้านร้อง พร้อมเปิดรับสมัครเด็กในระดับชั้น ป.4-5 ไม่เกี่ยงว่าเป็นเด็ก LD หรือไม่

          "ผมอาศัยประสบการณ์แสดงลิเกของตัวเองกว่า 1 ปีมาเป็นต้นแบบในการสอนเด็กๆ หลังเลิกเรียน และในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเริ่มจากดัดมือ การสื่อภาษากายพื้นฐาน ท่าทางเวลาจะมา เวลาไป ท่าดีใจ เสียใจ แล้วจึงค่อยเป็นการใส่เสียงร้องลงไปประกอบท่าทาง" ครูสุวิทย์เล่า

          ผลจากการเปิดกว้าง ไม่จำกัดคนเข้ามาเล่นในคณะลิเก ทำให้ตอนนี้ในคณะมีสมาชิกที่เป็น LD อยู่ถึง 5 จาก 12 คน แต่เด็กเหล่านี้กลับเป็นกำลังสำคัญของคณะ หลังจากเล่นไป ตัวเด็ก ๆ ก็มีพัฒนาการทางการเรียนรู้ได้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งแม้จะยังไม่ได้ออกแสดงที่ไหนจริงจัง และเล่นแค่ในโรงเรียนเอง แต่เด็ก ๆ ก็มีพัฒนาการดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้ปรับการแสดงของเด็ก ๆ จากลิเกเป็นการแสดงละครคุณธรรม จนสามารถคว้ารางวัลรองอันดับ 1 ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติได้สำเร็จ

          "การสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้กับสอนเด็กปกติ ผมจะสอนเขาให้เหมือนกัน ไม่อยากแบ่งแยก เพราะจะทำให้เขามีปมด้อย แต่เราต้องมีความอดทน เพราะเราต้องร้องเป็นตัวอย่างให้เขาฟังทุกคน ตามบทบาทการแสดงที่ต่างกันไป 10 คน ก็ 10 บท บางคนก็อาจต้องร้องให้ฟังมากกว่า 1 รอบ ร้องจนเสียงแหบเสียงแห้งไปเลยก็มี แต่ผมอยากชื่นชมว่าคนที่เก่งกว่าผมก็คือเด็ก ๆ ที่สามารถเรียนลิเก จากคนที่อ่านไม่ออกจนสามารถออกมาแสดงให้คนดูได้ เพราะการที่จะทำเช่นนี้ได้ เขาคนนั้นต้องเป็นคนที่มีความอดทนสูงมาก"

          ครูสุวิทย์ยังบอกว่า จากการสังเกตพบว่าเด็กที่เป็น LD ในคณะมีสมาธิมากขึ้น อ่านเขียนได้ดีขึ้น ไปจนถึงมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ซึ่งแม้ในตอนแรกไม่คาดคิดว่าเด็ก LD จะสามารถพัฒนาได้ด้วยลิเก

          โดยยกเรื่องเด็ก LD คนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ได้มีเด็กคนหนึ่งที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาสนใจเข้ามาร่วมในคณะ ซึ่งก่อนเข้ามา เด็กคนนั้นอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เลย แต่ปรากฏว่าหลังจากที่ได้เข้ามาเล่นลิเก เพื่อที่จะแสดงให้ได้ จึงจำเป็นต้องนั่งท่องบทละคร โดยครูสุวิทย์เองเป็นคนอ่านบทให้ฟังทีละคำๆ ซ้ำๆ รวมถึงใช้เทคนิคแบ่งการจำเป็นวรรค ๆ ในที่สุดเด็กคนนี้เริ่มจำได้จนสามารถอ่านบทละครได้ด้วยตัวเอง และสามารถแสดงบทนำที่เป็นบทยาว ๆ อย่างต่อเนื่องได้ถึง 3 เรื่อง นำไปสู่การอ่านเขียนภาษาไทยได้อย่างดีในการเรียนหนังสือ ทำให้เมื่อเรียนจบไปเด็กคนนี้สามารถสอบเข้าโรงเรียนระดับมัธยมเข้าไปอยู่ห้องควีน ห้องเรียนที่คัดเด็กเรียนดีรองจากห้องคิง

          "จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมมาคิดว่าเด็ก LD คนหนึ่งสามารถเปลี่ยนไปได้อย่างไร จนได้มารู้ว่าเป็นเพราะลิเกที่เราได้สอนเขา จากการที่เขาได้อ่านบทซ้ำ ๆ อยู่ในหัวจนจำได้ ผมเลยได้เปลี่ยนจากลิเกเพื่อการอนุรักษ์ มาเป็นลิเกเพื่อการเรียนรู้"

          ทีนี้มาถึงช่วงโชว์ของเด็กๆ คณะลิเก รร.บ้านร้อง แสดงเรื่อง "ไกรทอง" ให้พวกเราชม วีรภัทร ศรีวงษ์จันทร์ หรือ ดรีม นักเรียนชั้น ป.5 เจ้าของบทบาท "ชาละวัน" เด็ก LD ที่ในวันนี้สามารถอ่านออก เขียนได้แล้ว เล่าว่า ได้เข้ามาเล่นลิเกในคณะลิเกของโรงเรียน เพราะคำชวนของเพื่อน ๆ ทั้งที่ไม่รู้มาก่อนเลยว่าลิเกคืออะไร อีกทั้งตัวเขาเองในขณะนั้นก็อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ จึงไม่รู้เลยว่าจะสามารถแสดงลิเกออกมาได้อย่างไร แต่พอได้เข้ามาได้เล่นจริง ครูก็ได้สอนหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องบท ที่ได้ครูสุวิทย์เป็นคนอ่านให้ฟังหลายครั้ง ๆ จนสามารถที่จะเริ่มอ่านเอง นำกลับไปซ้อมอ่านซ้ำไปซ้ำมาที่บ้าน และสามารถขึ้นแสดงหน้าเวทีที่มีคนมาดูมากมายได้แล้ว

          "ลิเกทำให้ผมเป็นคนที่จดจำอะไรได้ดีขึ้น อ่านหนังสือเป็น ผลการเรียนก็ดีขึ้นด้วย กลับบ้านไปคุณแม่ก็ชม ทำให้ตอนนี้ผมมีความฝันว่าอยากไปเรียนต่อในเรื่องของศิลปะฟ้อนรำอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลยครับ"



สารพัดกลยุทธ์สยบปัญหา LD ที่ รร.บ้านน้ำมวบ

          โรงเรียนแห่งที่ 2 ที่ไปเยี่ยมเยือนก็คือ รร.บ้านน้ำมวบ อ.เวียงสา จ.น่าน โรงเรียนประถมขนาดเล็กซึ่งนับว่ามีความโดดเด่นไม่แพ้กันในเรื่องของการบ่มเพาะการเรียนรู้ของเด็ก LD โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเทคนิคการสอนและการปรับในนวัตกรรมต่าง ๆ คนิท แจ่มเที่ยงตรง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำมวบ เผยว่า ก่อนหน้านี้ปัญหาใหญ่ของแทบทุกโรงเรียนเลยคือ มีเด็กกลุ่มที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เลย นำไปสู่การทำให้โรงเรียนมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ ทาง รร.บ้านน้ำมวบจึงได้จัดทำกระบวนการเรียนการสอนเพื่อเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ขึ้นหลายกิจกรรม ประกอบด้วย เพื่อนช่วยเพื่อน ให้นักเรียนที่เรียนดีช่วยเหลือเพื่อนที่เรียนช้า จัดตารางเรียนพิเศษให้แก่เด็กที่เรียนช้าหลังเลิกเรียนทุกวัน   

          ในแง่ปฏิบัติ เพ็ญ พิมสาร ดีกรีว่าที่รางวัลครูสอนดีของ สสค. ครูผู้ที่งัดเอานำนวัตกรรมพิเศษมาสอนเด็ก LD เพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและทักษะการเรียนรู้จนสัมฤทธิผล เล่าว่า การสอนเด็กที่เป็น LD จะเริ่มจากการตรวจสอบว่าเด็กคนนั้นเป็น LD จริงหรือไม่ ส่วนตัวแล้วจะเริ่มจากการสังเกตนักเรียนด้วยการดูจากจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การสอน การตอบคำถาม ทำแบบฝึกหัดในชั้นเรียน หากมีนักเรียนยังทำไม่ได้ก็จะสอนซ้ำพิเศษเป็นรายบุคคล ซึ่งถ้ายังไม่ได้อีกแสดงว่ามีแนวโน้มที่จะเป็น LD

          ต่อมาจึงเป็นการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมต่อว่าเด็กคนดังกล่าวมีพฤติกรรมบกพร่องทางสติปัญญาหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมขี้ลืม สอนวันนี้จำได้ พรุ่งนี้ลืม อ่านหนังสือจากหลังไปหน้า อ่านหนังสือสลับบรรทัด เขียนตัวหนังสือสลับกัน เช่น ตัว "น" เป็นตัว "ม" หรือ "ถ" เป็น "ภ" ซึ่งก็พบว่าที่ รร.บ้านน้ำมวบมีเด็กนักเรียนที่เป็น LD จำนวนไม่น้อย อย่างในปีนี้มีมากถึงจาก 46 คน จากนักเรียนทั้งหมด 209 คน

          ไม่นานนัก ครูเพ็ญก็พาเราไปร่วมชมสาธิตการเรียนการสอนน้อง ๆ ในห้องเรียนพิเศษของเด็กที่เป็น LD ไปพร้อม ๆ กับการอธิบายรายละเอียดด้วยว่า การสอนโดยมุ่งความสำคัญกับเด็ก LD ได้เริ่มลองผิดลองถูกทำมาตั้งแต่ปี 2542 กว่าจะมาเข้ารูปเข้ารอยในปี 2548 ซึ่งเคล็ดลับสำคัญที่สุดในการสอนเด็ก LD คือเราต้องเป็นคนที่อารมณ์ดีอยู่เสมอ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเครียดเวลาเรียนกับเรา เวลาพูดก็ต้องสื่อสารไปในเชิงบวกเชิงให้กำลังใจ "หากเขาทำไม่ได้จะไม่ด่าว่าเขาโง่เด็ดขาด แต่จะบอกหนูทำดีแล้วนะ ถ้าแก้ไขเพิ่มเติมตรงนี้หนูจะเก่งกว่านี้อีก

          นอกจากนี้ยังได้มีการจัดชั่วโมงเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนให้กับเด็ก LD ด้วย โดยภายในห้องเรียนพิเศษนี้จะเต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่วยสร้างการเรียนรู้อย่างในวิชาภาษาไทย จะมีกระจกให้เสียงปากของครูและปากของตัวเองในการพูดออกเสียงคำที่ควบกล้ำชัดเจน เช่น "ขวาง" หรือ "กว้าง" อุปกรณ์รูเล็ตจำภาษาช่วยในการจดจำตัวอักษรภาษาไทย 

          ส่วนในวิชาคณิตศาสตร์ที่เด็ก LD มักมีปัญหาการคูณและการทดเลข ก็จะมีการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าแท่งเนเปียร์ อุปกรณ์ช่วยคำนวณจากแนวคิดของนักคณิตศาสตร์ John Napier โดยจะมีลักษณะเป็นตารางช่องสามเหลี่ยม สีสันสวยงาม ถ้าต้องการคูณเลขใดก็นำแท่งเนเปียร์ตัวเลขนั้นมาวางเทียบกับแถวของอีกตัวเลขที่ต้องการคูณ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะตรงกับในตารางสามเหลี่ยมนั้น พร้อมกับการฝึกทำโจทย์ที่มีการแบ่งการคูณเป็นช่องหลักต่าง ๆ ชัดเจน ซึ่งวิธีเรียนเสริมเช่นนี้จะช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับการเรียนการสอนแบบปกติในห้องเรียนก็จะให้เรียนเป็นแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ให้นักเรียนปกตินั่งเรียนคู่กับคนที่เป็น LD เพื่อให้เขาสามารถเรียนรู้พฤติกรรมการเรียนรู้ตามเด็กปกติ และให้เด็กปกติช่วยเสริมในสิ่งที่ไม่เข้าใจ

          ครูเพ็ญยังได้ปิดท้ายว่า แรงบันดาลใจในการทำทุกสิ่งทุกอย่างนี้มาจากการที่ตนเองมีใจรักเด็ก ๆ ทุกคน อยากให้เด็กๆ ทุกคนที่มาเรียนได้มีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกัน ต้องให้เขาสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมได้ไม่แพ้คนอื่น ๆ

          "อย่างไรก็ตาม อีกผู้หนึ่งที่จะช่วยเด็กเหล่านี้ได้ไม่ใช่ครู แต่เป็นผู้ปกครอง เพราะสังคมไทยเราอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจ ยอมรับในสิ่งที่เด็กเหล่านี้เป็น เด็กที่เป็น LD จะพัฒนาต่อไปไม่ได้เลยถ้าผู้ปกครองไม่เปิดใจหรืออายในสิ่งที่เด็กเป็น แต่ถ้ายอมรับได้ ใครจะรู้บางทีเขาอาจจะไปโลดเลยก็ได้"



จากเด็ก LD สู่นักเรียนเหรียญทองคณิตศาสตร์

          จิรศักดิ์ สีทิพย์ หรือ แค็ป นักเรียนชั้น ป.6 ของ รร.บ้านน้ำมวบ หนูน้อยผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ แต่กลับมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้อย่างน่าทึ่ง ดีกรีเหรียญทองการแข่งขันคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันระดับภาค บอกว่า ก่อนนี้ตัวเขาเองไม่สามารถจำบทเรียนได้เลย เรียนอะไรไปรู้เรื่อง แต่พอเรียนเสร็จก็ลืม จำอะไรไม่ได้เลย พยายามนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก พอมีแบบฝึกหัดหรือการบ้านมาก็ทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ก็เลยไม่ทำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาคณิตศาสตร์ จากนั้นครูเพ็ญจึงเรียกให้ไปเรียนเสริมและค่อยๆ สอนทีละขั้น จากโจทย์ง่าย ๆ ไปโจทย์ยาก ๆ หากคูณเลขไม่ได้ก็จะมีบัตรที่เป็นตารางมาช่วยดูเทียบ หรือไม่บางครั้งก็จะมีเพื่อนมาช่วยอธิบาย ซึ่งเมื่อทำได้แล้วก็รู้สึกภูมิใจ และพร้อมที่จะลองแก้ในโจทย์ต่อ ๆ ไป จนได้มีโอกาสทดสอบตัวเองในการเข้าแข่งขันในโครงการแข่งขันคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน

          ด้าน กิมเฮือง สีทิพย์ คุณแม่ของน้องแค็ป เสริมว่า ตอนแรกไม่รู้เลยว่าน้องแค็ปเป็น LD แต่เริ่มสงสัยตอนที่ ป.1 ที่สอนการบ้านน้องแค็ปแล้วทำเท่าไหร่ก็ทำไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง พอเคี่ยวเข็ญมากเข้าลูกก็ร้องไห้ ก่อนจะนำลูกไปตรวจ IQ ที่โรงพยาบาล และได้รับคำตอบว่าน้องแค็ปเป็น LD จริง จากนั้นจึงได้ไปปรึกษาครูเพ็ญให้ช่วยดูแล และขอคำแนะนำในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่บ้าน ซึ่งครูเพ็ญก็แนะนำให้ค่อย ๆ พูดกับลูก ไม่บังคับ โดยได้ทำตามคำแนะนำของครูเพ็ญมาโดยตลอด พร้อมหมั่นไปพูดคุยปรึกษาในด้านการเรียนรู้ของลูกที่โรงเรียนเป็นประจำแทบทุกอาทิตย์ 

          "จนมาในวันนี้จากเด็กที่เงียบ ๆ ไม่ค่อยพูด ซึมเศร้า สอนอะไรก็ร้องไห้ ก็ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ การบ้านก็สามารถทำได้เอง ส่วนสิ่งอื่น ๆ เขาก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว"

          การที่ทั้ง 2 โรงเรียนแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการบ่มเพาะเด็กๆ ของตัวเองให้สามารถก้าวข้ามความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ชนิดที่ไม่อาศัยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล แต่อาศัยเพียงความอดทน พยายาม และความรักที่มีต่อลูกศิษย์ล้วน ๆ ซึ่งเด็ก ๆ ก็แสดงให้เห็นแล้วถึงสามารถ ที่เก่งและก้าวไปได้ไกลกว่าคนปกติด้วยซ้ำ ดั่งคำที่บอกว่า อัจฉริยะกับปัญญาอ่อนห่างกันแค่เส้นบาง ๆ ขั้นอยู่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทีเด็ดครูเมืองน่าน พิชิตเด็กบกพร่องการเรียนรู้ อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2555 เวลา 10:48:14 13,302 อ่าน
TOP