x close

ผอ.โรงเรียน ไม่เห็นด้วย กพฐ.สั่งเพิ่มชั่วโมงเรียน


ผอ.โรงเรียน ไม่เห็นด้วย กพฐ.สั่งเพิ่มชั่วโมงเรียน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

           ผอ.โรงเรียนราชวินิต มัธยม ค้าน กพฐ.เพิ่มชั่วโมงเรียน โอดเด็กเรียนเยอะแล้ว ด้านเจ้ากระทรวง แจงประเด็นร้อนเปิดรับบริจาคเงินให้นักเรียนเข้าเรียน ชี้เป็นการสร้างความเป็นธรรม  

           หลังจากที่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติสั่งเพิ่มชั่วโมงเรียน ประถม-มัธยม โดยมีผลทันทีนั้น ล่าสุดวันนี้ (15 กุมภาพันธ์) นายบุญธรรม พิมพ์ภาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิต มัธยม  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะหลักสูตรแกนกลางก็กำหนดมาอยู่แล้วว่าให้นักเรียน ม.ต้น เรียนไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี และนักเรียน ม.ปลาย เรียนไม่ต่ำกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี แต่ระยะหลัง เริ่มมีนโยบายที่จับต้องไม่ได้ เช่น ให้นักเรียนเรียนภาษจีนเพิ่มเติม โรงเรียนก็ต้องปฏิบัติตาม  จนทุกวันนี้นักเรียนเรียนเยอะมาก เด็กหัวโตมากไม่เป็นเด็กแล้ว และการเเข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้ครูต้องเเบ่งเวลาสอนครึ่งหนึ่ง ติวครึ่งหนึ่ง

           ส่วนกรณีที่ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อนุญาตให้โรงเรียนสามารถรับเงินบริจาคได้นั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิต มัธยม  กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยอีกเช่นกัน เพราะการให้นักเรียนบริจาคสามารถมีสิทธิเข้าเรียนนั้น จะเป็นการสร้างความแตกต่างและเหลื่อมล้ำในสังคม  ทำให้คุณธรรมของชาติ ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนั้น ภายในสัปดาห์หน้า ตนจะยื่นห้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ยกเลิกการรับบริจาคเงินเพื่อเข้าเรียน แต่หากศาลปกครองพิจารณาไม่ทัน ตนก็จะยื่นฟ้องโรงเรียนเป็นราย ๆ ไป และตอนนี้ ตนได้ทำหนังสือถึงนายสุชาติ เพื่อให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าวแล้ว หากไม่ได้คำตอบ

           ด้าน นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชี้แจงว่า กรณีที่มอบหมายให้โรงเรียนสามารถเปิดห้องเรียนเพิ่มเติม เพื่อรองรับนักเรียนที่บริจาคเงินให้โรงเรียนนั้น ตนเห็นว่า นโยบายนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่มีมานานมากแล้ว ซึ่งเรียกเงินบริจาคเหล่านี้ว่า แป๊ะเจี๊ยะ ก็ต้องยอมรับว่า งบประมาณที่รัฐจัดสรรไปให้นั้น ไม่เพียงพอสำหรับโรงเรียน ดังนั้น ต้องเปิดโอกาสให้มีเงินบริจาคเข้ามา แต่ต้องเปิดรับอย่างโปร่งใส ซึ่งคงไม่มีใครที่บริจาคโดยไม่หวังอะไร เจตนาของตนก็เพื่อที่จะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นให้เป็นธรรมมากขึ้น จึงให้โรงเรียนเปิดโควตาเพิ่ม เพื่อรับนักเรียนบริจาคโดยเฉพาะ ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้จะไม่ไปแย่งโควตานักเรียนปกติ และจะไม่แยกไปนั่งอีกห้องเรียนหนึ่ง แต่จะเรียนร่วมกันกับนักเรียนปกติ เพียงแค่เพิ่มโควตานักเรียนบริจาคเข้ามาเท่านั้น

           ส่วนที่กลัวว่าเงินบริจาคจะเข้ากระเป๋าผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น ตนเห็นว่า ไม่ควรไปมองที่จุดนั้น หากผู้อำนวยการต้องการรับเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ก็สามารถทำได้ แต่การทำแบบนั้นถือเป็นการรับสินบน

           เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า เรื่องนี้จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนหรือไม่ นายสุชาติตอบว่า ทุกวันนี้คนที่มีเงินสามารถส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนอินเตอร์ได้ ส่วนคนจนทำไม่ได้ แต่ ศธ.ยังยืนยันให้นักเรียนทุกคนได้เรียนในโรงเรียน และเลือกเรียนโรงเรียนใกล้บ้านได้  แต่การที่ไม่ยอมรับให้มีรับเงินบริจาคนั้น จะทำให้ไม่เป็นธรรมต่อทั้งนักเรียนและโรงเรียน  คนที่ออกมาวิจารณ์เรื่องนี้เป็นพวกไม่ยอมรับความจริง

           ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า แนวทางการเปิดรับบริจาคของโรงเรียนนั้น ได้มีการนำมาปรับใช้ไปบ้างแล้ว โดยการเปิดห้องเรียนพิเศษขึ้น เพื่อเป็นการลดอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพของการศึกษา และข้อจำกัดเรื่องความต้องการของผู้เรียน  โดยห้องเรียนพิเศษ สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้สูงกว่าห้องเรียนปกติ แต่ช่วงที่ผ่านมา ห้องเรียนพิเศษมีได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของห้องเรียนปกติ และการรับนักเรียนก็มีระเบียบอยู่แล้วเช่นกัน โดยจะมีการสอบคัดเลือก และใช้วิชาเป็นตัวนำ ไม่ใช่มีเงินแล้วเข้าได้เลย นอกจากนี้ การรับบริจาคก่อนเข้าเรียน มักจะทำในรูปแบบห้องเรียนพิเศษ และหากหมดช่วงรับนักเรียนแล้ว โรงเรียนยังสามารถเปิดรับบริจาคได้อีก แต่เพื่อเป็นการระดมทุนมาเพื่อการพัฒนาโรงเรียน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



[14 กุมภาพันธ์] กพฐ. สั่งเพิ่มชั่วโมงเรียน ประถม-มัธยม มีผลทันที


กพฐ.สั่งเพิ่มชั่วโมงเรียน ประถม-มัธยม มีผลทันที

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          กพฐ. มีคำสั่งเพิ่มชั่วโมงเรียน ชั้นประถมมากกว่า 1,000 ชั่วโมง - ม.ต้น 1,200 ชั่วโมงต่อปี แจงไม่ได้เรียนเพิ่ม แต่เน้นเพิ่มกิจกรรม

          เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ลงนามให้แก้ไขโครงสร้างเวลาเรียน ดังนี้

          1.ให้กำหนดเวลาเรียนในรายวิชา/กิจกรรมที่สถานศึกษาจัดเพิ่มเติมตามความพร้อม และจุดเน้นระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อปี และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมงต่อปี

          2. กำหนดให้เวลาเรียนในระดับประถมศึกษาไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี จากเดิมไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี จากเดิมไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี

          นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขเกณฑ์การจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยผู้เรียนต้องเรียนรายวิชาพื้นฐาน 66 หน่วยกิต และเรียนรายวิชาเพิ่มเติมตามที่สถานศึกษากำหนด  ส่วนในระดับประถมศึกษา ผู้เรียนต้องเรียนรายวิชาพื้นฐาน 41 หน่วย และรายวิชาเพิ่มเติมตามที่สถานศึกษากำหนด มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนการที่มีการแก้ไขโครงสร้างเวลาเรียนนั้น เนื่องจากผลวิจัยระบุว่า การใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ไม่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน และความต้องการของผู้เรียนเอง

          ส่วนเรื่องการแก้ไขโครงสร้างเวลาเรียนนั้น ผู้เรียนไม่ได้เรียนเพิ่มขึ้น เพราะไม่ได้เพิ่มชั่วโมงเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ปกติ แต่เป็นการสร้างความยืดหยุ่นในส่วนของสาระเพิ่มเติม ที่แต่ก่อนไม่สามารถเพิ่มชั่วโมงกิจกรรมได้ และเเม้ว่าจะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่คาดว่าคงไม่กระทบกับการจัดการศึกษาของสถานศึกษา เพราะแต่ละที่จะมีการจัดการเรียนการสอนตามชั่วโมงขั้นต่ำที่กำหนดในโครงสร้างใหม่อยู่แล้ว

          ด้านนายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า คุณภาพของการศึกษานั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชั่วโมงเรียน แต่ขึ้นอยู่กับว่า ครูจะมีวิธีการจัดการและบริหารเวลาเรียนอย่างไร การเรียนการสอนในปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างมากที่จะทำให้เด็กเรียนเก่ง ทั้งการใช้สื่อต่าง ๆ รอบตัว ดังนั้น ศธ. ควรเพิ่มประสิทธิภาพครูให้เข้าใจถึงการปรับตัวเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผอ.โรงเรียน ไม่เห็นด้วย กพฐ.สั่งเพิ่มชั่วโมงเรียน อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 12:16:28
TOP