x close

มศว ระบุเด็กไทยเรียนอังกฤษเพื่อสอบ พูดอ่อนแอมาก




งานวิจัย มศว ระบุเด็กไทยเรียนอังกฤษเพื่อสอบ พูดอ่อนแอมาก  
  
          แนะศธ.- สทศ.เปลี่ยนข้อสอบภาษาอังกฤษ จะทำให้เด็ก – ครู –โรงเรียนเปลี่ยน ระบุครูเรียนปรับวุฒิ ไม่ได้มุ่งพัฒนาเด็ก อยากเห็นรัฐบาลฟื้นโครงการทุนครู 5 ปี เน้นเด็กดี –เก่งเรียนครู

          ดร.อรพรรณ วีระวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า จากงานวิจัยที่ได้ศึกษาเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในเมืองไทยเพราะเหตุใดไม่ได้ผลนั้น และเด็กไทยก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แม้ว่าจะเรียนในหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดให้ได้เรียนกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้น – ประถมศึกษาตอนปลาย (ป.1 – ป.6 ) และมัธยมศึกษาตอนตั้ง- มัธยมศึกษาตอนปลาย ( ม.1-ม.6) รวมเวลาที่เรียนภาษาอังกฤษทั้งสิ้น 12 ปีเต็มๆ แต่เด็กไทยก็ยังใช้ภาษาอังกฤษในการพูดไม่ได้ อย่าว่าแต่เด็กเลยอาจารย์ในมหาวิทยาลัยระดับด๊อกเตอร์บางคนก็ยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษสนทนาในชีวิตประจำวันได้ 

         เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะมาจาก Socio Linguistics ภาษาศาสตร์ทางด้านสังคมไทย มีปัจจัยที่ทำให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แม้จะเรียนมาเป็นเวลาถึงสิบกว่าปีก็ตาม สืบเนื่องจากการที่เด็กต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เด็กละเลยที่จะเรียนพูด ครูไม่เน้นไม่ให้ความสำคัญเพราะในข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่มีการสอบพูด ครูไทยเน้นการสอบไวยาการณ์ (grammar) และการการเนื้อเรื่อง (Reading) เพื่อให้เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ แรงขับดันจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่ลูกต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเพื่อพ่อแม่จะได้ภูมิใจ โรงเรียนเองก็ต้องการสถิติจำนวนเด็กที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ในจำนวนที่มากและแต่ละปีก็ต้องเพิ่มขึ้นๆ 

          "การเรียนภาษาอังกฤษเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะแตกต่างจากการเรียนเพื่อนำมาใช้พูดในชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะการเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นการเรียนแบบท่องจำ ท่องศัพท์ เก็งข้อสอบ เพื่อจะได้ทำข้อสอบให้ได้มากที่สุด เด็กไทยเป็นจำนวนมากที่ทำข้อสอบภาษาอังกฤษได้ดีแต่เมื่อเจอชาวต่างชาติพูดไม่ได้ หากเด็กไทยไม่ต้องมุ่งทำข้อสอบภาษาอังกฤษเพื่อการสอบ แต่เรียนเพื่อการพูดและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น อยากพูดอะไรให้พูด ครูต้องเน้นการสอนพูดมากกว่าไวยากรณ์และคำศัพท์ ตลอดถึงแนวข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใส่ใจเรื่องนี้ให้มาก สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ก็ต้องสอบวิธีการฟังเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของข้อสอบไวยากรณ์หรือคำศัพท์ เปิดเทปให้เด็กฟัง เด็กและทางโรงเรียนตลอดถึงครูจะสนใจการสอนที่เน้นการพูดมากขึ้น

          เมื่อแนวการออกข้อสอบภาษาอังกฤษเปลี่ยนไป กระบวนการเรียนรู้ทางภาษานั่นคือ ฟัง พูด อ่านและเขียนจะเกิดขึ้นทั้งกระบวนการ แต่กระบวนทัศน์การออกข้อสอบภาษาอังกฤษเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน เด็กจะสนใจกระตือรือร้น มีการพัฒนาทางการใช้ภาษามากขึ้น ครูและทางโรงเรียนก็จะเปลี่ยนวิธีการสอน อย่าลืมว่าการใช้ภาษาอังกฤษต้องใช้ให้เกิดความคุ้นชิน ใช้บ่อย ๆ จึงจะเกิดการพัฒนาเพราะภาษาคือการเลียนแบบเพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญ"

          ดร.อรพรรณ กล่าวอีกว่า งานวิจัยที่ศึกษานั้น ให้ความสนใจเกี่ยวกับครูไทยที่มาเรียนภาษาอังกฤษในระดับปริญญาโทที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เพื่อเน้นให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนพูดภาษาอังกฤษได้ แต่เมื่อกลับไปที่โรงเรียนก็สอนแบบเดิมเพราะปัจจัยทางสังคม การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ค่านิยมมันยังไม่เปลี่ยน ครูไทยก็เลยต้องเน้นการสอนแบบเดิม แต่ในงานวิจัยพบว่าก็มีครูจำนวนน้อยมากที่เปลี่ยนได้ ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งคนที่เปลี่ยนได้เขาจะมาด้วยแนวคิดที่ว่า ทำไมการสอนภาษาอังกฤษของตัวเองจึงสอนไม่ดี เพราะเด็กยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เมื่อเขามีแนวคิดเช่นนั้นทำให้เกิดแรงขับและรับทุกอย่างที่ได้เรียนไปจากมศว ทำให้เขากลับไปใช้กับนักเรียน เด็กพัฒนาในโรงเรียนพัฒนาขึ้นพูดภาษาอังกฤษได้ ส่วนครูไทยที่มาภาษาอังกฤษเพื่อกลับไปสอนร้อยละ 80 เรียนเพื่อการปรับวุฒิทางการศึกษา เพื่อให้คุณวุฒิสูงขึ้น เมื่อมีการปรับวุฒิแล้วก็จะย้ายไปโรงเรียนอื่น

          "การเรียนสอนพูดภาษาอังกฤษต้องจัดห้องเรียนไม่ให้ใหญ่มากนัก ห้องละไม่ควรเกิน 15 คน การสอนเพื่อให้เด็กพูดได้นั้นต้องเน้นที่การพูด ไม่ใช่การทำข้อสอบและควรจะเป็นครูที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี และควรจะจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ใช้ภาษา หรือการให้เด็กๆ มีโอกาสไปเรียนซัมเมอร์หรือเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศก็จะทำให้เด็กใช้ภาษาได้ดีขึ้น การเรียนภาษาเพื่อใช้ในการสนทนาไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง แต่ต้องเป็นคนที่กล้าที่จะพูด

          ภาษาเป็นเรื่องของการฝึกฝนใช้ความชำนาญใช้การฝึกฝน อาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษต้องไม่พูดภาษาไทย แต่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ แม้ในช่วงแรก ๆ เด็กจะไม่เข้าใจ รู้สึกอัดอัดก็ให้ทน ให้ฝืนอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ สักประมาณ 1 - 2 เดือนเด็กจะเริ่มเข้าใจ แต่ต้องพูดซ้ำ ให้ตัวอย่าง สาธิต ยกตัวอย่างให้มาก ถ้ายังไม่เข้าใจก็ให้ดูจากภาพ ผู้สอนภาษาอังกฤษเพื่อการพูดต้องมีตัวอย่างให้มากพอ ใช้คำศัพท์ให้ง่าย เด็กจะเริ่มเข้าใจ ธรรมชาติของเด็กไทยจะขาดความมั่นใจที่จะพูด ดังนั้นครูต้องรู้ว่าในชั้นเรียนเด็กแต่ละคนมีทักษะทางการพูดต่างกัน ก็ต้องให้งานที่ยากง่ายไม่เหมือนกัน ครูภาษาอังกฤษต้องให้โอกาสเด็กทุกคน ทั้งเด็กเก่งและเด็กอ่อน"

          ดร.อรพรรณ กล่าวอีกว่า ศธ. รับครูไม่ตรงวุฒิทางการศึกษาประจำการในโรงเรียนต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นครูก็สอนภาษาอังกฤษแบบผิด ๆ จะเห็นว่าโรงเรียนในต่างจังหวัดและเป็นโรงเรียนเล็ก เด็กจะมีปัญหาภาษาอังกฤษมาก เด็กกลัวภาษาอังกฤษ ใช้ครูวิชาอื่นมาสอนภาษาอังกฤษ อยากเห็นรัฐบาลลุงทุนผลิตครูภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นและต้องปรับในเรื่องเงินเดือนด้วย เพราะบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาด้านภาษาอังกฤษไม่อยากเป็นครูเพราะเงินเดือนน้อย จึงเข้าสู่เส้นทางอาชีพอื่น ๆ 

          ส่วนหลักสูตรครู 5 ปี หรือการศึกษาบัณฑิต 5 ปี รัฐบาลก็ไม่จริงจัง ทำให้เราขาดครูในวิชาเอกต่างๆมากมาย เพราะรัฐบาลไม่เอาจริง ไม่สนับสนุนคนที่ใฝ่ฝันอยากเป็นครู ในรัฐบาลชุดนายกทักษิณ ที่ให้คนดีคนเก่งมาเป็นครูและให้ทุนการศึกษา เรียน 5 ปี มีทุนการศึกษาให้ทำได้อยู่ประมาณปีกว่าก็ล้มเลิก นี่คือความไม่จริงจังแล้วเราจะผลิตครูเก่งๆ ในวิชาเอกต่าง ๆ ได้อย่างไร อยากให้รัฐบาลฟื้นทุนครู 5 ปีในวิชาเอกต่าง ๆ กลับมาอีกครั้ง เราจะได้ครูในวิชาเอกต่างๆ ซึ่งก็หมายถึงครูภาษาอังกฤษเก่ง ๆ ด้วย 



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มศว ระบุเด็กไทยเรียนอังกฤษเพื่อสอบ พูดอ่อนแอมาก อัปเดตล่าสุด 21 ธันวาคม 2554 เวลา 12:30:45
TOP