x close

มทส. พัฒนา ชุดกรองน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตเองในชุมชนน้ำท่วม





มทส. พัฒนาปรับแปลง "ชุดกรองน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์" ผลิตน้ำดื่มได้เองในชุมชนน้ำท่วม
 
           จากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้น ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือการขาดแคลนน้ำดื่ม ไม่เพียงพอ ไม่สะอาด ปนเปื้อน รวมถึงการขนส่งน้ำดื่มบรรจุขวดเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยก็เป็นไปด้วยความลำบาก จากน้ำที่ท่วมขังในเส้นทางสัญจร อาจารย์จากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จึงมีแนวคิดพัฒนาปรับแปลง "ชุดกรองน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์" ผลิตน้ำดื่มไว้ใช้เองในชุมชนหรือศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้อีกทางหนึ่ง




           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ เปิดเผยว่า "ชุดกรองน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ได้พัฒนาและปรับแปลงขึ้นจากแนวคิดที่จะช่วยผ่อนคลายปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มในแหล่งชุมชนที่น้ำท่วมหรือในศูนย์พักพิงของผู้ประสบภัยให้มีน้ำสะอาดดื่มได้อย่างเพียงพอ จึงพัฒนา "ชุดกรองน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์" แทนการใช้พลังงานไฟฟ้า สำหรับใช้ร่วมกันในชุมชน ซึ่งสามารถใช้น้ำดิบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ คูคลองที่เป็นน้ำไหล หรือน้ำประปาที่มีสีขุ่น ดื่มได้ไม่สนิทใจ โดยนำน้ำดิบมาพักไว้ แกว่งสารส้ม 5-10 นาที ให้ตกตะกอน น้ำจะใสขึ้น จากนั้นนำมาผ่านชุดกรองน้ำก็จะได้น้ำดื่มที่สะอาด ซึ่งทำการทดสอบคุณภาพน้ำด้วยชุดตรวจเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มั่นใจได้ว่าน้ำที่ผ่านการกรองด้วยชุดกรองน้ำที่พัฒนาขึ้นนี้ สะอาด ปลอดภัย ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร




           ทั้งนี้ ตามแนวคิดของเราไม่ได้ต้องการประดิษฐ์อะไรขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการพัฒนาปรับแปลงเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาเซลล์ แบตเตอรี่ ปั้มน้ำ ระบบกรองน้ำ ไส้กรองน้ำ ระบบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV สามารถหาซื้อได้ในท้องตลาด โดยเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐานรับรอง มั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพ ข้อดีคือ สะดวก รวดเร็ว ใช้งานได้ทันที ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้จัดสรรงบประมาณจัดทำชุดกรองน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ในเบื้องต้น 3 ชุด เพื่อนำไปติดตั้งในชุมชนหรือศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเรื่องน้ำดื่มได้ทางหนึ่งครับ"




           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ ทองทา กล่าวถึงการทำงานของชุดกรองน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ว่า "อุปกรณ์ชุดนี้ประกอบด้วยสองส่วน คือ ส่วนที่ใช้กรองน้ำกับส่วนที่ให้พลังงาน โดยส่วนที่กรองน้ำนั้นใช้เครื่องกรองน้ำที่หาซื้อได้ทั่วไป แต่พิเศษคือเพิ่มการกรองหยาบเข้าไป ทำให้สามารถใช้ได้กับน้ำที่มีคุณภาพด้อยกว่าน้ำประปา ส่วนด้านหลังของชุดกรองน้ำประกอบด้วยอินเวอร์เตอร์ที่รับพลังงานจากโซลาเซลล์ เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ปั้มน้ำ อาศัยแรงดันทำให้เครื่องทำงาน การใช้งานง่าย ผู้ใช้เพียงกดสวิทซ์เครื่องก็จะทำการกรองน้ำได้ น้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัย การออกแบบให้ชุดกรองน้ำใช้พลังงานจากโซลาเซลล์แทนการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากในพื้นที่ประสบอุทกภัยส่วนใหญ่ระบบไฟฟ้ามักจะมีปัญหา ไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยจากไฟรั่ว ไฟช็อต 

           สำหรับต้นทุนการผลิตประมาณ 20,000 บาทต่อชุด จึงเหมาะต่อการนำไปใช้ในกลุ่มชุมชนที่อยู่รวมกันในหมู่บ้าน ศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิง มีกำลังการผลิตในการกรองน้ำดื่มได้ 120 ลิตรต่อชั่วโมง หรือประมาณถังน้ำขนาด 20 ลิตร จำนวน 6 ถัง ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคของคนในชุมชน นอกจากนี้ ชุดกรองน้ำถูกออกแบบให้มีขนาดเล็ก กะทัดรัด ใส่ในกระเป๋าเดินทางได้ เคลื่อนย้ายสะดวก สำหรับการนำไปใช้งานในพื้นที่ประสบภัยต่าง ๆ ได้"


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มทส. พัฒนา ชุดกรองน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตเองในชุมชนน้ำท่วม โพสต์เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2554 เวลา 11:57:47
TOP