x close

ม.อ. พัฒนา จักรยานพลังงานจิ๋ว แหล่งกำเนิดไฟฟ้า




นักวิจัยคณะวิทย์ ม.อ. พัฒนา "จักรยานพลังงานจิ๋ว" แหล่งกำเนิดไฟฟ้าอีกรูปแบบ สำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็ก

           รองศาสตราจารย์ ดร.นันทกาญจน์ มุรศิต ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับคณะผู้ศึกษาวิจัย พัฒนาพลังงานทดแทนจากวัสดุในธรรมชาติที่มีสมบัติไพอิโซอิเล็กทริก หรือ "พลังงานจิ๋ว" เพื่อนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นอุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก ที่สามารถใช้งานได้แม้ในที่ๆ มีข้อจำกัดเรื่องกระแสไฟฟ้า  

           วัสดุไพอิโซอิเล็กทริก มีความสามารถในการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกล หรือในทางกลับกันเปลี่ยนพลังงานกลเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งได้แก่ ผลึกควอทซ์ เซรามิกและพอลิเมอร์สังเคราะห์บางชนิด ซึ่งถือว่าเป็น "พลังงานจิ๋ว" ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนรูปแบบหนึ่งซึ่งค่อนข้างใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานทดแทนรูปแบบอื่นๆ ที่คุ้นเคยกันมานานไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงแดด พลังงานชีวมวล วัสดุไพอิโซอิเล็กทริกชนิดต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์หลากหลาย เช่น ลำโพงบางชนิด ไมโครโฟนไร้สาย หัวจุดเตาแก๊สอัตโนมัติ โซนาร์สำหรับวัดความลึกในทะเลที่เรียกว่า หรือหาตำแหน่งของฝูงปลาที่เรียกว่าไฮโดรโฟน ใช้เป็นตัวตรวจคลื่นหัวใจ ตัวผลิตอัลตราซาวด์ตรวจดูทารกในครรภ์ ตัววัดความดันในลูกนัยน์ตา เป็นต้น 

           อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์ดังกล่าวส่วนใหญ่ เราจำเป็นต้องป้อนแรงดันไฟฟ้าให้อุปกรณ์จึงจะใช้งานได้ แนวคิดของการพัฒนาวัสดุไพอิโซอิเล็กทริกให้ทำหน้าที่ป้อน "พลังงานจิ๋ว" ให้กับอุปกรณ์เสียเองโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งภายนอก จึงเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อประมาณสิบปีที่ผ่านมานี้เอง ตัวอย่างที่แสดงถึงแนวคิดดังกล่าวคือการรองแผ่นไพอิโซอิเล็กทริกไว้ใต้พรมหน้าประตูบ้าน เมื่อมีผู้มาเยือน ก้าวไปบนแผ่นนี้จะทำให้เกิด "แรงกด" และผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนวงจร อิเล็กทรอนิกส์ส่งเสียงเตือนเจ้าของบ้าน 

           รองศาสตราจารย์ ดร.นันทกาญจน์ มุรศิต และทีมงานในภาควิชาฟิสิกส์อันประกอบด้วย ดร.ชัชชัย พุทซ้อน นายภาณุ ไทยนิรมิต นายพิศาล สุขวิสูตร และนายกิตติรัตน์ ภู่พลับ นักศึกษาบัณฑิตศึกษา ตลอดจน นายจำรัส ณ สุวรรณ และนายเจริญ อัมโร ได้ช่วยกันพัฒนา "พลังงานจิ๋ว" ให้เป็นรูปธรรมเข้าถึงประชาชนทั่วไป นั่นคือนำจักรยานออกกำลังกายชนิดปั่นกับที่ มาติดตั้งเม็ดเซรามิกไพอิโซอิเล็กทริกที่บังโคลนรถ พลังงานกลที่เกิดขึ้นในขณะปั่นจักรยานด้วยความเร็วสบายๆ จะทำให้เซรามิกสั่นและเกิดแรงดันระดับ 3-8 โวลต์ตกคร่อมวงจรของอุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก เช่น เครื่องคิดเลข หรือกดรีโมทปิดเปิดเพื่อดูข่าวโทรทัศน์โดยไม่ต้องใส่แบตเตอรี่ขนาด 2A หรือ 3A หลักการเดียวกันนี้ของ "จักรยานพลังงานจิ๋ว" สามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์พกพาชนิดอื่นๆได้อีกเช่น ใช้ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น MP3 เครื่องช่วยฟังของผู้พิการทางหู โดยปราศจากข้อจำกัดในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ไม่มี่พลังงานไฟฟ้า 

           นอกจากนั้น "พลังงานจิ๋ว" ยังไม่ก่อให้เกิดมลภาวะดังเช่นการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั่วไป ดังนั้นการร่วมพลังกันใช้ "พลังงานจิ๋ว" เป็นพลังงานทดแทนอีกรูปแบบหนึ่งในชุมชน ย่อมนำไปสู่ชุมชนสีเขียว (Green City) ที่เราต้องการ 

           และในไม่ช้านี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นันทกาญจน์ มุรศิต จะมีงานเขียนเป็นภาษาไทยในรูปแบบของหนังสือขนาดกะทัดรัดอ่านง่ายเหมาะสำหรับนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ นักการพลังงานและประชาชนทั่วไปที่ใคร่รู้เท่าทันเทคโนโลยีทางด้านการเก็บเกี่ยวพลังงานจิ๋ว โดยส่วนหนึ่งของเนื้อหานำมาจากผลงานวิจัยตลอดจนประสบการณ์ตรงทั้งของตนเองและนักศึกษาบัณฑิตศึกษารุ่นต่างๆ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ม.อ. พัฒนา จักรยานพลังงานจิ๋ว แหล่งกำเนิดไฟฟ้า อัปเดตล่าสุด 30 ตุลาคม 2554 เวลา 17:25:33 1,028 อ่าน
TOP