ชูคืนหนังสือรร.เกิด ดีกว่าแจกแท็บเล็ต (ไอเอ็นเอ็น)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
"วรากรณ์" ชูโครงการคืนหนังสือดีกลับโรงเรียนบ้านเกิดคนละเล่ม สร้างนิสัยรักอ่านเด็กรุ่นใหม่ แนะรัฐซื้อหนังสือดีอ่านง่ายแจกดีกว่าละเลงงบหมื่นล้านซื้อแท็บเล็ต ไม่เห็นด้วย ถ้า ศธ.จะปรับลดงบห้องสมุดมาทำห้องสมุด E-book แทน ชี้เด็กชนบท-คนนอกระบบการศึกษายังไม่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต "นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ" ยันห้องสมุดแบบหนังสือยังจำเป็น ใคร ๆ ก็ใช้ได้
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า หากจะทำให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านได้จะพึ่งแต่วาระการอ่านแห่งชาติของภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันทำโครงการส่งคืนหนังสือดีกลับโรงเรียนบ้านเกิดคนละ 1 เล่ม โดยเฉพาะโรงเรียนในชนบทที่ขาดแคลนหนังสือดี จะส่งผลให้เด็กในโรงเรียนได้รับประโยชน์ อาจเริ่มจากศิษย์เก่า หากศิษย์เก่า 100 คนในโรงเรียนได้ทำตามโครงการดังกล่าว ห้องสมุดของโรงเรียนในชนบทจะมีแต่หนังสือดี 100 เล่ม สร้างนิสัยรักการอ่านให้เด็กรุ่นใหม่ต่อไป
"ผมได้แนวคิดดังกล่าวมาจากวิถีชีวิตของปลาทู ออกไปเติบโตข้างนอก แต่เวลาวางไข่ก็กลับมาวางในที่เกิด น่าแปลกว่ามันจำได้อย่างไร อยากให้ภาครัฐทำโครงการจัดซื้อหนังสือดีที่อ่านง่ายแจกนักเรียน อาจใช้งบไม่กี่พันล้านบาท เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านให้เด็กที่เป็นอนาคตชาติ หากเราเดินถูกทางแล้วจะเป็นประโยชน์ไปชั่วอายุคน ดีกว่าเอางบหมื่นล้านมาซื้อแท็บเล็ตอีก" อธิการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์กล่าว
พร้อมกันนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ ยังกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่จะปรับลดงบห้องสมุดแบบหนังสือแล้วมาพัฒนาเป็นห้องสมุดแบบ E-book แทน เพราะมองว่าห้องสมุดที่เป็นหนังสือยังมีความสำคัญอยู่ จะตอบโจทย์สำหรับเด็กต่างจังหวัดและประชาชนนอกระบบการศึกษาที่เข้าไม่ถึงระบบอินเทอร์เน็ต ได้ค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือ
นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ห้องสมุดแบบหนังสือยังเป็นสิ่งที่จำเป็น ถึงแม้จะเห็นด้วยที่ภาครัฐนำเทคโนโลยีมาพัฒนาห้องสมุดเป็นแบบ E-book อย่างไรก็ตาม มองว่าห้องสมุดต้องเป็นแหล่งความรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทั้งคนที่อยู่ในการศึกษาและนอกการศึกษา แต่หากเป็นห้องสมุดแบบ E-book จะเกิดประโยชน์แค่คนบางกลุ่ม และที่สำคัญห้องสมุดดังกล่าวก็ยังทำไม่สำเร็จเลย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก