x close

สศช. ชี้ เรียนฟรี ส่งเด็กไทยไม่ถึงดาว




สศช.ชี้เรียนฟรีส่งเด็กไทยไม่ถึงดาว (ไทยโพสต์)

        สศช.ชี้เรียนฟรีทำให้เด็กไทยเข้าถึงระบบการศึกษามากขึ้น แต่คุณภาพไม่ดี นักเรียนได้สัมฤทธิผลตามเป้าเพียง 50% มีปัญหาไอคิวและอีคิวต่ำ โดยเฉพาะระดับปฐมวัย มากกว่า 25% ไอคิวต่ำกว่า 90 หรือสติปัญญาปานกลาง ส่วนไอคิวมากกว่า 90-109 มีเพียง 40% อีคิวมีปัญหาปรับตัวและความกระตือรือร้น ผลิตแรงงานไม่ตรงเป้าจบ ป.ตรี มากกว่าอาชีวะ

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำเสนอสถานการณ์ด้านการศึกษาในปัจจุบัน ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า คนไทยมีศักยภาพและโอกาสด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นจากการขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี หลังมีนักเรียนได้รับประโยชน์ 12,471,611 ล้านคน ทั้งนี้ จากการประเมินผลสัมฤทธิ์ในวิชาหลักของนักเรียนกลับพบว่ามีผลสัมฤทธิ์ไม่ถึงร้อยละ 50 และยังพบสถานศึกษาที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ

        ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาคือ การเริ่มจากยกกระดับสติปัญญา (ไอคิว) และความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของกลุ่มเด็ก เพราะผลสำรวจระดับเชาวน์ปัญญาและพัฒนาการของเด็กไทยชี้ตรงกันว่า เด็กมีพัฒนาการล่าช้าและระดับเชาวน์ปัญญาค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะช่วงปฐมวัยซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาทุนมนุยษ์ที่สำคัญที่สุดกลับพบว่า เด็กวัย 6-12 ปี จำนวนมากกว่าร้อยละ 25 มีค่าไอคิวต่ำกว่า 90 (ค่าความฉลาดปานกลางอยู่ที่ 90-110) ส่วนเด็กร้อยละ 40 มีไอคิวปกติระหว่าง 90-109 ส่วนการวัดอีคิว ปรากฏว่า เด็กในวัย 3-5 ปี และ 6-11 ปี มีความคิดการปรับตัวต่อปัญหาและความกระตือรือร้น ทั้งหมดมีคะแนนลดลงแต่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

        ทั้งนี้ รัฐบาลต้องขยายโอกาสการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เนื่องจากจำนวนผู้เรียนนอกระบบโรงเรียนได้เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 5.6 ล้านคน ในปีการศึกษา 2552 ส่วนจำนวนเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ และเด็กพิเศษนั้น ได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้นจาก 3 ล้านคน มาอยู่ที่ 3.2 ล้านคน อย่างไรก็ตามต้องมีการเพิ่มช่องทางการเรียนรู้นอกห้องเรียน และส่งเสริมการจัดการศึกษาทางไกลของสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งให้มีคุณภาพและมาตรฐาน

        ขณะเดียวกันปัญหาการผลิตและพัฒนากำลังคนที่ปัจจุบันยังขาดแคลนทั้งกำลังคนระดับกลางและสูงและในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพราะต่อให้มีสัดส่วนแรงงานไทยที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับประถมศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการเรียนต่อในสายอาชีวศึกษายังต่ำกว่าความต้องการกำลังคนระดับ กลางของประเทศ ซึ่งมีความต้องการถึงร้อยละ 60 ของความต้องการแรงงานทั้งหมด ส่วนปัญหาด้านกำลังคนระดับสูงยังคงมีสัดส่วนการผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่ำกว่าบัณฑิตสาขา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ขณะที่บุคลากรด้านวิจัยเพิ่มขึ้นแต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ และแม้มีการสร้างองค์ความรู้เพิ่มขึ้น แต่การนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ยังต่ำ และยังขาดงานวิจัยที่เหมาะสมกับบริบทไทย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สศช. ชี้ เรียนฟรี ส่งเด็กไทยไม่ถึงดาว อัปเดตล่าสุด 30 สิงหาคม 2554 เวลา 13:59:28
TOP