x close

โอละพ่อ! ปรับเปิด-ปิดมหาวิทยาลัย อาเซียนไม่ตรงกัน





ปรับเปิด-ปิดมหา\'ลัยโอละพ่อ (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          ปรับเวลาเปิด-ปิดเทอมมหาวิทยาลัยโอละพ่อ "เลขาฯ สอก."  ชี้ไม่มีประเทศไหนในอาเซียนกำหนดเวลาเปิด-ปิดสถาบันการศึกษาตรงกัน มีเพียงมาเลเซียเท่านั้นที่ปรับเวลาให้ตรงกับยุโรปและสหรัฐ เผยคงต้องหารือกับ ทปอ.ให้ชัดเจนก่อนสรุป ด้าน สพฐ.ระบุต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นหลายฝ่าย ไม่ง่ายที่จะเริ่มในปี 55 เพราะกระทบการสอบประจำภาค สอบโอเน็ต ตลอดจนวิถีชีวิตสังคมไทยที่เด็กนักเรียนต้องช่วยพ่อแม่ทำนาในฤดูฝน จากกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเป็นเอกฉันท์เลื่อนการเปิด - ปิด ภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน พ.ศ.2558 โดยคาดว่าเริ่มปี 2555 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิด-ปิดมหาวิทยาลัยในกลุ่มอาเซียนนั้น จากเดิมที่เปิดภาคเรียนที่ 1 เดือน มิ.ย. - ต.ค. และภาคเรียนที่ 2 เดือน พ.ย.-มี.ค. มาเป็นภาคเรียนที่ 1 เดือน ก.ย. - ธ.ค. และภาคเรียนที่ 2 เดือน ม.ค.-พ.ค. ว่า

          นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตนจะต้องหารือกับนายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธาน ทปอ. ว่าจะเลื่อนให้เหมือนกับประเทศอะไร เพราะเท่าที่ทราบจากการเดินทางประชุมร่วมกับประเทศสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ พบว่าทุกประเทศมีระยะเวลาการเปิด-ปิดภาคเรียนที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และยังไม่มีประเทศใดเปลี่ยนแปลงเวลาการปิดและเปิดภาคเรียน มีเพียงประเทศเดียวที่เปลี่ยนคือประเทศมาเลเซีย แต่มาเลเซียก็ไม่ได้ปรับให้เหมือนกับกลุ่มอาเซียน แต่ปรับให้เหมือนประเทศทางแถบยุโรป อเมริกา เพื่อความเป็นสากล ดังนั้นตนคงต้องหารือรายละเอียดดังกล่าวกับประธาน ทปอ.ให้ชัดเจน

          ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  (กพฐ.) กล่าวว่า การที่ ทปอ.มีมติดังกล่าวคงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเคลื่อนย้ายนักเรียน นักศึกษาระหว่างประเทศมีความคล่องตัว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คงต้องรับเรื่องนี้มาหารือเพื่อให้การเปิด-ปิดภาคเรียนของนักเรียนในสังกัด สพฐ. มีความเชื่อมโยงกับระดับอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักเรียน ครู และผู้ปกครอง

          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคม โดยเฉพาะในชนบทที่ต้องมีฤดูทำนา ซึ่งมีผลเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวพืชผล แต่เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป เราก็คงต้องปรับตัวให้ทันต่อยุคสมัย ซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็น เพียงแต่ต้องมีการเตรียมความพร้อมในช่วงปรับเปลี่ยน เพื่อให้ครู นักเรียนและผู้ปกครองได้มีการปรับตัว ซึ่งหากจะมีการเปลี่ยนแปลงจริงคงต้องใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี ดังนั้นการที่ ปทอ.จะเริ่มปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในการเปิดภาคเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 นั้น ในส่วน สพฐ.คงไม่สามารถตอบได้ว่าจะปรับเปลี่ยนได้ทันในปีการศึกษา 2555 หรือไม่ เนื่องจากจะส่งผลกระทบหลายเรื่อง ทั้งการสอบประจำภาค การทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) รวมถึงการรับนักเรียนเข้าเรียนต่อในปีการศึกษา 2555  ซึ่งได้มีการกำหนดปฏิทินไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ สพฐ.คงต้องนำเข้าหารือในบอร์ด กพฐ. เพื่อให้ความเห็นชอบก่อน

          ส่วน รศ.ดร.สุพล วุฒิเสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) กล่าวว่า เห็นว่าแนวนโยบายการเลื่อนเวลาเปิด-ปิดเทอมของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้เป็นช่วงเวลาเดียวกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนนั้น เป็นวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องตัดสินใจ แต่คาดว่าเป็นการปรับตัวเพื่อรองรับการถ่ายโอนหน่วยกิจ และการโอนย้ายของนักศึกษาในภูมิภาคอาเซียนที่ต้องการเข้ามาเรียนในอุดมศึกษาไทย นอกจากนี้ ศธ.ควรเน้นการให้เด็กเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านอย่างน้อย 1-2  ภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ





[9 สิงหาคม] ไทยขานรับเปิด - ปิดมหาวิทยาลัย ตามอาเซียน

          วงการศึกษาขานรับ ปรับปฏิทินเปิด-ปิดมหาวิทยาลัยตามกลุ่มประเทศอาเซียน ชี้หากทำ รร.ควรต้องปรับด้วย คาดไม่น่าจะทันปีการศึกษา 2555 แต่ "ศศิธารา" ไม่เอาด้วย มองหลงทาง คุย สอศ.มีทิศทางอยู่แล้ว

          นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวถึงมติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเห็นตรงให้เลื่อนการเปิดและปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัยเพื่อให้มี ความเป็นสากลและสอดคล้องกับประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน เตรียมการเปิดสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 ว่า ปัจจุบันประเทศไทยจะเปิดเรียนภาคเรียนที่ 1 ช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค. และภาคเรียนที่ 2 ช่วงเดือน พ.ย.-มี.ค. โดยจะเลื่อนเป็นเปิดภาคเรียนที่ 1 ก.ย.-ธ.ค. และภาคเรียนที่ 2 ม.ค.-พ.ค. ซึ่งตนเห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวสะดวก หากประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการจัดกิจกรรมทางการศึกษา ทั้งนี้ การจะปรับเปลี่ยนเวลานั้น ควรจะปรับทั้งระบบไม่ใช่เพราะปรับเฉพาะอุดมศึกษาเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ด้วย อย่างไรก็ตาม มองว่าในปีการศึกษา 2555 ไม่น่าจะดำเนินการได้ทัน เพราะการปรับเวลาการเรียนการสอนนั้นต้องใช้เวลา

          นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า ในส่วนของ สช.คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะปัจจุบัน รร.นานาชาติในสังกัด สช.กว่า 200 โรง ได้ปรับเวลาเปิด-ปิดตามสากลอยู่แล้ว เหลือแต่สถานศึกษาที่สอนวิชาสามัญทั่วไป ดังนั้น หากจะปรับเวลาจริงก็ต้องปรับทั้งระบบ และต้องใช้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นผู้พิจารณาต่อไป

          ด้านนางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) คงไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร เพราะการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน สอศ.มีทิศทางและรายละเอียดที่ได้กำหนดไว้แล้ว อีกทั้งแต่ละประเทศก็มีรูปแบบการดำเนินการที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปรับเพื่อให้เหมือนกันทุกอย่าง เพราะจะทำให้หลงทาง


เล็งยุติศูนย์นอกที่ตั้งทั้งหมด


[8 ส.ค.] เสนอเปิด-ปิดมหาวิทยาลัยตามอาเซียน

         ที่ประชุม ทปอ. เห็นพ้องเสนอให้ปรับเวลา "เปิด-ปิด" ภาคเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ ให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยในประชาคมอาเซียน เสนอเปิด-ปิดเทอมแรกกำหนดเดือน ก.ย.-ธ.ค. จากเดิม มิ.ย.-ต.ค. ส่วนเทอมสองเปิด-ปิดเดือน ม.ค.-พ.ค. จากเดิม พ.ย.-มี.ค.  แต่ต้องศึกษาและหารือเรื่องผลกระทบกับทุกหน่วยงานที่มีนักเรียนและนักศึกษา ในสังกัดก่อน เผยมีไทยเพียงประเทศเดียวที่เปิด-ปิดไม่เหมือนประเทศอื่นในอา เซียน เตรียมเสนอให้ รมว.ศธ.คนใหม่พิจารณา คาดเริ่มใช้ได้ปีการศึกษา 2555

          นายประสาท สืบค้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มติที่ประชุม ทปอ.ได้มีความเห็นพ้องร่วมกันที่จะเลื่อนการเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยทั้ง หมดทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 โดยจะกำหนดให้เลื่อนไปเปิดและปิดภาคเรียนแรกในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม จากเดิมช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ส่วนเปิดและปิดภาคเรียนสองก็ให้เลื่อนไปช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม จากเดิมช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เพื่อให้เวลาเปิดและปิดภาคเรียนของประเทศไทยตรงกับประเทศสมาชิกทั้ง 9 ประเทศ และตรงกับประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนทางการศึกษาต่อไป

          "ขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ ละประเทศได้มีการเลื่อนเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนให้ตรงกันหมดแล้ว แต่ยังเหลือประเทศไทยที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง  แต่เบื้องต้นจะต้องมีการศึกษาและหารือให้รอบด้านเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อ การเรียนการสอนและการประเมินผล อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สภามหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่มีนักเรียนและนักศึกษาในสังกัด รวมถึงจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) คนใหม่ให้รับทราบและพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ผมก็คาดว่าจะสามารถเริ่มปรับใช้ได้ในปีการศึกษา 2555" ประธาน ทปอ.กล่าว 

          นายประสาท กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 (พ.ศ.2554-2558) ของระดับอุดมศึกษา ที่ขณะนี้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กำลังจะเริ่มเข้าไปประเมินมหาวิทยาลัยในสมาชิก ทปอ.เป็นกลุ่มแรก ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยที่ประชุมได้แสดงความกังวลถึงเรื่องเกณฑ์การประเมิน สมศ.ที่ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกณฑ์การประเมินเหมือนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ประชุมจึงมีมติส่งตัวแทน ทปอ.ไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับอุดม ศึกษา (กพอ.) ที่มี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี เป็นประธานฯ ในวันที่ 11 ส.ค.นี้

          "หาก สมศ.ยังยืนยันว่าจะใช้กำหนดเวลาเดิมในการเข้าประเมิน มหาวิทยาลัยสมาชิกของ ทปอ.ก็จะไม่ขัด แต่เกณฑ์การประเมินนั้นต้องชัดเจนก่อน เพราะผมยังมีหลายคำถามเกี่ยวกับเรื่องเกณฑ์การประเมินของ สมศ. เช่น กรณีมีมหาวิทยาลัยมีหลายสาขาวิชา ซึ่งเมื่อไม่ผ่านการประเมิน 10% ของสาขาทั้งหมด ก็จะปรับไม่ผ่านทั้งมหาวิทยาลัยหรือไม่ และการที่ สมศ.กำหนดไว้ว่าจะไม่ขอระบุสาเหตุของสถานศึกษาที่ประเมินไม่ผ่าน อันนี้จะเป็นสิ่งที่เคลือบแคลงใจหรือไม่ ดังนั้น ที่ต้องส่งตัวแทน ทปอ. ไปประชุมกับ กพอ. ก็เพื่อจะขอความชัดเจนในการประเมินต่อไป" ประธาน ทปอ.กล่าว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โอละพ่อ! ปรับเปิด-ปิดมหาวิทยาลัย อาเซียนไม่ตรงกัน อัปเดตล่าสุด 10 สิงหาคม 2554 เวลา 08:15:10 1,222 อ่าน
TOP