x close

ห่วงเด็กไทย ย่อความไม่เป็น




ห่วงเด็กไทย ย่อความไม่เป็น (ไทยโพสต์)

          ราชบัณฑิตยสถานชี้เด็กไทยไม่รู้จักย่อความ หรือการจับใจความสำคัญ อาจเป็นเพราะหลักสูตรยุคใหม่ไม่ได้สอน "ชวน หลีกภัย" ติงสื่อไม่ควรใช้ภาษาอังกฤษเป็นชื่อสถานีโทรทัศน์หรือรายการ ยกตัวอย่าง ไอทีวี หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี ห่วงภาษาถิ่นหายไป วอนราชบัณฑิตฯ ช่วยกอบกู้กลับมา

          จากการจัดงาน "วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม 2554" ณ ราชบัณฑิตยสถาน สนามเสือป่า กรุงเทพฯ ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานว่า การปลุกจิตสำนึกและกระตุ้นคนไทยให้ตระหนักในคุณค่าและเห็นความสำคัญของภาษาไทยมีความชัดเจนตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อปี 2505 และได้พระราชทานกระแสพระราชดำริหลายประการเกี่ยวกับปัญหาการใช้ภาษาไทย ทำให้วงการศึกษาโดยเฉพาะด้านภาษาไทยพยายามกระตุ้นให้คนในชาติตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และช่วยกันบำรุงรักษาให้วัฒนาถาวรทันกับยุคสมัยที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทรงห่วงใยเรื่องภาษาถิ่น โดยมีพระราชดำรัสว่าต้องระวังรักษาไว้ให้ดี เพราะเป็นแหล่งที่จะไปศึกษาภาษาได้โดยแท้

         
น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า การใช้ภาษาไทยคำอังกฤษคำนั้น เป็นเรื่องของภาษาที่มีวิวัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ แต่ความถูกต้องตามหลักการของภาษาหรือภาษาทางการยังต้องมีอยู่ จะต้องไม่นำภาษาพูดมาใช้เป็นภาษาทางการ ซึ่งปัจจุบันราชบัณฑิตยสถานกำลังรณรงค์เรื่องการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องอยู่ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่เด็กและเยาวชน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เล็กให้เด็กเข้าใจว่าภาษาไทยที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ซึ่งเท่าที่ได้ทำงานกับเด็กและเยาวชนจะพบว่าเด็กมีความเข้าใจที่จะใช้เป็นภาษาเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ต เพราะต้องการความรวดเร็ว แต่ไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันหรือเป็นภาษาทางการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กและเยาวชนในปัจจุบันคือ ไม่รู้จักการย่อความซึ่งเป็นเรื่องของการจับใจความสำคัญ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการจัดการเรียนการสอนไม่ค่อยเน้นให้ความสำคัญก็เป็นได้

          นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับภาษาไทย ได้พยายามเตือน ส.ส.ในพรรคทุกครั้งที่มีการอบรมว่าให้หลีกเลี่ยงการพูดภาษาไทยคำอังกฤษคำ หรือใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษโดยไม่จำเป็น ซึ่งเข้าใจว่าสังคมเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก อาจเป็นเพราะมองเรื่องความสะดวกเป็นสำคัญ เมื่อราชบัณฑิตฯ เข้ามามีบทบาทในเชิงรุกก็ขอให้รุกจริง โดยฝากราชบัณฑิตฯ ให้เตือนสื่อและขอความร่วมมือ ทั้งเรื่องการตั้งชื่อสถานีเป็นภาษาอังกฤษ อาทิ ไอทีวี โมเดิร์นไนน์ทีวี และตั้งชื่อรายการเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการมองด้านการตลาดและผลกำไรทางธุรกิจ ไม่ได้มองอุดมการณ์จนกลายเป็นธุรกิจการเมืองและธุรกิจสื่อมวลชน ส่งผลให้ความถูกต้องชอบธรรมลดความสำคัญลง เมื่อราชบัณฑิตฯ ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทยก็ต้องมาทบทวนว่าปัญหาภาษาไทย ภาษาชาติ จะมีผลต่ออนาคตอย่างไร ซึ่งปัญหาหนึ่งที่น่าห่วงคือ เรื่องภาษาถิ่นที่ในช่วง 20-30 ปีมีการจางหายไปเร็วกว่าที่คิด ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากโรงเรียนห้ามเด็กพูด จึงอยากให้ราชบัณฑิตช่วยคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ภาษาถิ่นเลือนหาย รวมถึงเรื่องการใช้ ค.ศ.แทน พ.ศ. ซึ่งสื่อยุคนี้ใช้จนเคยชิน

          "ผมไม่ห่วงว่าภาษาไทยจะหายไป เพราะภาษาไทยจะเป็นภาษากลางที่เข้าไปแทนที่ภาษาถิ่น แต่เป็นห่วงว่าภาษาอื่นจะเข้ามาทำลายภาษาไทย อย่างเช่น ภาษาต่างประเทศ ที่มักจะพูดภาษาไทยคำอังกฤษคำ ไม่รู้ว่าเป็นปมอะไรกันหรือเปล่า เดี๋ยวนี้รายการโทรทัศน์ต่างๆ พูดกันบ่อยมากจนกลายเป็นเรื่องปกติ" นายชวนกล่าว และว่า เมื่อราชบัณฑิตยสถานเล่นบทรุกแล้วก็ควรเชิญเจ้าของสื่อหรือเจ้าของรายการมาหารือเพื่อขอความร่วมมือในการเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาไทย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ห่วงเด็กไทย ย่อความไม่เป็น อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2554 เวลา 17:43:54 1,555 อ่าน
TOP