x close

ไอซีทีเตรียมลงนามซื้อแท็บเล็ต 5 เม.ย.นี้



Tablet


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          กระทรวงไอซีที เตรียมลงนามจัดซื้อแท็บเล็ตกับบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป 5 เมษายนนี้ โดยล็อตแรกจะมีแท็บเล็ตกว่า 9 แสนเครื่อง

          วันนี้ (3 เมษายน) นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการจัดซื้อแท็บเล็ต เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโครงการ One Tablet PC Per Child ว่า ขณะนี้คณะกรรมการที่ดูแลด้านการจัดซื้อ ได้ข้อสรุปในการตรวจสอบเอกสารร่างสัญญาจัดซื้อแท็บเล็ตชุดแรกเรียบร้อยแล้ว และทางกระทรวงไอซีที จะนำสัญญาที่ผ่านการพิจารณาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบต่อไป


          ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า จะมีการลงนามสัญญาจัดซื้อในวันที่ 5 เมษายน ระหว่างกระทรวงไอซีที และบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ โดยราคาที่เสนออยู่ที่เครื่องละ 2,400 บาท ล็อตแรกจะมี 9 แสนเครื่อง งบประมาณกว่า 1,900 ล้านบาท

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 







[2 เม.ย. 2555] ศธ.เผย แท็บเล็ต ป.1 ถึงไทยล็อตแรก 4-5 เม.ย.

แท็บเล็ต

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล 

          รมว.ศึกษาธิการ เผยแท็บเล็ต 60,000 เครื่อง ถึงไทย 4-5 เมษายนนี้ เตรียมให้ครูทดลองใช้แท็บเล็ตก่อนสอนจริง ส่วนแอพพลิเคชั่น ให้โรงเรียนหาเอง

          วันนี้ (2 เมษายน) นายสุชาติ ธาดาธํารงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงการตั้งกระทู้ถามสดของ นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เรื่องนโยบาการจัดซื้อแท็บเล็ตกับการพัฒนาการศึกษาของไทย ว่า ตามที่นายตวง กังวลใจว่าครูผู้สอนไม่มีความรู้ความเข้าใจในการใช้แท็บเล็ต เพื่อสอนเด็กนักเรียนนั้น เบื้องต้น กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอให้ประเทศจีนจัดส่งแท็บเล็ตจำนวน 60,000 เครื่อง มายังประเทศไทยก่อน ในวันที่ 4-5 เมษายนนี้ เพื่อที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ จะได้ทำการจัดอบรมแกนนำขึ้น จำนวน 549 คน จาก 183 เขต เพื่อให้แกนนำที่ผ่านการอบรมไปดำเนินการอบรมวิธีการใช้ และการสอนนักเรียนด้วยแท็บเล็ตแก่ครูในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ต่อไป หากทุกอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดี จะทำให้มีครูที่มีความรู้ความเข้าใจในการใช้แท็บเล็ตประมาณ 5.4 หมื่นล้านคนทีเดียว

          ทั้งนี้ ในการอบรมแกนนำนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการ จะเน้นไปที่เรื่องของวิธีการปรับเมมโมรี่ของเด็กนักเรียน เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถแนะนำเด็กนักเรียนที่ได้ใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอน สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตลอดจนสามารถต่อยอดความรู้จากในระดับประถมศึกษาปีที่ 2 ปีที่ 3 ได้ และสำหรับประเด็นแอพลิเคชั่นที่จะบรรจุในแท็บเล็ตนั้น กระทรวงศึกษาธิการ จะยกให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียนและครูผู้สอนเป็นผู้จัดหาข้อมูลเอง เพราะเชื่อว่าน่าจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเหมาะสมแก่นักเรียน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




[30 มีนาคม] จัดซื้อแท็บเล็ต 2 เม.ย.นี้ คาดงบ 1.9 พันล้าน ไม่พอ 

แท็บเล็ต tablet



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

              จัดซื้อแท็บเล็ต 2 เม.ย.นี้ คาดงบ 1.9 พันล้านไม่พอต่อจำนวนเด็ก พร้อมขอจีนส่งตัวอย่างใช้ 2 พันเครื่อง ถ้าตกทดสอบเพียงเครื่องเดียว จะตีกลับ และเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

              วานนี้ (29 มีนาคม) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ได้กล่าวถึง นโยบาย 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน ว่า หลังจากการประชุมคณะกรรมการบริหารได้หารือเกี่ยวกับการยกร่างสัญญาจัดซื้อแท็บเล็ตกับ บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ (Shenzhen Scope Scientific Development Co,Ltd.) ที่รัฐบาลจีนเสนอมา ได้ข้อสรุปว่า คู่สัญญาจัดซื้อจะเป็นกระทรวงไอซีทีกับบริษัทเสิ่นเจิ้นฯ โดยจะกำหนดให้ทุกหน่วยงานโอนงบประมาณมาให้กระทรวงไอซีทีซึ่งจะเป็นผู้จัดซื้อแทนพร้อมกันในวันที่ 2 เมษายน นี้

              ทั้งนี้ รมว.ไอซีที กล่าวว่า ในส่วนตัวสัญญาจะทำเป็นสัญญาหลัก (Main Cantact) พร้อมแนบสัญญาจัดซื้อเพิ่มเติม (Repeat Order) เพื่อเปิดช่องให้มีการของบประมาณจัดซื้อเพิ่มเติมภายหลัง เนื่องจากงบประมาณที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ประมาณ 1.9 พันล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอต่อการจัดซื้อแท็บเล็ตให้นักเรียน ป.1 ทุกคน แต่ขณะนี้ ตนก็ยังตอบไม่ได้ว่า จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีกเท่าใด เพราะขึ้นอยู่กับว่า งบประมาณงวดแรกสามารถจัดซื้อได้กี่เครื่อง

              น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในยกร่างสัญญานั้น ได้มีการกำหนดไว้ว่า บริษัทเสิ่นเจิ้นฯ ต้องผลิตเครื่องแท็บเล็ตรุ่นแรกจำนวน 2,000 เครื่อง ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หลังจากลงนามแล้ว เพื่อจะได้นำแท็บเล็ตรุ่นแรกนี้ มาทดสอบอย่างละเอียด ซึ่งถ้าตกทดสอบแม้แต่เครื่องเดียว ก็จะกลับไปเริ่มต้นใหม่  ก่อนที่จะจัดทำแผนใช้คอมพิวเตอร์ส่งเสริมการสอนเสนอ ครม. ด้วย โดยเบื้องต้นสำนักงานจะแบ่งโครงสร้างเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอำนวยการ กลุ่มบริหารสื่อการเรียนการสอน กลุ่มบริหารจัดการระบบสารสนเทศและโครงข่าย กลุ่มบริการและดูแลรักษา และกลุ่มส่งเสริมและพัฒนา

              ขณะที่ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีงบประมาณจำนวน 1,182 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อเด็ก ป.1 จำนวน 4.7 แสนคนเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันมีนักเรียน ป.1 ทั้งหมด 5.6 แสนคน เท่ากับว่า ตอนนี้ยังขาดงบประมาณ 350 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม  จากการหารือกับสำนักงบประมาณ ได้ให้คำแนะนำว่า ให้ทาง สพฐ. เจียดจ่ายงบประมาณที่ได้รับ เช่น เงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียน ไปเติมในเงินส่วนตรงนั้นแทน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




        


[15 มีนาคม] ไอซีที เผย แท็บเล็ต ป.1 อาจไม่ทันเปิดเทอมนี้



          อนุดิษฐ์ มอบกระทรวงต่างประเทศ ทำสัญญากับจีนแล้ว แต่ยังอุบชื่อ ยันหัวเหว่ยไม่ใช่ตัวเลือก คาดอาจไม่ทันใช้งานวันแรกเปิดเทอมพฤษภาคมนี้

           เมื่อวันที่ 14 มีนาคม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมโครงการแท็บเล็ต ป.1 กับกระทรวงศึกษาธิการว่า วันนี้คณะกรรมการจัดซื้อแท็บเล็ตชุดได้รายงานผลสรุปคุณสมบัติและรายละเอียดทั้งหมดแล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศเป็นตัวแทนประสานไปยังรัฐบาลจีน

           ทั้งนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกระบวนการทั้งหมดยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน Government to Government หรือ จีทูจี ซึ่งการทำสัญญาดังกล่าว ต้องใช้ระยะเวลาในการรอตอบกลับจากประเทศจีนพอสมควร และยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี  (ครม.) ในวันที่ 20 มีนาคมได้หรือไม่ ดังนั้น ความคาดหวังว่า แท็บเล็ตจะสามารถใช้งานได้ทันช่วงเปิดเทอมนั้น เบื้องต้นยังไม่มั่นใจว่าจะทันใช้งานในวันเปิดเทอมวันแรกหรือไม่ แต่มั่นใจว่าเด็ก ป.1 จะสามารถใช้งานได้ในช่วงเปิดเทอมเดือนพฤษภาคม 2555 อย่างแน่นอน

           รมว.ไอซีที ย้ำว่า การที่ไม่เปิดเผยรายชื่อบริษัทนั้น เพราะต้องการให้ทุกกระบวนการเป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่อยากให้โครงการต้องล้มไป เพราะการตีความจนโครงการไม่สำเร็จ อย่างโครงการรถดับเพลิงของ กทม. ดังนั้นขอยืนยันว่าเราไม่มีเจตนาที่จะปกปิดใด ๆ 

           อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกรรมการแท็บเล็ตเผยว่า การประมูลครั้งนี้ยังเป็นของ บริษัท เซินเจิ้น สโคป โดยการเสนอครั้งนี้ บริษัทได้เสนอเงื่อนไขให้ครอบคลุมถึงการประกันและค่าขนส่งสินค้าพื้นฐาน รวมถึงราคาของค่าใช้จ่ายเม็ดเงินประกันภัยและการขนส่งทั้งโดยเครื่องบินและเรือจากจีน มายังทั้งสองสนามบินสุวรรณภูมิและท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งไม่รวมอยู่ในข้อเสนอครั้งแรก

           ส่วนบริษัท หัวเหว่ย ซึ่งตามข่าวถูกตัดชื่อออกไปจากคู่แข่งการประมูลแล้ว พยายามที่จะเสนอเงื่อนไขใหม่ให้คณะกรรมการฯ พิจารณา โดยเสนอลดราคาเสนอซื้อของแท็บเล็ตรุ่นมีเดียแพด 7.0 ซึ่งเคยเข้าร่วมประมูลลงอีก 73 เหรียญฯ จากการเสนอราคาครั้งแรกของที่ 135 เหรียญฯ แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่สามารถผ่านเข้าไปสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการฯ ได้

           ขณะที่แหล่งข่าวจากกรรมการด้านเนื้อหาที่จะบรรจุในแท็บเล็ต กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ตัดสินใจใช้ระบบปฏิบัติการของเครื่องแท็บเล็ตเป็นแอนดรอยด์ 4.0 จากเดิมเป็นแอนดรอยด์ 3.2 โดยเมื่อนำเนื้อหาที่มีการทดลองในแท็บเล็ต พบว่ามีปัญหาเรื่องการทำงานที่ไม่เสถียรเกิดขึ้น ฝ่ายเทคนิคยังอยู่ในระหว่างแก้ไขปัญหาดังกล่าว

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการ 1 คอมพิวเตอร์แท็บเลตต่อ 1 นักเรียน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 มีมติมอบหมายให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อแท็บเล็ต ภายใต้นโยบายจัดซื้อแบบจีทูจีกับรัฐบาลจีน โดยกระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแท็บเล็ตเด็ก ป.1 ทั้งหมด 847,000 คน รวมถึงให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณจำนวน 1,900 ล้านบาทแทนกระทรวงศึกษาธิการ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  




[31 สิงหาคม 54] รมว.ศึกษาธิการ เผยจัดงบ 3 พันล้าน แจกแท็บเล็ต






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          รมว.ศึกษาธิการ เตรียมตั้งงบ 3,000 ล้านบาท แจกแท็บเล็ต ย้ำเป็นการแจกให้โรงเรียน และนักเรียนเป็นผู้ใช้ ยังไม่เคาะแจกเมื่อไหร่

          เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการส่งเสริมให้เด็กมีคอมพิวเตอร์ใช้ (One Tablet PC Per Child) ว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เตรียมงบประมาณเริ่มต้นไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าจัดทำเนื้อหาที่จะบรรจุลงในแท็บเล็ต ส่วนจะมีการดำเนินงานในลักษณะใดนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการจะต้องหารือกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ รวมทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกครั้ง

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้เตรียมงบประมาณสำหรับจัดซื้อแท็บเล็ตไว้แล้ว 3,000 ล้านบาท แต่หากต้องการทำให้ครอบคลุมเด็กทั้งระบบต้องใช้งบฯ 20,000 กว่าล้านบาทเลยทีเดียว อีกทั้ง เรื่องที่จะให้ไอซีทีเป็นผู้จัดซื้อหรือจะให้ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นผู้ประกอบนั้น จะต้องขอฟังความคิดเห็นก่อน แต่จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย เพราะหากปล่อยให้ใครดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจะเกิดการผูกขาดในระบบทันที

          สำหรับนโยบายรัฐบาล ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะแจกแท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน ซึ่งก่อนหน้านี้เข้าใจกันว่าจะแจกให้แก่นักเรียนโดยตรงนั้น นายวรวัจน์ กล่าวว่า แท็บเล็ตต้องแจกให้โรงเรียน เพื่อนำไปให้เด็กใช้ได้ฟรี ส่วนจะให้ในระดับใดและให้นำกลับบ้านหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อม ความเหมาะสมของพื้นที่ และการบริหารจัดการของโรงเรียนที่อาจจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเด็กสำเร็จการศึกษาแล้วก็ต้องคืนโรงเรียน ส่วนที่ไม่ไห้นักเรียนเป็นเจ้าของโดยตรงเพราะเด็กอาจจะนำไปขายได้ แต่หากให้โรงเรียนก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของทางโรงเรียนเอง

          อย่างไรก็ตาม การแจกแท็บเล็ตให้แก่โรงเรียนจะเริ่มได้เมื่อใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการจัดทำเนื้อหา หากทำเสร็จได้เร็วก็จะเริ่มแจกได้ทันที



[26 สิงหาคม] รมว.ศธ.แจงแท็บเล็ต ป.1 เหมือนของเล่นเด็ก

          "วรวัจน์" แจงอภิปรายในสภาแจกแท็บเล็ตยึดความพร้อม ครูโรงเรียนไหนพร้อมให้ยกมือขึ้น ส่วนแท็บเล็ตของเด็ก ป.1 เหมือนเป็นของเล่น ไม่ได้ไฮเทค ปฏิเสธไม่ได้ยกเลิกวิทยฐานะครู เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการประเมิน ให้ผู้ปกครองมาประเมินครูแทนทำผลงานเล่มหนา ๆ ด้าน อาจารย์จุฬาฯ ชี้ของจริงทำยาก แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

          เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวชี้แจงกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้อภิปรายพาดพิงนโยบายด้านการศึกษา ว่า ดำเนินการไม่เหมาะสม อาทิ นโยบายซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียน ฟื้นกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) และเรื่องการยกเลิกการประเมินผลงานวิทยฐานะ ว่า สำหรับเรื่องแท็บเล็ตตนได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาอยู่ว่าจะแจกอย่างไร อาทิ แจกโดยยึดความพร้อมของโรงเรียน ครู และนักเรียน ถ้าโรงเรียนหรือนักเรียนไหนพร้อมก็แจกได้เป็นต้น ทั้งนี้ ตนก็ยังได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สอบถามไปยังโรงเรียนทั่วประเทศว่า ใครพร้อมหรือต้องการจะรับแท็บเล็ตบ้าง

          รมว.ศธ.กล่าวว่าอีก ส่วนกรณีที่มีการอภิปรายพาดพิงว่าการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 นั้นไม่เหมาะ ตนก็ขอชี้แจงว่าแท็บเล็ตที่จะให้นักเรียนชั้น ป.1 ไม่ได้มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่สูง เพราะจะยึดเหมาะสมกับเด็กในวัยนี้เหมือนเป็นของเล่น ส่วนระดับชั้นอื่นก็จะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงชั้นด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูที่ตนจะยกเลิกแล้วให้ผู้ปกครองเข้ามาประเมินข้าราชการครูที่ยื่นขอวิทยฐานะแทนนั้น ก็เป็นเพราะต้องการให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนในการประเมิน ซึ่งจะสามารถบอกผลได้ดีที่สุดกว่ากรรมการที่เป็นใครก็ไม่ทราบและไม่เคยอยู่ ในชุมชนมาก่อน

          "การประเมินวิทยฐานะแนวทางใหม่ที่อยากให้ปรับนั้น เน้นประเมินจากผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์ที่ออกมา ซึ่งต่อไปข้าราชการครูไม่ต้องทำผลงานเล่มหนา ๆ หรือต้องไปเสียเงินจ้างคนอื่นทำนับแสนบาท เพราะผมจะลดการทำผลงานที่เป็นเอกสารให้น้อยที่สุด เบื้องต้นผมก็ได้มอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ไปพิจารณาเพื่อจัดทำเกณฑ์การประเมินใหม่แล้ว ถึงแม้อาจต้องแก้กฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องก็จะต้องดำเนินการ และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นอกจากนี้ จากการรับฟังความเห็นของข้าราชการครูก็สะท้อนออกมาว่า การทำผลงานวิทยฐานะทำให้ไม่ค่อยมีเวลาในการเรียนการสอน" นายวรวัจน์ กล่าว

          นายศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายที่จะให้ผู้ปกครองนักเรียนเป็นผู้ประเมินผลงานวิทยฐานะข้าราชการครูว่า นโยบายดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาครูที่ใช้เวลาสอนไปทุ่มเททำผลงานเพื่อขอวิทยฐานะได้ เพราะครูบางกลุ่มอาจจะใช้ช่องทางดังกล่าวหันไปหาเสียงสนับสนุนจากผู้ปกครองแทน ทั้ง ๆ ที่ควรจะยึดการทุ่มเทในการสอนเป็นหลัก ทั้งนี้ ส่วนของเกณฑ์การประเมินโดยใช้ผู้ปกครองเป็นผู้ประเมินนั้น อาจมีปัญหาเรื่องมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ รวมถึงมีมิติเดียวในการประเมิน ดังนั้น แนวคิดดังกล่าวไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

          "เป็นเรื่องที่ดีที่จะให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนในการประเมินครู แต่น่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดระบบการประเมินตอนนี้ เพราะปัญหาครูทุ่มเทเรื่องเอกสารผลงานจนละเลยเด็ก ก็ต้องแก้กันให้ตรงจุด อีกทั้งผู้ปกครองบางคนอาจจะมีมุมมองเพียงมิติเดียวคือมองที่บุตรหลานตัวเอง จึงไม่น่าจะเพียงพอในการใช้ประเมิน และนอกจากนี้เรื่องแนวทางในการประเมินต้องตอบโจทย์เรื่องอคติส่วนตัวของผู้ปกครองและปัญหาด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน จึงจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ"



[24 สิงหาคม] รุมสับแจกแท็บเล็ต ป.1 พัฒนาการไม่ถึง

 

           วงเสวนานักวิชาการรุมสับนโยบายแจกแท็บเล็ตเด็ก ป.1-ป.3 ไม่เหมาะสม พัฒนาการอ่าน-เขียนไม่ถึงขั้น ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ชี้ควรเป็นชั้น ป.4 แทน หนุนให้ใช้การยืมแทนแจก จะได้ประหยัดงบ  "อำนวย" ตอกรัฐบาลคงลืมไปว่าเด็ก ป.1 ถือแท็บเล็ตกลับด้านอาจโดนปล้นได้ แนะลงทุนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจะดีกว่า หลาย รร.ยังขาดแคลน

           เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เครือข่ายนักวิชาการและแผนการจัดการความปลอดภัยในเด็ก ได้จัดเสวนารามาธิบดีเพื่อสุขภาพเด็กไทยเรื่อง "มองรอบด้านเด็กไทยกับไอที" ในหัวข้อนโยบายแจกแท็บเล็ต (One Tablet Per Child) ของรัฐบาล เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็กอายุ 7-8 ขวบหรือไม่

           ซึ่งภายในวงเสวนามีผู้เข้าร่วมเสวนากว่า 100 คน โดย  รศ.พญ.นิตยา คชภักดี ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก แห่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนไม่สนับสนุนให้รัฐบาลแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนระดับชั้น ป.1 หรือทั้งช่วงชั้นที่ 1  (ชั้น ป.1-ป.3) เพราะพัฒนาการของเด็กยังไม่ถึง ทั้งทักษะการใช้ภาษาที่ยังไม่คล่อง และการพัฒนาของสมองที่ยังไม่เต็มที่ ซึ่งอาจทำให้เด็กไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

           ทั้งนี้ เพราะเด็กในช่วงชั้นดังกล่าวต้องเรียนรู้จากการได้ปฏิบัติเป็นหลัก  อาทิ การออกกำลังกาย และการได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าพัฒนาการของเด็กชั้น ป.4 น่าจะเป็นวัยที่เหมาะที่สุดในการได้รับแท็บเล็ต  เพราะเป็นวัยที่กำลังเริ่มเรียนรู้ทักษะพื้นฐานได้บ้างแล้ว อาทิ อ่านเขียนคล่องแล้ว ซึ่งเด็กก็จะสนุกกับการเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนอีกด้วย

           "ไม่ใช่ว่าเด็กชั้น ป.1 จะมีพัฒนาการไม่ถึงจนใช้แท็บเล็ตไม่ได้ แต่เด็กในวัยนี้ควรจะให้จับและดูแท็บเล็ตนิดหน่อยก็พอ เพราะเด็กต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นหลักเพื่อการเจริญเติบโตทั้งสมองและร่างกายไปพร้อมๆ กัน จะได้ไม่มีปัญหาการเจริญเติบโตตามมา ดังนั้น ผมจึงสนับสนุนให้แจกเด็กชั้น ป.4 จะดีกว่า" ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์กล่าว และว่า นอกจากนี้ตนยังเสนอให้รัฐบาลใช้นโยบายยืมแทนแจกแท็บเล็ต และไม่จำเป็นที่จะต้องจัดซื้อให้นักเรียนครบทุกคน เพราะสามารถเรียนร่วมกันได้ เพื่อจะได้นำงบที่เหลือไปพัฒนาส่วนอื่น ๆ

           นายอภิวัฒนเดช ดอนโหน่งชา ประธานสภาเด็กและเยาวชน กรุงเทพฯ  กล่าวว่า ตนขอเสนอให้รัฐบาลใช้นโยบายยืมแทนแจกแท็บเล็ตไปก่อน โดยให้ใช้ในเวลาเรียนเท่านั้น พอเวลากลับบ้านก็ต้องคืนโรงเรียน เพื่อเด็กจะได้เกิดความอยากมาโรงเรียน เพราะต้องการอยากเรียนรู้เทคโนโลยี นอกจากนั้นยังช่วยป้องกันเรื่องการสูญหายด้วย เบื้องต้นอาจเป็นโครงการระยะสั้นประมาณ 1 ปีก็ได้ แล้วค่อยประเมินว่าได้ผลดีหรือไม่ ทั้งนี้ สำหรับการจัดซื้อก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแจกให้นักเรียนทุกคนทุกชั้น เพราะแท็บเล็ตอาจเรียนร่วมกันได้ อาทิ เรียนวิชาที่ใช้แท็บเล็ตเสร็จก็คืนโรงเรียนให้เพื่อนห้องอื่น หรือนักเรียนชั้นอื่นใช้ต่อได้  เพื่อจะได้ประหยัดงบ เพราะหากว่าลงทุนไปแล้วไม่ได้ผลดีอย่างที่คิด ก็จะได้ไม่เสียงบมากอย่างเปล่าประโยชน์

           วันเดียวกัน นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ  กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวว่า นโยบายเรื่องนี้ยังต้องมีการทบทวนในหลายด้านประกอบกัน อาทิ ทบทวนว่าตั้งแต่มีการใช้เทคโนโลยีด้านไอทีเข้ามาประกอบการเรียนการสอนแล้ว นักเรียนมีพัฒนาการด้านการเรียนดีขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ เท่าที่ทราบผลการเรียนของนักเรียนในภาพรวมก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่ยังใช้เครื่องมือผิดประเภท รวมถึงใช้เฉพาะด้านมืดหรือด้านลบของอุปกรณ์ไอที

           "แท็บเล็ตอาจจะเป็นดาบสองคม ที่คมทั้งสองด้านพุ่งเข้าหาตัวเด็ก อาทิ  ในบางพื้นที่ในต่างจังหวัด หากแจกเด็กชั้น ป.1 ถือกลับบ้าน เด็กคนนั้นจะมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าติดตัว อาจจะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่แทบไม่ต้องใช้กำลังบังคับเด็กกลุ่มนี้เลย ซึ่งรัฐบาลต้องคิดถึงนโยบายนี้ในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่จะขอบคุณยิ่งกว่า หากออกมาบอกว่านโยบายแจกแท็บเล็ตเป็นเรื่องที่พลั้งปากไป และหันไปพัฒนาคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะให้ครบทุกโรงเรียนก่อนน่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่า" นายอำนวย กล่าว

[25 กรกฎาคม] สสวท. แนะแจกแท็บเล็ต ยกเว้นเด็กบ้านรวย

        สสวท. แนะไม่ต้องแจกแท็บเล็ตให้เด็กทุกคน บ้านรวยไม่ต้อง และต้องให้มีคนดูแลเด็กใกล้ชิดด้วย

       
นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แสดงทัศนะต่อนโยบายแจกแท็บเล็ตของพรรคเพื่อไทย ว่า การแจกแท็บเล็ตกับคนทั่วประเทศ  ควรต้องดูระดับการศึกษา ความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม เด็กในระดับมัธยมศึกษาจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง แต่เด็กในระดับประถมศึกษา ไม่ควรให้เข้าเรียนรู้ด้วยตนเอง ต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญครูต้องมีความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีเป็นอย่างดีและไม่จำเป็นต้องแจกแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนทั้งหมด ควรเลือกเฉพาะเด็กที่ผู้ปกครองไม่สามารถหาเงินมาซื้อแท็บเล็ตได้เท่านั้น

       
สำหรับหลักสูตรการศึกษาคอมพิวเตอร์นั้น ต้องเอื้ออำนวยให้ครูทุกคนศึกษาในเรื่องของการเขียนโปรแกรม
คอมพิวเตอร์ และส่งเสริมเยาวชนให้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ต้องจัดอบรมครูในเรื่องนั้น ๆ ด้วย เพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องของการศึกษา โดยเริ่มจากสถานศึกษาต่าง ๆ เปลี่ยนระบบเวลาการเรียนการสอนใหม่

        
นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ล่าสุดจัดขึ้นที่พัทยา จ.ชลบุรี โดยเป้าหมายสำคัญของการแข่งขันก็เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์และส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงการเรียนการสอน ทั้งนี้ เพื่อสร้างโปรแกรมเมอร์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูง เพื่อรองรับความจำเป็นในการพัฒนาประเทศซึ่งยังขาดแคลนคนเก่งทางด้านนี้


 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไอซีทีเตรียมลงนามซื้อแท็บเล็ต 5 เม.ย.นี้ อัปเดตล่าสุด 3 เมษายน 2555 เวลา 16:30:26 1,377 อ่าน
TOP