x close

เด็กยุคใหม่ หนีบหนังสือ หรือแท็บเล็ต อะไรดีกว่ากัน

แท็บเล็ต tablet



เด็กยุคใหม่..หนีบหนังสือ หรือแท็บเล็ต อะไรดีกว่ากัน? (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้องมูล


          ท่ามกลางบรรยากาศการรอลุ้นการทำงานของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง และทำตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาตอนหาเสียงไว้หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร และหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นนโยบาย "One Tablet PC Per Child" ที่ประกาศกันก่อนได้รับการเลือกตั้ง ว่าจะแจกคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปให้แก่เด็กนักเรียนทุกคน  

          สอดคล้องกับกระแสของยุคแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่เรียกได้ว่าเป็นแบบ 3G wifi ที่ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในประเทศก็สามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์ได้ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และความสนใจร่วมกันได้อย่างง่ายดาย ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งต่างเตรียมพร้อมรับมือกับกระแสนวัตกรรมเหล่านี้แล้ว บางแห่งถึงกับแจกไอแพด (iPad) ให้แก่เด็กที่มาเข้าเรียนในสถาบันของตนเอง หรือแม้กระทั่งในต่างชาติเอง อย่างในอังกฤษ และญี่ปุ่น ก็ได้เริ่มการปฏิวัติการศึกษาด้วยการนำร่องการศึกษาในรูปแบบใหม่ของโลก ผ่านการใช้คอมพิวเตอร์พกพาและไอแพด

          เรียกได้ว่าขณะนี้โฉมหน้าของการศึกษาไทยและการศึกษาโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นแบบปัจจุบันทันด่วนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสืบค้นข้อมูลในสิ่งที่ไม่รู้มาประกอบการทำรายงานก็สามารถเปิดหาได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่เชื่อมต่อแหล่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์ Google หรือ Wikipedia ก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเพียงไม่ถึง 10 นาที ต่างจากเดิมที่อยากรู้อะไรก็ต้องเข้าไปที่ห้องสมุด เปิดหาอ่านตำรับตำราหลายสิบเล่มอยู่หลายชั่วโมงกว่าจะได้ข้อมูลที่ต้องการ หรือแม้กระทั่งการเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะต่างๆ ด้านวิชาการ ดนตรี ศิลปะ ก็สามารถทำได้ง่ายดายผ่านการเรียนรู้จากโปรแกรมต่างๆ ผิดกับสมัยก่อนที่อยากรู้เรื่องอะไรก็ต้องไปศึกษากับผู้รู้ในแขนงนั้น

          ไม่แน่ในอนาคตอีก 20-30 ปีต่อจากนี้ เด็กๆ รุ่นใหม่ที่เข้ามาในระบบการศึกษาอาจจะไม่ต้องใช้ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด ปากกา สมุด หนังสือ แล้วก็เป็นได้ เหลือเพียงแต่ปุ่มกดจากแป้นคีย์บอร์ดเท่านั้น หรืออาจรวมไปถึงห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือมากมายก็คงหายไป เหลือเพียงแต่หนังสือที่อ่านได้จากจอสี่เหลี่ยมเท่านั้น

          ผู้เชี่ยวชาญด้านวัยรุ่น อย่าง นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และผู้จัดการแผนงานสุขภาพเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ความเห็นต่อการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ผ่าน Tablet PC หรือ iPad ว่า ในเวลานี้ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้พัฒนาการเรียนการสอนของเด็กในยุคต่อไปผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเหล่านี้ เพราะเด็กเอง ถ้าเป็นเด็กโต ไม่ช้าก็เร็วพวกเขาก็จะเข้าไปสู่การเรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปรีบร้อนปลูกฝัง 

          คุณหมอสุริยเดวกล่าวต่อว่า ส่วนในเด็กเล็กที่กำลังจะมาเข้าสู่ระบบการเรียนด้วยคอมพิวเตอร์นั้น ยังเป็นวัยที่เรียกได้ว่ายังไม่มีความนิ่ง หากพ่อ แม่ หรือครู ดูแลไม่ทั่วถึง รวมทั้งเด็กนำไปใช้ไม่ถูกจุดประสงค์ที่แท้จริง อาจส่งผลให้ปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ อย่างปัญหาเด็กติดเกมที่มีมากพออยู่แล้วในเวลานี้ ยิ่งถ้าไปเสริมเขาด้วยคอมพิวเตอร์เหล่านี้ ในอนาคตพวกเขาอาจเล่นแต่เกมอยู่กับบ้านไม่ยอมออกไปไหนไปทำอะไรเลยก็เป็นได้ รวมทั้งปัญหาการดูแลรักษาสิ่งของ เนื่องด้วยเด็กเล็กนั้นยังเป็นเด็กที่ไม่มีวุฒิภาวะมากพอ ความคิดในแง่ตรรกะ เหตุผลรองรับ การยับยั้งชั่งใจ และทักษะการคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองนั้นยังคงน้อยอยู่ สอดคล้องกับผลวิจัยของต่างชาติที่ระบุว่า ในบ้านเราพ่อแม่มักเลี้ยงลูกแบบให้เป็นลูกแหง่ ทำสิ่งต่างๆ ให้ลูกจนหมด จนเด็กคิดเองไม่เป็น

          ผู้เชี่ยวชาญด้านวัยรุ่นยังได้เน้นย้ำด้วยว่า การเรียนหนังสือที่ใช้แต่คอมพิวเตอร์แทนปากกา ดินสอ กระดาษ สมุด หนังสือ จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็กในสังคมอย่างแน่นอน เพราะการได้ศึกษาที่ได้สัมผัสจากของจริงจะทำให้เด็กมีความรอบคอบ เห็นอกเห็นใจคน มากกว่าจับแต่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมทั้งการเรียนจากของจริงก็ช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจได้หลายวิธีด้วยกัน อย่างการทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือออกนอกห้องเรียนไปศึกษาทางธรรมชาติ


          "หากจะปรับเปลี่ยนวิถีการเรียนรู้แบบเดิมขับเคลื่อนไปสู่การเรียนรู้แบบเทคโนโลยีในเวลานี้นั้น ควรเริ่มจากการทำและศึกษาจากกลุ่มโมเดลต้นแบบเสียก่อน โดยกำหนดให้มาจากการมีส่วนร่วมกันตั้งแต่เด็กผู้ใช้งานไปจนถึงพ่อ แม่ ครอบครัว ครู และชุมชน ให้เห็นจริงๆ ว่าผลกระทบต่อการเรียนรู้แบบใหม่กับแบบเดิม มีผลดีและผลเสียต่างกันอย่างไร และมาพัฒนา ศึกษาปรับวิธีการใช้งาน การเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กไทยเราให้มากที่สุด"  

          คุณหมอสุริยเดวยังบอกด้วยว่า การเรียนรู้ด้วยการอ่านหนังสือเล่มจะทำให้เด็กมีนิสัยละเมียดละไม รวมทั้งเกิดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน พ่อ แม่ คนรอบข้าง และผู้เขียนหนังสือได้มากกว่าการอ่าน การเรียนรู้ในรูปแบบ e-book ที่ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างแค่เด็กกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น

          "พฤติกรรมการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่มาจากการใช้โปรแกรมช่วยในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมทั้งการใช้สืบค้นหาข้อมูลของเด็กในยุคใหม่นี้ แม้จะเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์ และตัดทอนในเรื่องความลำบากออกไป แต่จะส่งผลให้เด็กยุคใหม่มีชีวิตที่เต็มไปด้วยปุ่มกด คุ้นชินกับการทำสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว มีการใช้ชีวิตที่เรียกว่า Fastlife ซึ่งจะนำสู่การทำให้กลายเป็นคนที่มีนิสัยรอไม่ได้ และไม่สามารถเบรกอารมณ์ตัวเองได้

          ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต ก็ได้เล่าว่า สิ่งที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กมีอยู่หลายด้าน เช่น สุขภาพกายที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งพ่อ แม่ และคนรอบข้าง เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นความทรงจำที่จะไปกระตุ้นการคิด วิเคราะห์ โดยเฉพาะพ่อ แม่ ที่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี และสร้างบรรยากาศที่ดี โดยแสดงให้เห็นว่าเด็กมีความสำคัญ ซึ่งจะทำให้เด็กมีแรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งดีๆ ให้พ่อ แม่ และตัวเองภูมิใจด้วย

          นอกจากนี้ พัฒนาการของเด็กวัยประถม การเรียนในห้องถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมีทั้งเพื่อน คุณครู ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี เป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม จริยธรรมของการช่วยเหลือแบ่งปัน นอกจากนี้ การได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง เช่น กระตุ้นให้เกิดการสงสัย การคิด การชวนหาคำตอบในเรื่องต่างๆ ร่วมกัน ขณะเดียวกันหากเด็กมีข้อสงสัยก็จะมีบรรยากาศของการปรึกษาหารือ ซึ่งตรงนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่สูงขึ้น 

          คุณหมออัมพรยังบอกเราด้วยว่า การเข้ามาของเทคโนโลยี ด้วยความที่ทันสมัย ถูกปรุงแต่งให้ตอบสนองความต้องการได้ง่ายขึ้น เช่น การเรียนภาษาอังกฤษจากเทคโนโลยีจะดีกว่าที่ครูสอน เพราะสามารถควบคุมได้ และมีความแม่นยำมากกว่า แต่เทคโนโลยีอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของทักษะทางสังคม เพราะเทคโนโลยีไม่รู้ว่าทักษะการสื่อสารกับคนต้องมีท่าทีที่อ่อนโยนแบบใด มีวิธีติดตามอย่างไร ในขณะที่ครูสามารถเห็นความตั้งใจ สมาธิ วิธีการสื่อสาร มารยาท ค่านิยมของเด็ก สิ่งเหล่านี้จะถูกดึงออกมาผสมผสานได้ครบถ้วนกว่า 

          "การใช้เทคโนโลยีมากๆ แทนที่จะคิด วิเคราะห์ จดจำสูตรต่างๆ ด้วยตัวเอง จะทำให้หวังพึ่งเพียงเทคโนโลยีจนกลายเป็นการพึ่งพิงมากเกินไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ความคิด การวิเคราะห์ ความฉับไวของสมองลดลง ตรงนี้ความครบถ้วนของการใฝ่รู้ใฝ่เรียนก็จะหดหายไปเรื่อยๆ เป็นการปิดกั้นพัฒนาการของตัวเอง กลายเป็นว่าเทคโนโลยีได้เข้ามาทำลายเด็ก"

          ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิตยังกล่าวอีกว่า เมื่อหลายปีก่อนมีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้จากสื่อประเภทตู้สี่เหลี่ยมและคอมพิวเตอร์ ข้อมูลที่สรุปแบบเข้าใจง่าย คือ หากเด็กมีการใช้คอมพิวเตอร์เฉลี่ยเกินวันละ 2 ชั่วโมงจะเริ่มมีปัญหา ทำให้ความสนใจในการอ่าน การเขียนของเด็กลดลง และสิ่งที่น่ากลัวคือ เรื่องทักษะทางสังคมของเด็กจะด้อยลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นต้องไม่ลืมว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนอาจมีพื้นฐานที่ดีจึงไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ตามมา 

          "เทคโนโลยีส่งเสริมให้การพัฒนาบางด้านทำได้ง่าย ลึกซึ้งครบถ้วนขึ้น ถ้าเราสามารถแยกแยะและกำหนดกรอบจากการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เราจะได้กำไรจากเรื่องนี้มากเลย" พญ.อัมพรกล่าว 

          ดูเหมือนว่าในมุมมองของผู้ใหญ่และผู้เคยสัมผัสกับเด็กจะเห็นในมุมเดียวกัน ถึงคุณและโทษของการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ของเด็ก เช่นเดียวกับ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ที่เคยกล่าวในงานเปิดตัวงานมหกรรมสัปดาห์หนังสือเด็กและเยาวชนแห่งชาติครั้งล่าสุดที่เพิ่งจบไปหมาดๆ ว่า อยากสนับสนุนให้เด็กไทยเรียนรู้โดยการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ มากกว่าการเรียนรู้จากคอมพิวเตอร์หรือไอแพด ที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองมักจะคิดว่าเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่ทันสมัย แต่อีกแง่หนึ่ง หากเด็กเรียนรู้ผ่านเครื่องมือพวกนี้ที่รวดเร็วทันใจ อาจจะมีผลทำให้เด็กกลายเป็นคนใจร้อน ฉุนเฉียวง่าย และรออะไรไม่เป็นได้ในอนาคต 

          "ดิฉันคิดว่ายังไงการอ่านหนังสือก็ยังดีกว่า ตรงที่จะทำให้เด็กเป็นคนละเมียดละไม เด็กจะจดจำภาพ เนื้อหาในหนังสือได้ตราตรึง และอยู่ในความทรงจำนานกว่าการอ่านหรือดูเนื้อหาในคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ รูปภาพในหนังสือที่เด็กได้เปิดดูบ่อยๆ ก็จะทำให้เขาเกิดจินตนาการ ซึ่งตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาไปตลอดจนถึงตอนเป็นผู้ใหญ่" คุณหญิงกษมากล่าว

          การศึกษาในรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่ดีกว่าการเรียนในแบบเดิมที่เราคุ้นเคยกัน ก็ไม่มีใครอาจรู้ได้ แต่ที่แน่ๆ คือการเตรียมพร้อมตั้งรับกระแสของเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตเรามากขึ้น รวมทั้งการตั้งรับในการเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน รู้จักการใช้งาน ใช้ประโยชน์สิ่งเหล่านี้อย่างถูกวิธีโดยไม่ถูกครอบงำ เพื่อที่ต่อไปมนุษย์เราจะได้ไม่ต้องตกเป็นทาสของเทคโนโลยี.


ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็กยุคใหม่ หนีบหนังสือ หรือแท็บเล็ต อะไรดีกว่ากัน อัปเดตล่าสุด 24 กรกฎาคม 2554 เวลา 17:48:10
TOP