
โอเน็ตเลื่อนชั้นเริ่มปี55 ป.6ภาษาไทยต้องผ่าน (ไทยโพสต์)
สพฐ.จัดเสวนาเพิ่มค่าโอเน็ต เล็งใช้โอเน็ตให้มีผลต่อการเลื่อนชั้น ป.6, ม.3 ในปี 55 โดยเฉพาะ ในส่วนของ ป.6 วิชาภาษาไทย ต้องได้คะแนนมากกว่า 40% ขึ้นไปถึงจะเลื่อนชั้นได้ หลังล่าสุดพบนักเรียนได้คะแนนต่ำถึง 6 แสนคน ขณะที่ "สมพงษ์" เสนอให้ รร.ทำเอ็มโอยูกับเขตพื้นที่ฯ หวังให้ผูกมัดเอาโทษครู หากคะแนนตกต่ำ ชี้ สทศ.ไม่ควรออกข้อสอบหน่วยงานเดียว แต่ควรให้ครูแต่ละกลุ่มมีส่วนร่วม
ในการประชุมเสวนาหน่วยงานทางการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิครั้งใหญ่ เรื่อง "การใช้โอเน็ตเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพทางการศึกษาทั้งระบบ" นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หวังจะเพิ่มความสำคัญการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (โอเน็ต) จึงได้จัดประชุมดังกล่าวขึ้น ผลการประชุมเบื้องต้นตั้งเป้าว่า ในปีการศึกษา 2555 จะนำผลคะแนนการสอบโอเน็ตมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเลื่อนชั้นในระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 พร้อมกันนี้ยังมีการเสนอให้ใช้สัดส่วนโอเน็ตของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทยในชั้น ป.6 ให้สูงกว่า 40% ถึงจะได้เลื่อนชั้นขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งหากนักเรียนคนใดคะแนนไม่ถึงตามเกณฑ์ จะต้องมีการเรียนซ่อมเสริมจนกว่าจะผ่านเกณฑ์ แม้จะย้ายโรงเรียนไปแล้วก็ตาม
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ในปีการศึกษาที่ผ่านมา มีนักเรียนประมาณ 6 แสนคน ได้คะแนนวิชาภาษาไทยในการสอบโอเน็ตต่ำกว่า 40% ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่จะใช้แนวทางในการยกระดับค่าเฉลี่ยโอเน็ตให้เพิ่มขึ้น อาทิ อาจจะต้องมีการเรียนการสอนเพิ่มเติมในช่วงปิดภาคเรียน อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ต้องการเชื่อมต่อกระบวนการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดเป็นห่วงโซ่คุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กที่ลดลงนั้น สพฐ.จะนำมาเป็นบทเรียนเพื่อนำกลับมาทวนเนื้อหาสาระการออกข้อสอบ รูปแบบข้อสอบ การเตรียมพร้อมให้นักเรียนคุ้นเคยกับวิธีการสอบ และการจัดชุดข้อสอบ
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ภาควิชาครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวทางใช้โอเน็ตเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพการศึกษา และเป็นตัวขับเคลื่อนในการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต้องไม่ต่ำกว่า 50% ในปีถัดไป โดยโรงเรียนต้องทำข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) กับเขตพื้นที่การศึกษา ว่าจะยกระดับคุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียนให้สูงกว่ามาตรฐานของโรงเรียน โดยระบุแนวทางและระดับการจัดการที่ชัดเจน โดยต้องสามารถดึงครูและผู้บริหารกลับมาให้ความสนใจต่อการจัดการเรียนการสอน เพราะมีพันธสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้ต้องใส่ภาวะกดดันตามธรรมชาติลงไป ซึ่งจะทำให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อการสอบโอเน็ตยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเสนออีกว่า ข้อสอบโอเน็ตจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของผู้สอนแต่ละกลุ่ม รวมถึงความหลากหลายของเด็กต้องมีส่วนร่วมในการออกข้อสอบด้วย ทั้งนี้ การออกข้อสอบระดับประเทศไม่ควรที่จะให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้ออกโดยไม่คำนึงถึงข้อนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าสถิติผลการสอบโอเน็ตระดับชั้น ป.6 วิชาภาษาไทย ปีการศึกษา 2553 ค่าเฉลี่ยกลางอยู่ที่ร้อยละ 31.22 โดยจากนักเรียนทั้งหมดที่สอบ 805,099 คน มีผู้ได้คะแนนระหว่างร้อยละ 0-40 รวม 613,733 คน ส่วนนักเรียนที่ได้คะแนนสูงกว่าร้อยละ 40 มีจำนวน 191,366 คน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
