x close

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติคณะรัฐศาสตร์ 
 
          คณะรัฐศาสตร์  มีเค้ากำเนิดมาตั้งแต่โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้ยกเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ในสมัยรัชกาลที่ 6 จนกระทั่งเป็น 1 ใน 4 คณะแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อว่า "คณะรัฐประศาสนศาสตร์" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์" 

          ในปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ให้โอนคณะดังกล่าวไปขึ้นต่อ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ (ต่อมาภายหลัง คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถูกโอนไปเป็นส่วนหนึ่งของ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) 

          ครั้นวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2491 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้ง คณะรัฐศาสตร์ได้พัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน บุกเบิกความเป็นสมัยใหม่ทางวิชาการ ไม่เฉพาะในสาขารัฐศาสตร์ แต่ในสาขาสังคมศาสตร์อื่น ๆ ด้วย จนกระทั่งบางสาขาพัฒนามาก จึงจำเป็นต้องแยกเป็นคณะต่างหาก คือ คณะเศรษฐศาสตร์ และ คณะนิติศาสตร์

สัญลักษณ์

          สัญลักษณ์ประจำคณะ ได้แก่ "สิงห์ดำ" โดย "สิงห์" หมายถึง ผู้ปกครองดั่งราชสีห์ผู้เป็นจ้าวแห่งป่า และ "สีดำ" หมายถึง สีแห่งศอของพระศิวะที่ดื่มยาพิษเพื่อปกป้องมวลมนุษย์ ดังนั้น สิงห์ดำ จึงมีหมายความว่า การเป็นนักปกครองจะต้องเสียสละเพื่อมวลชน

หลักสูตร

          คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์แบ่งออกเป็น 4 ภาควิชาได้แก่

          ภาควิชาการปกครอง  (Department of Government)

          รับผิดชอบสอนและวิจัยในด้านหลักวิชารัฐศาสตร์ อันได้แก่ ปรัชญาและทฤษฎีการเมือง การเมืองเปรียบเทียบ กระบวนการทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และการเลือกตั้ง กฎหมายและนโยบายสาธารณะ การเมืองการปกครองของไทย การเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่นและเปรียบเทียบการพัฒนาทางการเมือง สภาพและปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครองโดยเน้นทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ

          นอกจากนี้คณะรัฐศาสตร์ยังมีการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม โดยมีส่วนในการให้การฝึกและอบรม เผยแพร่ความรู้ด้านรัฐศาสตร์แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เป็นของราชการและเอกชน ตลอดจนแก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย

          ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Department of International Relations)

          รับผิดชอบสอนและวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในชั้นปริญญาบัณฑิต และมหาบัณฑิต โดยให้ความรู้เกี่ยวกับด้านนี้รวม 5 แขนงด้วยกัน คือ ประวัติศาสตร์ ระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศและการทูต รวมตลอดถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับต่างประเทศของไทย นอกจากนี้แผนกวิชายังกำหนดให้นิสิตศึกษาการปกครองและการเมืองของประเทศต่างๆ ที่น่าสนใจในปัจจุบันและให้เลือกศึกษาภาษาต่างประเทศเพื่อให้สามารถมีความรู้ ความเข้าใจและค้นคว้าในขอบเขตที่กว้างขวางออกไปได้ด้วยเช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น รวมทั้งยังได้จัดการสัมมนาและอภิปรายในปัญหาที่น่าสนใจตามแต่โอกาสจะอำนวย เช่น ปัญหา ASEAN นโยบายต่างประเทศของไทยและของเพื่อนบ้าน 

          ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (Department of Sociology and Anthropology)

          รับผิดชอบสอนและวิจัยเกี่ยวกับวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาสังคม ประชากรศาสตร์ อาชญาวิทยา การบริหารงานสังคมสวัสดิการ และการวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยมุ่งให้ผู้ศึกษามีความรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง อันเป็นรากฐานของชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคม ตลอดจนการพัฒนาในด้านต่างๆ

          ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์  (Department of Public Administration)

          รับผิดชอบในการสอนและการวิจัย ซึ่งเน้นหนักในด้านการบริหารงาน โดยแยกออกเป็น 3 สาขาวิชา คือ สาขาการริหารงานทั่วไป สาขาการบริหารการคลัง และสาขาบริหารบุคคล วิชาการที่สอนเน้นทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้นิสิตที่สำเร็จการศึกษาสามารถออกไปปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชนได้อย่างมีสมรรถภาพสูง

การคัดเลือกผู้เข้าศึกษา

          สอบคัดเลือกโดยผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ระบบการศึกษา

          ใช้ระบบการศึกษาแบบทวิภาค  ปีการศึกษาหนึ่ง ๆ มี  2  ภาคการศึกษา (Semester) คือภาคการศึกษาต้นและภาคการศึกษาปลาย  และมีภาคฤดูร้อน (Summer Session)  ต่อจากภาคการศึกษาปลายอีก  1  ภาค  ภาคการศึกษาหนึ่งๆ มีระยะเวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์  ส่วนภาคฤดูร้อนมีระยะเวลาการศึกษาประมาณ 6  สัปดาห์

ระยะเวลาการศึกษา

          หลักสูตร 4 ปี   มีระยะเวลาการศึกษาไม่ต่ำกว่า 7 ภาคการศึกษาและไม่เกิน 16 ภาคการศึกษา

ลักษณะของผู้ที่เหมาะสมจะเรียนในคณะนี้

          มีความสนใจในด้านสังคมศาสตร์ และสนใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม

กิจกรรมที่น่าสนใจภายใน  คณะรัฐศาสตร์  จุฬาฯ  

          โครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์

          ฝ่ายวิชาการ สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์  จุฬาฯ  จัดโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ ในช่วง พฤศจิกายน ของทุกปี เพื่อเผยแพร่ความรู้ และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตย โดยเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน  กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งเป็นผู้ที่กำลังจะมีสิทธิเลือกตั้ง อันถือเป็นกลุ่มที่สำคัญของการส่งเสริมองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย  โดยมุ่งหวังให้เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการได้ศึกษาเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความคิด เห็นผ่านทางการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างค่าย

          โครงการรัฐศาสตร์แฟร์  

          สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์  จัดโครงการรัฐศาสตร์แฟร์  ณ บริเวณคณะรัฐศาสตร์   จุฬาฯ  โดยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การแสดงความสามารถของนิสิตทางด้านวิชาการ ด้านดนตรีและศิลปะ ในรูปแบบของนิทรรศการ เสวนาวิชาการ โต้วาที การแสดงดนตรี ฯลฯ ควบคู่ไปกับการ ออกร้านขายของ และซุ้มเกม ซึ่งใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดให้นักเรียน นิสิตนักศึกษา และบุคคลทั่วไปสนใจที่จะมาร่วมงานเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตได้แสดงผลงานทางวิชาการ และนำเสนอองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์สู่สังคม รวมทั้งเป็นพื้นที่สาธารณะของความรู้ทางรัฐศาสตร์ 

          โครงการฝึกงานภาคฤดูร้อน

          หน่วยกิจการนิสิต เปิดให้นิสิตชั้นปีที่ 3  ลงชื่อขอฝึกงานในงานของภาครัฐและเอกชนได้ในช่วง เดือน ก.ย. - ต.ค. ของทุกปี


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อัปเดตล่าสุด 6 พฤษภาคม 2554 เวลา 17:05:57 4,547 อ่าน
TOP