x close

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ทันตแพทยศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเรื่องฟัน อวัยวะในช่องปาก และอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหาร ช่วยออกเสียงและส่งเสริมบุคลิกภาพอันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสมบูรณ์ของชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ 

          ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะมีความสามารถในการตรวจวินิจฉัย วางแผน และบำบัดรักษาโรคในช่องปากและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบูรณะเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ อีกทั้งมีความสามารถในการป้องกันโรคฟันผุแก่ชุมชน เผยแพร่ความรู้ทางทันตสุขศึกษา และทำการวิจัยทางด้านทันตแพทยศาสตร์ 

          สำหรับผู้ประสงค์จะประกอบวิชาชีพทางทันตแพทย์ ควรจะมีความรอบรู้ทางวิชาการ และรับผิดชอบต่อสังคมมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี คณะนี้ทำการสอนและวิจัยในระดับปริญญาบัณฑิต หลักสูตร 6 ปี มี 1 สาขาวิชา ได้แก่ ทันตแพทยศาสตร์ เมื่อสำเร็จการศึกษา แล้วจะได้ปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ( ท.บ. ) นอกจากนี้ยังมีการสอนในระดับปริญญามหาบัณฑิต ประกาศนียบัตรบัณฑิต และปริญญาดุษฎีบัณฑิตอีกด้วย

หลักสูตรการเรียนการสอน

          ปริญญาบัณฑิต

          หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (6ปี)

          ปัจจุบันเป็นหลักสูตรฉบับปรับปรุง 2544 และในปีการศึกษา 2550 คณะฯ เริ่มใช้หลักสูตรปรับปรุงใหม่ ที่พัฒนาเพื่อเน้นการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสมรรถนะวิชาชีพ จำนวนนิสิตที่รับเข้าศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตมีประมาณปีละ 140 คน แบ่งเป็น นิสิตภายใต้โครงการจุฬาชนบทและโครงการผลิตบัณฑิตทันตแพทย์เพิ่มของกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 40 คน และนิสิตจากการสอบคัดเลือก ประมาณ 100 คน

          เนื้อหาหลักสูตรประกอบด้วยกลุ่มวิชาหลักๆ ดังนี้

           กลุ่มการศึกษาทั่วไปและกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เรียนในชั้นปีที่ 1 เกี่ยวกับสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สหศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีสารสนเทศ 

           กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์และทันตแพทย์ เรียนในชั้นปีที่ 2-3 เกี่ยวกับลักษณะและหน้าที่รวมทั้งความผิดปกติและโรคของร่างกายมนุษย์ เน้นกะโหลกศีรษะใบหน้า และช่องปาก รวมทั้ง ความรู้พื้นฐานทางจุลชีววิทยา วิทยาภูมิคุ้มกันตลอดจนเภสัชวิทยา 

           กลุ่มวิชาชีพทันตแพทย์ เรียนในชั้นปีที่ 3-6 เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติทางทันตกรรมในห้องปฏิบัติการ และฝึกการดูแลรักษาในผู้ป่วยจริง 

           กลุ่มวิชาเลือก นิสิตสามารถเลือกเรียนในรายวิชาที่ตนสนใจ เพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ชีวิตของตน

บัณฑิตศึกษา

          หลักสูตรบัณฑิตศึกษา
 

           หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (3-6 ปีสำหรับผู้จบปริญญาโท และ 4-8 ปี สำหรับผู้จบปริญญาตรี) 

          เป็นหลักสูตรที่เน้นการวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในเชิงลึกเฉพาะทาง เน้นให้ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาสุขภาพช่องปาก หรือปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชน โดยมีหลักสูตร/สาขาวิชา ดังนี้ 

          (1) วท.ด.ชีววิทยาช่องปาก Ph.D. Oral Biology

          (2) วท.ด.ทันตกรรมประดิษฐ์ Ph.D. Prosthodontics 
   
          (3) วท.ด.ทันตสาธารณสุข (หลักสูตรนานาชาติ) / Ph.D. Dental Public Health (International Program)

          (4) วท.ด.ทันตชีววัสดุศาสตร์(สหสาขาวิชา) / Ph.D. Dental Biomaterial Science (Interdisciplinary field)

           หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (2-4 ปี) 

          เป็นหลักสูตรที่เน้นให้ทันตแพทย์พัฒนาความชำนาญเฉพาะสาขา พัฒนาความรู้ให้ก้าวทันวิทยาการและเทคโนโลยี เพื่อให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ร่วมกับการทำวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมภายในประเทศ โดยมีหลักสูตร/สาขาวิชา ดังนี้

          (1) วท.ม. ชีววิทยาช่องปาก M.Sc. Oral Biology       
          (2) วท.ม. ทันตกรรมประดิษฐ์ M.Sc. Prosthodontics
          (3) วท.ม. ทันตกรรมจัดฟัน M.Sc. Orthodontics
          (4) วท.ม. ทันตกรรมหัตถการ M.Sc. Operative Dentistry
          (5) วท.ม. วิทยาเอ็นโดดอนต์ M.Sc. Endodontics
          (6) วท.ม. ศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล M.Sc. Oralmaxillofacial Surgery
          (7) วท.ม. รังสีวิทยาช่องปากและใบหน้า M.Sc. Oralfacial Radiology
          (8) วท.ม. เวชศาสตร์ช่องปาก M.Sc. Oral Medicine
          (9) วท.ม. ทันตกรรมสำหรับเด็ก M.Sc. Pediatrics Dentistry
          (10) วท.ม. ปริทันตศาสตร์ M.Sc. Periodontics
          (11) วท.ม. ทันตกรรมบดเคี้ยว M.Sc. Occlusion
          (12) วท.ม. ทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงามและทันตกรรมรากเทียม / M.Sc. Esthetic Restorative and Implant Dentistry
          (13) วท.ม. ทันตชีววัสดุศาสตร์(สหสาขาวิชา) / M.Sc. Dental Biomaterial Science (Interdisciplinary Field)

          หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง (1 ปี)เป็นหลักสูตรที่เปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตแล้ว เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพเฉพาะสาขา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถขอสอบอนุมัติบัตรจากทันตแพทยสภาได้ โดยมีหลักสูตร/สาขาวิชา ดังนี้

          (1) ป.บัณฑิตชั้นสูง ทันตกรรมสำหรับเด็ก Higher Grad Dip. Pediatrics Dentistry
          (2) ป.บัณฑิตชั้นสูง บูรณะช่องปากและใบหน้า Higher Grad Dip. Maxillofacial Prosthetics
          (3) ป.บัณฑิตชั้นสูง ฟื้นฟูสภาพฟันทั้งปาก Higher Grad Dip. Fullmouth Rehabilitation

           หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (หลักสูตร 3 ปี) 

          หลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะเฉพาะทางขั้นสูง การวิเคราะห์ วิจัยการรักษาให้เกิดความรู้ใหม่ในการพัฒนาทางทันตกรรม เมื่อสำเร็จการศึกษาก็สามารถสอบอนุมัติบัตรจากทันตแพทยสภาได้) โดยมีหลักสูตร/สาขาวิชา ดังนี้

          (1) ป.บัณฑิตชั้นสูง วิทย์ฯ ทันตกรรมประดิษฐ์ Higher Grad Dip. in Clin. Sci. in Prosthodontics click 
          (2) ป.บัณฑิตชั้นสูง วิทย์ฯ ทันตกรรมจัดฟัน Higher Grad Dip. in Clin Sci. in Orthodontics
          (3) ป.บัณฑิตชั้นสูง วิทย์ฯ ทันตกรรมหัตถการ Higher Grad Dip. in Clin Sci. in Operative Dentistry
          (4) ป.บัณฑิตชั้นสูง วิทย์ฯ วิทยาเอ็นโดดอนต์ Higher Grad Dip. in Clin. Sci. in Endodontics
          (5) ป.บัณฑิตชั้นสูง วิทย์ฯ ปริทันตวิทยา Higher Grad Dip. in Clin. Sci. in Periodontics
          (6) ป.บัณฑิตชั้นสูง วิทย์ฯ วิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก Higher Grad. Dip. in Clin Sci. in Oral Dignostic Science

           การฝึกอบรมทันตแพทย์เฉพาะทางระดับวุฒิบัตร (3 ปี)

          เป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากทันตแพทยสภา เน้นการฝึกทักษะ ความชำนาญและประสบการณ์ทางวิชาชีพเฉพาะสาขา เมื่อจบแล้วผู้เรียนมีสิทธิสมัครสอบวุฒิบัตรได้ โดยมีหลักสูตร/สาขาวิชา ดังนี้

          (1) สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ Specialty Trainning Prog. in Prosthodontics
          (2) สาขาทันตกรรมจัดฟัน Specialty Trainning Prog. in Orthodontics
          (3) สาขาทันตกรรมหัตถการ Specialty Trainning Prog. in Operative Dentistry
          (4) สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์ Specialty Trainning Prog. in Endodontics
          (5) สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล Specialty Trainning Prog. in Oralmaxillofacial Surgery
          (6) สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก Specialty Trainning Prog. in Pediatrics Dentistry
          (7) สาขาปริทันตวิทยา Specialty Trainning Prog. in Periodontics
          (8) สาขาวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก Specialty Trainning Prog. in Oral Dignostic Sugery

           หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (1 ปี)

          สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต มีความต้องการศึกษาเฉพาะด้านเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับภาวการณ์

          (1) สาขาวิชาทันตกรรมประดิษฐ์ Grad Dip. in Clin. Sci. in Prosthodontics
          (2) สาขาวิชาทันตกรรมหัตถการ Grad Dip. in Clin. Sci. in Operative Dentistry
          (3) สาขาวิชาวิทยาเอ็นโดดอนต์ Grad Dip. in Clin. Sci. in Endodontics
          (4) สาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก Grad. Dip. in Clin. Sci. in Oral Surgery
          (5) สาขาวิชาวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก Grad. Dip. in Clin. Sci. in Oral Dignostic Surgery
 
           หลักสูตรนานาชาติ


          วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทันตสาธารณสุข

         
วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงามและทันตกรรมรากเทียม 



 
ระยะเวลาการศึกษา 

          หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ใช้เวลาศึกษาตามปกติ 6 ปี หรือมีระยะเวลาการศึกษาไม่ต่ำกว่า 11 ภาคการศึกษา 

          สำหรับผู้ไม่สามารถ ศึกษาจบตามหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต สามารถได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตรการแพทย์ ตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการให้ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

          สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตหรือทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต โครงสร้างหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ฉบับปัจจุบัน หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2544 (ปรับปรุงมาจากหลักสูตร ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต พ.ศ. 2529) มีหน่วยวิชารวมตลอดหลักสูตร 234 หน่วยกิต แบ่งเป็น 

          + หมวดวิชาการศึกษาทั่วไป 42 หน่วยกิต 

          + หมวดวิชาเฉพาะด้าน 60 หน่วยกิต 

          + หมวดวิชาชีพ 126 หน่วยกิตและหมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต 

          ปีที่ 1 เป็นการศึกษาหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป นิสิตจะศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

          ปีที่ 2-6 เป็นการศึกษาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดย ปีที่ 2-3 จะเน้นหมวดวิชาเฉพาะด้าน 

          ปีที่ 4-6 จะเน้นหมวดวิชาชีพ และทันตกรรมชุมชน ในปีที่ 6 ภาคการศึกษาปลาย นิสิต จะได้ไป ฝึกปฏิบัติงานที่แผนกทันตกรรมของโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานในชุมชน


คุณสมบัติของผู้สมัคร

         
ผู้เข้าศึกษา เป็นผู้สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทยาศาสตร์ หรือเทียบเท่า และมีคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการได้ นอกจากนี้ควรเป็นผู้มีฝีมือปั้นพอสมควร  

          1. ผู้สมัครจะต้องมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรค อาการของโรค หรือความพิการอันเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดังต่อไปนี้

          1.1 มีปัญหาทางจิตเวชขั้นรุนแรง ได้แก่ โรคจิต (psychosis) โรคประสาทอย่างรุนแรง (severe neurosis) หรือโรคบุคลิกภาพแปรปรวน โดยเฉพาะ antisocial personality (บุคลิกต่อต้านสังคม) หรือ borderline personality รวมถึงปัญหาทางจิตเวชอื่นๆที่มีความรุนแรงใกล้เคียงกัน

          1.2 โรคติดต่อในระยะติดต่ออันตราย หรือส่งผลให้เกิดความพิการอย่างถาวร เช่น โรคเรื้อน โรคเท้าช้าง เป็นต้น

          1.3 โรคไม่ติดต่อหรือภาวะดังต่อไปนี้

          • โรคลมชักที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ (โรคลมชักที่ไม่มีอาการชักมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี โดยมีการรับรองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถือเป็นโรคลมชักที่ควบคุมได้)
          • โรคหัวใจระดับรุนแรง
          • โรคความดันเลือดสูงรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนจนทําให้เกิดพยาธิสภาพต่ออวัยวะอย่างถาวร
          • ภาวะไตวายเรื้อรัง
          • ภาวะติดสารเสพติดให้โทษ
          • โรคเบาหวานชนิดควบคุมไม่ได้

          1.4 ตาบอดสีชนิดรุนแรงทั้งสองข้าง

          1.5 ความผิดปกติในการเห็นภาพ โดยมีอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

          • สายตาไม่ปกติ เมื่อรักษาโดยใช้แว่นแล้ว ยังมีสายตาต่ำกว่า 6/24 ทั้งสองข้าง
          • สายตาข้างดีต่ำกว่า 6/12 เมื่อได้รับการแก้ไขอยยางดีที่สุดแล้ว
          • ไม่สามารถมองเห็นภาพเป็นสามมิติ

          1.6 หูหนวกหรือหูตึง (threshold ของการได้ยินสูงกว่า 40 dB) จากความผิดปกติทางประสาทและการได้ยิน (sensorineural hearing loss) ถ้าได้รับการรักษาแล้วไม่ดีขึ้น

          1.7 โรคหรือความพิการอื่นๆ ซึ่งมิได้ระบุไว้ที่คณะกรรมการแพทย์ผู้ตรวจร่างกายเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา ทั้งนี้อาจแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคตรวจบางรายเพิ่มเติมได้

          2. คุณสมบัติเฉพาะ

          2.1 ต้องมีคุณสมบัติที่พร้อมจะเข้ารับราชการได้หลังจากสําเร็จการศึกษาแล้ว

          2.2 ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาในคณะทันตแพทยศาสตร์ ต้องสามารถทําสัญญาผูกพันฝ่ายเดียวหรือสัญญาปลายเปิด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 คือ เป็นสัญญาที่กําหนดหน้าที่ของผู้รับทุนที่จะต้องปฏิบัติตามคําสั่งของคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรฯ โดยต้องทํางานเมื่อสําเร็จการศึกษาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีติดต่อกันตามระเบียบ และเงื่อนไขของรัฐบาลกับมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้ผูกพันให้ส่วนราชการต้องบรรจุเข้ารับราชการเป็น ข้าราชการ หรือพนักงานในหน่วยงานของรัฐ


แนวทางในการประกอบอาชีพ 

          ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จะมีความรู้ความสามารถในทางทันตกรรม และสามารถประกอบอาชีพได้ ดังนี้

          1.เป็นอาจารย์สอนและวิจัย เป็นทันตแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย รัฐวิสาหกิจ สภากาชาดไทย ฯลฯ

          2.ประกอบอาชีพสาขาทันตกรรมในคลินิกส่วนตัวและโรงพยาบาลเอกชน




ขอขออบคุณข้อมูลจาก
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำนักงานจัดการศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อัปเดตล่าสุด 30 เมษายน 2554 เวลา 17:50:21 3,832 อ่าน
TOP