x close

ชี้ โรงเรียน ทำร้ายเด็ก! ไม่สอน วิชาชีวิต

 




ชี้ โรงเรียน ทำร้ายเด็ก! ไม่สอน \'วิชาชีวิต\'(ไทยโพสต์)

          ผอ.บ้านกาญจนาภิเษก เผยเด็กไทยอ่อนหัดวิชาทักษะชีวิต ส่งผลก้าวพลาดกระทำผิดก่อคดีอาชญากรรมมากขึ้น 41% ชี้ต้นเหตุเกิดจากโรงเรียนไม่สอนวิชาชีวิตนอกห้องเรียน มุ่งแต่สอบเอาคะแนน จี้ ศธ.เร่งปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเพิ่มอีคิวให้เด็กแก้ปัญหาชีวิตได้เหมาะสม

          จากสถิติเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดกระทำผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนทำความผิดพุ่งขึ้นถึง 41% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก แม้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมจะพยายามแก้ไข ฟื้นฟู บำบัด แต่ยังคงมีเยาวชนก่อคดีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ที่เรื้อรังมานานในสังคมไทย

          เมื่อวันที่ 26 เมษายน นางทิชา ณ นคร นักวิชาการด้านสิทธิเด็ก และผู้อำนวยการสถานพินิจเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ให้สัมภาษณ์ว่า ทุกวันนี้ปัญหาเด็กก้าวพลาดกระทำผิดไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ กระบวนการฟื้นฟูและบำบัดเป็นเพียงปลายเหตุ โดยสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเกิดจากเด็กไทยอ่อนแอในวิชาชีวิต ไม่ได้รับการฝึกฝนให้สามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เมื่อถูกยั่วยุหรือเจอสถานการณ์บีบบังคับ จึงตัดสินใจใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหา หรือไม่รู้วิธีหลีกเลี่ยงการกระทำผิดได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการสอนให้เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิต โดยเพิ่มสัดส่วนหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีวิชาชีวิตนอกห้องเรียนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          นางทิชากล่าวว่า จากการที่ตนได้คลุกคลีอยู่กับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดในคดีต่างๆ และเข้ามาอยู่ในสถานพินิจพบความจริงว่า เด็กไม่ได้เลวหรือชั่วมาตั้งแต่เกิด แต่ขาดทักษะในการดำเนินชีวิตอย่างรู้คุณค่าของตัวเอง โรงเรียนจะต้องเพิ่มสัดส่วนวิชาทักษะชีวิต มีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวให้ได้สัดส่วน 30% อีก 70% เป็นวิชาการความรู้ต่างๆ ในห้องเรียน แต่แนวทางปฏิบัติที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ โรงเรียนยังไม่เปิดพื้นที่ให้กับวิชานอกห้องเรียน ครูอาจารย์ยังให้คุณค่ากับเด็กเรียนเก่ง เชื่อฟังคำสั่งสอน แต่ก็ทำให้เด็กอีกส่วนหนึ่งที่เรียนหนังสือไม่ดีขาดการยอมรับ จึงหันไปแสดงออกในทางที่ไม่ถูกต้อง

          "ระบบการศึกษายังมุ่งเน้นเรื่องวิชาการมากเกินความจำเป็น โรงเรียนสอนให้เด็กมุ่งเรียนหนังสือเพื่อหวังผลคะแนนและสอบแข่งขัน แต่ขาดทักษะชีวิต การตัดสินใจผิดพลาดเมื่อเจอปัญหาต่างๆ เมื่อเจอผู้หญิงแต่งกายโป๊หรือยั่วยุอารมณ์ทางเพศก็ไปทำผิดข่มขืน สิ่งเหล่านี้สามารถสอนกันได้ แต่ก็ปรากฏว่าไม่ค่อยสอนกัน" นักวิชาการด้านสิทธิเด็กเผย

          นางทิชาย้ำว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการพยายามปฏิรูประบบการศึกษา แต่เห็นได้ชัดเจนว่าไม่ทำอย่างจริงจัง กล่าวคือหลักสูตรวิชานอกห้องเรียนยังคงมีสัดส่วนไม่ถึง 30% ของหลักสูตรวิชาทั้งหมด การเพิ่มวิชาทักษะชีวิตนอกจากจะช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ทำให้รู้วิธีป้องกันตัวเองไม่ให้กระทำผิดพลาดแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อีก เช่น เด็กตั้งท้องในวัยเรียน เด็กแว้นซิ่งรถจักรยานยนต์ รวมทั้งเด็กติดเกมจนเสียการเรียน เป็นต้น

          สำหรับแนวทางการดูแลเด็กที่บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งมีตัวเลขการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่าสถานพินิจอื่นๆ นางทิชากล่าวว่า สิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ไม่ได้ถูกริดรอน เยาวชนทุกคนไม่ถูกกดขี่ข่มเหงหรือทำร้ายโดยผู้คุม ในบ้านกาญจนาภิเษกผู้คุมมีฐานะเป็นครูที่ปรึกษาคอยดูแลด้วยความรักความเมตตา บ้านแต่ละหลังจะมีที่ปรึกษาประจำบ้าน 1 คน ที่ปรึกษาจะสนิทกับเด็กมาก คุยกันได้ทุกเรื่อง เด็กที่นี่พูดถึงบ้านหลังนี้ว่าหลับสบาย เพราะไม่ต้องกลัวว่าพรุ่งนี้จะต้องตื่นมาโดนทำโทษอะไร

          "จุดเด่นที่สุดของบ้านกาญจนาภิเษกคือ กระบวนการซ่อมความคิด ซึ่งเป็นโจทย์ยาก เพราะจะต้องสอนจริยธรรมให้คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าคนตาย ลักทรัพย์ ข่มขืนหรือค้ายาเสพติด โดยหลักการซ่อมความคิดคือ ต้องเกิดจากเด็กเป็นผู้คิดได้เอง เราไม่สามารถสอนตรงๆ ได้ว่าความรุนแรงเป็นสิ่งไม่ดี ห้ามทำ เพราะการสอนตรงๆ ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย แต่ในทางกลับกัน ถ้าเด็กเป็นผู้คนพบด้วยตนเองว่าความรุนแรงเป็นสิ่งไม่ดี ก็จะเกิดความตระหนักขึ้นมาในใจและไม่อยากทำ"

          ผอ.บ้านกาญจนาภิเษกกล่าวว่า วิธีการซ่อมความคิดคือให้เด็กตีความข้อมูลข่าวสารประจำวันที่เกิดขึ้น เพื่อให้ฉุกใจคิด เห็นรายละเอียดของชีวิต ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต และสะเทือนใจกับความทุกข์ทรมานของผู้อื่น เป็นกิจกรรมหลักที่ทำทุกวัน เน้นรักษาจิตวิญญาณเยาวชน เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา ทุกวันนี้บ้านกาญจนาภิเษกใช้ผู้ดูแลน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสถานพินิจอื่น พวกเขาสามารถขึ้นรถประจำทางไปศาลได้เองโดยไม่หนี รอบบ้านไม่ต้องมีรั้ว สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการซ่อมความคิดได้ผล เด็กรู้จักเลือกคุณค่าให้ตนเอง ทั้งนี้ คนผิดต้องได้รับการลงโทษ สิ่งที่ทำไปแล้วย่อมไม่มีการละเว้นความผิด แต่คนผิดไม่จำเป็นต้องเป็นคนเลวไปตลอดชีวิต.

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชี้ โรงเรียน ทำร้ายเด็ก! ไม่สอน วิชาชีวิต อัปเดตล่าสุด 27 เมษายน 2554 เวลา 11:39:44
TOP