x close

เรียนต่อ ม.1 เด็ก 15% สอบเข้าไม่ได้

 




มีแค่ 15% สอบเข้า ม.1 ไม่ได้ (ไทยโพสต์)

         สรุปรับ ม.1 มีนักเรียนเพียง 15% ที่สอบเข้า ม.1 ไม่ได้ "ชินวรณ์" วอนผู้ปกครองพาเด็กไป รร.คู่พัฒนาแทน ชี้เตรียมลงดาบทั้งทางวินัยและอาญา รร.มีกลิ่นตุ มั่นใจล้างระบบเด็กฝากนำพาการศึกษาไทยมาถูกทางแล้ว สร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคม พ่อแม่ไม่เห็นแก่ตัวใช้เงินช่วยลูกเข้า รร.ดัง  ด้าน  สพม.เขต 1 เผยแข่งกันดุ มี นร.ไม่มีที่เรียน 1,200 คน เตรียมเกลี่ยไป โรงเรียนที่ขาดเด็ก 

         กรณีการรับนักเรียนชั้น ม.1 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในส่วนเงื่อนไขพิเศษที่มีการประกาศรายชื่อเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง พบว่า โรงเรียนราชวินิตมัธยมมีนักเรียนโควตาสูงที่สุดในประเทศถึง 350 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 180 คนได้มีการจัดสรรโควตาไปยังโรงเรียนราชวินิตประถมและโรงเรียนราชวินิตมัธยมบางแก้ว ส่วนอีก 170 คนเป็นรับลูกหลานของข้าราชบริพาร ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข 7 ข้อที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการร้องเรียนของผู้ปกครองกรณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการไม่มีที่เรียน หรือกรณีจบชั้น ม.3 จาก โรงเรียนเดิมแต่ไม่ได้เรียนต่อ ม.4 ที่ รร.เดิม เป็นต้น 

         นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานการรับนักเรียนปีการศึกษา 2554 แล้วพบว่า ชั้น ม.1 มีภาพรวมผู้สมัครเข้าเรียนต่อจำนวน 2.7 แสนคน ในจำนวนทั้งหมดนี้มีที่เรียน 85% ที่ได้เข้าเรียนต่อใน รร.ที่มีอัตราการแข่งขันสูง และมีเพียง 15%เท่านั้นที่สอบไม่ได้ต้องไปเลือกเรียน รร.คู่พัฒนาและ รร.ดีใกล้บ้าน 

         ทั้งนี้ ในกลุ่มเงื่อนไขพิเศษ มีภาพรวมเด็กในกลุ่มนี้เพียง 1.5% เท่านั้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับจำนวนการรับนักเรียนทั่วประเทศที่สมัครเรียน 2.7 แสนคน มีเพียงจำนวนไม่ถึง 3,000 คน และหากเปรียบเทียบกับการรับนักเรียนในทุกปีที่ผ่านมา โควตาพิเศษนี้จำนวนมโหฬารกว่าจำนวนเด็กที่สอบได้ อย่างไรก็ดี ปีนี้ ศธ.ได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษแล้ว ซึ่ง รร.จะต้องปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันก็ต้องดูบริบทของแต่ละ โรงเรียนด้วยว่าจะตรงกับเงื่อนไขที่กำหนดเช่นไร เพราะหากมีการตรวจสอบพบภายหลังว่ามีการรับฝากเด็กหรือเรียกรับเงิน หรือมีวาระซ่อนเร้นใดที่แสวงหาผลประโยชน์จะถูกลงโทษทางวินัยและทางอาญา 

         "นโยบายการรับนักเรียนในปีนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากนัก เพราะก่อนหน้านี้ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ผอ. สถานศึกษา ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ผู้ปกครอง และนักเรียนมาถึง 6 เดือน พร้อมทั้งมีการทำประชาพิจารณ์ด้วย เพื่อนำไปสู่การทำให้เกิดคุณภาพทางการศึกษาที่สูงขึ้น เกิดคุณภาพ รร.ที่ใกล้เคียงกัน ที่สำคัญจะนำไปสู่การระดมทรัพยากรให้เกิดความโปร่งใสเพื่อที่ไม่ทำให้ผู้บริหาร โรงเรียนถูกกล่าวหาเรื่องการจ่ายเงินใต้โต๊ะ"

         รมว.ศธ.กล่าวว่า ขณะนี้ก็มีการร้องเรียนจากผู้ปกครองเรื่องการรับนักเรียน ม.1 และ ม.4 มากเป็นพิเศษ เพราะได้มีการประกาศผลสอบไปแล้ว แต่อยากจะย้ำให้ผู้ปกครองมั่นใจและเลือกทางเดินที่ถูกต้องแก่ลูก ข้ามพ้นค่านิยมและผลประโยชน์ของตนเอง เพื่อที่จะให้ลูกได้เรียนตามความสามารถที่แท้จริง ทุกคนต้องมีที่เรียน แต่ถ้าสอบไม่ได้ใน รร.ดังก็ต้องไปเลือก โรงเรียนดีใกล้บ้าน เด็กเองจะได้ไม่ถูกกดดันในการที่จะมาวิ่งเต้นหรือจ่ายเงินจ่ายทองเหมือนที่ผ่านมา

         ด้านนายวิทธยา บริบูรณ์ทรัพย์ รักษาการ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 กรุงเทพฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีเด็กนักเรียนในพื้นที่ สพม.เขต 1 ที่ยังไม่มีที่เรียนในระดับชั้น ม.1 อยู่อีกประมาณ 1,200 คน ซึ่งตนยืนยันว่า รร.ที่มีอัตราแข่งขันสูงในเขต สพม.เขต 1 และ สพม.เขต 2 นั้น จะรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 เพียงรอบเดียว ซึ่งก็จะมีการจัดสรรให้เด็กนักเรียนมีที่เรียนทุกคน แต่จะไม่ไปเพิ่มห้องเรียนหรือเพิ่มจำนวนรับ ยกเว้น รร.ที่ไม่ได้มีอัตราแข่งขันสูง และยังขาดนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 อยู่ ทั้งนี้ สพม.เขต 1 มีแผนจะเปิดรับนักเรียนเพิ่มในเขตพื้นที่โดยจะเป็นการเกลี่ยนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียนทั้งชั้น ม.1 และ ม.4 ไปยัง โรงเรียนที่ขาดอยู่ 

         "ผมขอให้ผู้ปกครองอย่ายึดติดว่าต้องให้ลูกเข้า โรงเรียนชื่อดัง อย่ารอ โรงเรียนชื่อดังจะขยายห้องเรียนหรือรับนักเรียนเพิ่ม รวมถึงอย่าหลงเชื่อผู้ที่อ้างว่าฝากเด็กได้แล้วเรียกรับเงิน"

         นายวิทธยากล่าวอีกว่า ผู้ปกครองสามารถไปยื่นความจำนงขอจัดสรรที่เรียนระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ล่วงหน้าได้ ใน โรงเรียนที่พาบุตรหลานไปสมัครเรียนตั้งแต่วันนี้-27 มี.ค. โดย รร.จะรวบรวมข้อมูลแล้วมาเสนอยังเขตพื้นที่ และนำข้อมูลของผู้ปกครองที่มายื่นความจำนงมาประชุมกับ ผอ.ในสังกัด สพม.เขต 1 ในวันที่ 3-4 เม.ย. จากนั้นในวันที่ 5 เม.ย. ก็จะเกลี่ยเด็กไปเข้าเรียนยัง รร.ที่ยังขาดอยู่ และประกาศผลการจัดสรรที่เรียนในวันที่ 7 เม.ย.

         นางจำนงค์ แจ่มจันทรวงศ์ ผอ.รร.ศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า โรงเรียนมีเด็กจบชั้น ม.3 เดิม 400 คน และรับเด็กชั้น ม.4 โดยใช้สัดส่วน 80% รับนักเรียนจบชั้น ม.3 เดิม โดยพิจารณาจากผลการเรียนเฉลี่ยที่จบชั้น ม.3 และผลการเรียนรายวิชา ซึ่งในส่วนของสัดส่วน 80% นั้น ให้ยื่นความจำนงวันที่ 23 -27 มี.ค.นี้ และประกาศผลวันที่ 29 มี.ค. ในปีที่แล้วมีผู้ปกครองไม่เข้าใจร้องเรียนว่าลูกเรียนที่จบชั้น ม.3 เดิมไม่ได้เรียนต่อ ม.4 ทั้งที่ได้เกรดเฉลี่ยกว่า 2.7 แต่เด็กอีกคนเรียนได้กว่า 2.5 แต่กลับได้เข้าเรียน ซึ่งขอชี้แจงต่อผู้ปกครองว่าเกิดจากการเลือกแผนการเรียน หากเด็กไปเลือกแผนการเรียนวิทย์-คณิตก็จะมีการแข่งขันสูง ทำให้ไม่ได้เข้าเรียน แต่เด็กอีกคนเลือกเรียนแผนศิลป์-ภาษา ซึ่งอัตราแข่งขันน้อย จึงมีโอกาสได้เข้าเรียน. 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรียนต่อ ม.1 เด็ก 15% สอบเข้าไม่ได้ อัปเดตล่าสุด 25 มีนาคม 2554 เวลา 10:43:33 4,211 อ่าน
TOP