x close

5 เด็กเก่ง รางวัลทุนเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553


 


 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
           ประกาศผลแล้ว รายชื่อผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553  โดยปีนี้มีผู้ได้รับพระราชทุนฯ 5 ราย จากรายชื่อทั้งสิ้น 19 ราย จาก 8 สถาบัน 
 
           โดยโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2550 ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ 2/2550 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการ  คณะกรรมการดำเนินการ  และคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน 

           และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ประกาศรายชื่อของผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553 โดย ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปศึกษาวิจัย ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย นั้น ในปี 2553 มีทั้งหมด 5 ราย โดยมีรายชื่อและประวัติ ดังนี้

           1. นางสาวจุฑามาศ  เศารยะ 

           นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยด้าน ยุทธศาสตร์จุดพลังเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการห้องฉุกเฉินในประเทศไทย โดยมีแนวคิดจากการที่ชื่นชอบการดูแลผู้ป่วยแผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ประกอบกับสาขานี้ ยังมีโอกาสพัฒนาอีกหลายด้านในประเทศไทย ทั้งการดูแลผู้ป่วยก่อนมาโรงพยาบาลและภายหลัง โดยปัญหาที่พบมากสุดคือ ปัญหาผู้ป่วยมากเกินศักยภาพของห้องฉุกเฉินนั้นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุก่อให้เกิดภยันตรายทั้งต่อคุณภาพในการดูแลรักษา ปัญหาทางจริยเวชศาสตร์ ผลกระทบต่อโรงพยาบาล เป็นต้น จึงคิดว่าควรจะค้นหาแนวทางการปรับองค์ความรู้จากวิทยากรต่างประเทศเพื่อนำมาพัฒนาระบบบริหารจัดการห้องฉุกเฉินในประเทศไทย

           2. นักเรียนแพทย์ทหารทรรศนีย์ ชาติเมธากุล

           นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า  มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีแรงบันดาลใจจากการที่เคยได้ยินเรื่องวัดพระบาทน้ำพุมาเป็นเวลานาน แล้วมีความรู้สึกประทับใจในการใช้ศาสนามาประกอบการบำบัด และบรรเทาความทุกข์ในจิตใจให้กับผู้ป่วย รวมถึงการที่พระสงฆ์ซึ่งเป็นเหมือนกับศูนย์รวมทางจิตใจของสังคมไทย มามีบทบาทเป็นผู้นำในการให้การดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ จึงมีความคิดว่าจะหาแนวทางเพื่อนำมาปรับใช้ และช่วยในการวางแผนเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในอนาคตต่อไป

           3. นางสาวนฤชร กิจไพศาลรัตนา

           นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยด้าน stem cell และ neuroregeneration โดยมีกรณีวิจัย การใช้ stem cell ในการรักษา traumatic brain injury ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญทางสาธารณสุขทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ขณะที่การรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดหลายประการ ทำให้ผลการรักษาออกมาไม่ดีเท่าที่ควร จึงคิดว่าจะพยายามทำงานวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อหาแนวทางในการนำมาใช้รักษาผู้ป่วยเหล่านี้
 
           4. นายภรัณยู  จูละยานนท์

           นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัย การสร้างแบบทดสอบเพื่อคัดกรองภาวะ amnestic mild cognitive impairment สำหรับผู้สูงอายุในทุกระดับการศึกษา เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทอันเป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด และผู้ป่วยโรคดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ จึงมีความมุ่งหวังในการพัฒนาแบบทดสอบดังกล่าวเพื่อตรวจคัดกรองภาวะ aMCI เพื่อพัฒนาแบบทดสอบดังกล่าวให้มีความแม่นยำสูง และนำมาใช้แทน neuroimaging ในประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

           5. นายอนาวิล  สงวนแก้ว

           เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาโรคอ้วน โดยมีแรงบันดาลใจจากการเห็นผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นที่มาพบแพทย์ด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ทำให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันโรคด้วยวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพและสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ คือภาวะอ้วน จึงพยายามค้นหาความรู้เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคอ้วน



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 เด็กเก่ง รางวัลทุนเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553 อัปเดตล่าสุด 9 มีนาคม 2554 เวลา 16:59:46 1,046 อ่าน
TOP