x close

ทุนวิจัย - ทุนวิทยานิพนธ์ การควบคุมยาสูบ ปี2554




ทุนวิจัยและทุนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการควบคุมยาสูบประจำปี พ.ศ.2554

          ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ สนับสนุนทุนวิจัยและทุนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการควบคุมยาสูบประจำปี พ.ศ.2554

หลักเกณฑ์การสนับสนุนการวิจัย ประจำปี พ.ศ. 2552 - 2554

ลักษณะโครงการวิจัยที่ให้ทุน

            1. ทุนประเภทชุดโครงการ


          1) เพื่อให้การสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบสอดคล้องกับความต้องการเชิงนโยบายของประเทศ และการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (WHO-FCTC) ตามประเด็นการวิจัยที่ ศจย.กำหนดไว้

          2) เป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินการในประเทศไทย ทั้งที่เป็นการวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้การวิจัยเพื่อมุ่งเป้าหรือการวิจัยเชิงประยุกต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมยาสูบ

          3) เป็นโครงการวิจัยที่พัฒนาอย่างมีมาตรฐานเชิงวิชาการ ทั้งนี้เพื่อให้ความมั่นใจว่าจะนำมาซึ่งผลงานวิจัยมีคุณภาพที่สามารถตีพิมพ์ เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติ ระดับนานาชาติ หรือนำเสนอในเวทีวิชาการ ต่าง ๆ

          4) ใช้งบประมาณมากกว่า 400,000 บาทต่อปี

          5) หากเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณสูงทาง ศจย. จะร่วมดำเนินการกับผู้เสนอโครงการ เพื่อสมัครขอรับทุนไปยังแหล่งทุนวิจัยภายในประเทศ หรือทุนวิจัยระหว่างประเทศ ตามความเหมาะสม

            2. ทุนประเภทนักวิชาการและบุคคลทั่วไป

          1) เพื่อให้การสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบสอดคล้องกับความต้องการเชิงนโยบายของประเทศ และการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (WHO-FCTC) ตามประเด็นการวิจัยที่ ศจย.กำหนดไว้

          2) เป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินการในประเทศไทย ทั้งที่เป็นการวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้การวิจัยเพื่อมุ่งเป้าหรือการวิจัยเชิงประยุกต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมยาสูบ

          3) เป็นโครงการวิจัยที่พัฒนาอย่างมีมาตรฐานเชิงวิชาการ ทั้งนี้เพื่อให้ความมั่นใจว่าจะนำมาซึ่งผลงานวิจัยมีคุณภาพที่สามารถตีพิมพ์ เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติ ระดับนานาชาติ หรือนำเสนอในเวทีวิชาการ ต่าง ๆ

          4) ใช้งบประมาณ ไม่เกิน 400,000 บาท และใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

            3. ทุนประเภทวิทยานิพนธ์

          1) เป็นวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) เกี่ยวกับการควบคุมยาสูบตามประเด็นการวิจัยที่อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดของ ศจย. และกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ(WHO – FCTC) ตามประเด็นการวิจัยที่ ศจย.กำหนดไว้

          2) เป็นวิทยานิพนธ์ที่ดำเนินการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งเป็นการศึกษาพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้ การศึกษาเพื่อมุ่งเป้า หรือการวิจัยเชิงประยุกต์

          3) เป็นวิทยานิพนธ์ที่ผ่านการสอบโครงร่างแล้ว และได้รับอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ให้ทำอย่างเป็นทางการและแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์เรียบร้อยแล้ว

          4) เป็นวิทยานิพนธ์ที่ดำเนินการอย่างมีมาตรฐานเชิงวิชาการ ทั้งนี้เพื่อให้ความมั่นใจว่าจะนำมาซึ่งผลงานวิจัยมีคุณภาพที่ผลงานสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติได้หรือสามารถนำเสนอในเวทีวิชาการต่าง ๆ ได้

คุณสมบัติของผู้รับทุนวิจัย

            1. คุณสมบัติสำหรับผู้รับทุนประเภทนักวิชาการและบุคคลทั่วไป

          1) เป็นบุคลากรทางการศึกษาในสถาบันการศึกษา ทั้งในสังกัดภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักวิจัยและนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา

          2) นักวิชาการที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขการควบคุมยาสูบ การพัฒนาสังคม เช่น นักวิชาการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พัฒนากร เจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

          3) นักวิชาการอิสระและบุคคลทั่วไป ซึ่งเคยมีผลงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการหรือเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในวงการวิชาการทั่วไป หรือเป็นบุคคลที่มีผลงานและได้รับการยอมรับในวงการการควบคุมยาสูบ

          ทั้งนี้กรณีที่เป็นบุคคลทั่วไป จำเป็นต้องมีนักวิชาการ / นักวิจัย ซึ่งมีประสบการณ์และผลงานวิจัยอันเป็นที่ยอมรับของวงชุมชนวิชาการหรือควบคุมยาสูบ คอยกำกับดูแลเป็นที่ปรึกษา และมีเวลาให้คำปรึกษาแก่ผู้วิจัย โดยมีการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร

            2. คุณสมบัติสำหรับผู้รับทุนประเภทวิทยานิพนธ์

          1) เป็นนิสิต/นักศึกษาชาวไทย ที่กำลังศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท หรือปริญญาเอก)ในสถาบันอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้รับการรับรองจาก กพ.

          2) หลักสูตรที่นิสิต/นักศึกษากำลังศึกษาอยู่ เป็นแผนที่กำหนดให้ทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจำนวนไม่น้อยกว่า 12 และ 24 หน่วยกิต ตามลำดับ

          3) นิสิต/นักศึกษาที่ขอรับทุนสนับสนุน ต้องมีระยะเวลาการศึกษาที่เหลือไม่น้อยกว่า 2 ภาคการศึกษา หรือ มีระยะเวลาดำเนินการทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 12 เดือน

          4) ทุนสนับสนุนเฉพาะกิจกรรมในกระบวนการวิจัยที่ยังไม่ทำเท่านั้น (ไม่อนุมัติทุนย้อนหลัง) และเป็นโครงการที่ยังไม่ได้เก็บรวบรวมข้อมูล

งบประมาณทุนสนับสนุนการวิจัยและระยะเวลาดำเนินการ

            1. งบประมาณสำหรับทุนวิจัยประเภทชุดโครงการ

          ทุนสนับสนุนการวิจัยทุนละไม่น้อยกว่า 400,000 บาท หากเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณสูง ทาง ศจย. จะร่วมดำเนินการกับผู้เสนอโครงการ เพื่อสมัครขอรับทุนไปยังแหล่งทุนวิจัยภายในประเทศ หรือทุนวิจัยระหว่างประเทศ ตามความเหมาะสม

            2. งบประมาณสำหรับทุนวิจัยประเภทนักวิชาการและบุคคลทั่วไป

          ทุนสนับสนุนการวิจัยทุนละไม่เกิน 400,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขอบเขตเนื้อหา และผลลัพธ์ของโครงการวิจัย โดยมีระยะเวลาทำวิจัยไม่เกิน 1 ปี หากมีความจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่านั้น ต้องสามารถให้เหตุผลชี้แจงได้

            3. งบประมาณสำหรับทุนประเภทวิทยานิพนธ์

          การสนับสนุนเงินทุนวิทยานิพนธ์ แบ่งเป็น 2 ส่วนตามระดับการศึกษา คือ

          1. ทุนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ไม่เกิน 30,000 บาท

          2. ทุนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ไม่เกิน 50,000 บาท

          หมายเหตุ: กรณีวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่มีความสำคัญมากต่อนโยบายและเป็นความต้องการของหน่วยงานเชิงนโยบาย และจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อาจขอทุนสนับสนุนเกินวงเงินนี้เป็นกรณีพิเศษ โดยต้องมีหนังสือชี้แจงเป็นพิเศษและรับรองจากอาจารย์ควบคุม

กรอบระยะเวลาในการเสนอขอรับทุนสนับสนุนการวิจัย

          กรอบระยะเวลาเพื่อเสนอขอรับทุนวิจัยทั้งทุนประเภทนักวิชาการและบุคคลทั่วไป และทุนประเภทวิทยานิพนธ์นั้น แบ่งออกเป็น 2 รอบใน 1 ปี

          รอบที่ 1: 1 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม

          รอบที่ 2: 1 มกราคม – 30 เมษายน

          โดย ศจย. จะแจ้งผลการพิจารณาความสอดคล้องกับกรอบประเด็นงานวิจัยของ ศจย. ในขั้นตอนที่ 1 ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับโครงร่างแนวคิด หรือโครงร่างการวิจัย

          หมายเหตุ: หากโครงการวิจัยที่เสนอขอรับทุนไม่อยู่ในช่วงรอบของการประกาศรับสมัครโครงการวิจัย ดังกล่าวจะได้รับการรวบรวมไว้เพื่อรอรับการพิจารณาในรอบถัดไป

          ติดต่อและส่งเอกสารขอรับทุนสนับสนุนการวิจัย

          ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
          คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
          เลขที่ 420/1 อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 5
          ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
          โทรศัพท์ 0-2354-5346 โทรสาร 0-2354-5347
          E mail:
webmaster@trc.or.th 

          ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและสามารถดาวน์โหลด เอกสารและแบบฟอร์ม เพื่อการขอรับทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ที่ http://www.trc.or.th/



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทุนวิจัย - ทุนวิทยานิพนธ์ การควบคุมยาสูบ ปี2554 อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 14:45:16
TOP