x close

หุ่นยนต์อัจฉริยะ ผลงานนิสิตโชว์ เกษตรแฟร์

 





หุ่นยนต์อัจฉริยะ! ตรวจดิน-เติมปุ๋ย ผลงานนิสิตโชว์‘เกษตรแฟร์’ (ไทยโพสต์)

          นิสิต มก.เจ๋งประดิษฐ์หุ่นยนต์สมองอัจฉริยะเพื่อเกษตรกรรม สามารถเก็บตัวอย่างดิน วิเคราะห์ธาตุอาหารและสภาพดินเพาะปลูก ช่วยใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด ใช้หลักการปุ๋ยสั่งตัด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมโชว์ในงานเกษตรแฟร์เร็วๆ นี้

          อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาหุ่นยนต์ต้นแบบเพื่อเกษตรกรรมความแม่นยำสูง เปิดเผยว่า จะมีการเปิดตัวหุ่นยนต์ดังกล่าวภายในงานเกษตรแฟร์ ระหว่างวันที่ 25 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ 2554 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน หุ่นยนต์นี้ถือเป็นไฮไลต์ของโซนสิ่งประดิษฐ์ในงาน เนื่องจากเป็นการประดิษฐ์คิดค้นครั้งแรกของประเทศไทย ประกอบด้วยหุ่นยนต์ 2 ตัว คือ 1.หุ่นยนต์ปฐพี เก็บตัวอย่างดินและวิเคราะห์ค่าธาตุอาหารต่างๆ 2.หุ่นยนต์วารี เติมปุ๋ยและชดเชยหรือซ่อมแซมดินให้อุดมสมบูรณ์ให้เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด โดยมีการทำงานเชื่อมโยงข้อมูลกันและอาศัยการควบคุมระยะไกลไร้สายผ่านทางจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นผลงานของนิสิตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์จำนวน 5 คน

          อาจารย์ปัญญาระบุว่า หุ่นยนต์เพื่อเกษตรกรรมความแม่นยำสูงเป็นผลงานต้นแบบชิ้นแรกของไทย เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 2553 ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงจุดบกพร่องและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สำหรับการทำงานให้ปุ๋ยใช้หลักการแบบปุ๋ยสั่งตัดเหมือนการตัดเสื้อพอดีตัว ไม่ใช่ให้ปุ๋ยแบบเหมาโหล ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนค่าปุ๋ย ไม่ทำให้ดินเสื่อมสภาพและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แตกต่างจากการให้ปุ๋ยแบบเร่งผลผลิตและไม่รู้จุดที่เหมาะสม ซึ่งยากมากที่จะใช้แรงงานคนทำการวัดค่าธาตุอาหารหรือตัวแปรต่างๆ ที่ละเอียดอ่อน

          "หลักการทำงานการให้ปุ๋ยแบบอัจฉริยะนี้จะทำด้วยความแม่นยำสูง เริ่มจากหุ่นยนต์ปฐพีจะเข้าไปเก็บตัวอย่างดินในไร่โดยมีพิกัดแผนที่ การเคลื่อนที่อาศัยการควบคุมโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ดูเส้นทางผ่านระบบจีพีเอสและควบคุมส่วนต่างๆ ของหุ่นยนต์ จากนั้นนำไปส่งที่ห้องทดสอบชุดตรวจสภาพดินเพื่อหาค่าธาตุอาหารเอ็นพีเค ค่ากรด-ด่าง และความเค็มของดินที่เหมาะสมสำหรับพืชไร่แต่ละชนิด พื้นที่ปลูก ลักษณะของดินที่เหมาะสม ความลาดเอียงของพื้นที่ การใกล้แหล่งน้ำ สภาพภูมิอากาศในช่วงเวลานั้น ระยะเวลาการปลูกผ่านมาเท่าไร และความต้องการพืชผลของตลาดเป็นต้น" อาจารย์ปัญญากล่าว

          ส่วนการทำงานของหุ่นยนต์วารี มีความสามารถในการชดเชยหรือซ่อมแซมให้ดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ ซึ่งได้มาจากค่าวิเคราะห์การเก็บจากตัวอย่างดินของหุ่นยนต์ปฐพี โดยหุ่นยนต์วารีจะให้ปุ๋ย ให้น้ำ หรือแก้สภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน แก้ความเค็มของดิน การใช้ยาปราบศัตรูพืชหรือวัชพืช การใช้ฮอร์โมนเร่งผลผลิต โดยไม่ทำให้ดินเป็นกรดหรือเค็มอันเนื่องมาจากการใส่ปุ๋ยที่มากเกินไป

          นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันแมลงที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเกินความต้องการของพืช และทำให้เกลือกลายเป็นอาหารของแมลงทำให้แมลงแพร่พันธุ์เร็วขึ้น ซึ่งหุ่นยนต์วารีจะทำการซ่อมแซมหน้าดิน เติมค่าธาตุอาหารให้เหมาะสมตามพิกัดต่างๆ นำทางโดยระบบจีพีเอส โดยชดเชยหรือซ่อมแซมตามค่าที่รายงานจากหุ่นยนต์ปฐพี แต่ละตำแหน่งจะถูกให้ปุ๋ยค่าธาตุอาหารที่แตกต่างกัน ซึ่งข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกและผลการวิเคราะห์ดินทั้งหมดในประเทศได้รับการสนับสนุนฐานข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          อาจารย์ปัญญากล่าวอีกว่า การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัวนี้ ในอนาคตเราจะทำให้หุ่นยนต์มีสมองเป็นอัจฉริยะ ให้ปุ๋ยที่ไม่ถูกชะล้างได้ง่ายด้วยน้ำฝน นอกจากนี้ยังสามารถผสมปุ๋ยเองได้ตามค่าธาตุอาหารที่ต้องการแบบหลากหลายในแต่ละพิกัดของพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งจะต้องเดินเข้าไปสำรวจภายในไร่ด้วยตัวเอง สามารถตรวจสอบและกำจัดวัชพืชต่างๆ ได้ โดยจะเป็นการบูรณาการโดยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงด้านวิศวกรรมและเกษตรกรรมมาพัฒนาร่วมกัน ทั้งนี้ เกษตรกรไม่จำเป็นต้องซื้อหุ่นยนต์นี้มาใช้งาน แต่สามารถให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือจังหวัดดำเนินการจัดหาหุ่นยนต์เอง.



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก kucitypic.kasetsart.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หุ่นยนต์อัจฉริยะ ผลงานนิสิตโชว์ เกษตรแฟร์ อัปเดตล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 17:24:36 1,071 อ่าน
TOP