x close

ทปอ. รื้อระบบสอบ GAT-PAT เหลือปีละ 2 ครั้ง

สอบ GAT PAT

ทปอ. รื้อระบบ สอบ GAT-PAT เหลือปีละ 2 ครั้ง (ไทยโพสต์)

          ทปอ.รื้ออีกแล้ว! เอาแต่เด่น ๆ ลดสอบ GAT, PAT ปีนี้เหลือ 2 ครั้ง ใช้แอดมิชชั่นปี 55 พร้อมเปิดทางให้มหาวิทยาลัยขยับค่าน้ำหนักได้ หักหน้า สกอ. จัดรับตรงร่วมกันเอง ติงไม่ใช่หน้าที่อย่าจุ้น ย้ำปี 54 ยังใช้องค์ประกอบเดิม

          ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เมื่อวันที่ 12 ก.พ. เวลา 14.00 น. ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ.ว่า ทปอ. มีมติยืนยันเกี่ยวกับองค์ประกอบ และค่าน้ำหนักในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ ในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชั่น กลางปีการศึกษา 2554 ตามเดิม
 
          ประกอบด้วย คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย (GPAX) 20% แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET 30% แบบทดสอบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT 10-50% และแบบทดสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT 0-40%  รวมทั้งเห็นชอบให้กลุ่มคณะต่าง ๆ สามารถปรับค่าน้ำหนักองค์ประกอบในการแอดมิชชั่นกลางได้ แต่จะปรับเท่าใดและปรับในปีการศึกษาใดนั้น ก็จะต้องให้คณะทำงานศึกษาระบบแอดมิชชั่นกลาง ซึ่งมี ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม เป็นประธานไปพิจารณาอีกครั้ง

          พร้อมกันนี้ ทปอ.ยังมีมติเห็นชอบให้ ปรับลดจำนวนการสอบ GAT, PAT ลงจากปีละ 3 ครั้งในเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และมีนาคม เหลือปีละ 2 ครั้ง เพื่อไม่ต้องการให้เด็กสอบหลายครั้งและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยในเบื้องต้นจะสอบในเดือนตุลาคม 2554 และมีนาคม 2555 ซึ่งการสอบ GAT, PAT จะนำไปใช้ในการแอดมิชชั่นกลางปีการศึกษา 2555 และขอย้ำว่าเด็กที่จะสอบได้จะต้องอยู่ชั้น ม.6 เท่านั้น

          นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงเรื่องระบบรับตรง และเห็นว่าการรับตรงที่ผ่านมามีปัญหาจริง โดยได้มีการหยิบยกประเด็นนักเรียนคนหนึ่งที่วิ่งรอกรับตรงถึง 12 แห่ง และเสียเงินไปถึง 2 แสนบาท และสามารถสอบติดทั้งหมด 8 แห่ง ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นว่า ทปอ.น่าจะเข้ามาดูแลปัญหารับด้วยตัวเอง โดยจะจัดสอบรับตรงร่วมกันในมหาวิทยาลัยที่สังกัด ทปอ. แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมาดูอีกครั้งว่าจะมีมหาวิทยาลัยใดบ้างที่จะเข้าร่วม และได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาระบบแอดมิชชั่นกลาง ไปศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร แต่ยืนยันการดำเนินการดังกล่าวจะต้องยึดหลักว่า จะต้องดำเนินการภายหลังจากที่นักเรียนได้จบตามหลักสูตรที่กำหนด และไม่ให้เกิดปัญหาวิ่งรอกสอบและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

          "ผมคิดว่าเมื่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับทราบแนวทางที่ ทปอ.กำลังจะดำเนินการรับตรงร่วมกัน ก็จะไม่ตั้งศูนย์กลางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (รับตรง) ขึ้นอีก แต่ทั้งนี้ หาก สกอ.จะดำเนินการก็ถือเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ และขณะนี้ศูนย์กลางรับตรงของ สกอ.ก็ถือว่ายังไม่ปฏิสนธิ" ศ.ดร.ประสาทกล่าว

          ผศ.ดร.พงษ์อินทร์กล่าวว่า หลังจากนี้คณะทำงานฯ จะไปพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการรับตรงร่วมกัน โดยจะให้ดำเนินการได้ทันในปีการศึกษา 2555 โดยการจัดสอบกลางรับตรงกลางร่วมกันนั้น จะดำเนินการเฉพาะการรับตรงเท่านั้น จะไม่ร่วมกับระบบการคัดเลือกในระบบโควตาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ส่วนการดำเนินการเบื้องต้นจะดำเนินการรับสมัครพร้อมกัน ส่วนการจัดทำข้อสอบและจัดสอบในวิชาที่คณะต่าง ๆ ต้องการนั้น จะให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ

          "หน้าที่ของการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่หน้าที่ของ สกอ. ซึ่ง ทปอ.ตระหนักถึงหน้าที่ในการคัดเลือกเด็ก จึงได้สร้างเครื่องมือพัฒนาหลักการและกฎเกณฑ์ในการสมัครสอบรับตรง" ผศ.ดร.พงษ์อินทร์กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีมหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่ตอบรับที่จะสอบรับตรงกลาง ร่วมกันของ ทปอ. แต่จะมีเพียงมหาวิทยาลัยเล็กบางส่วน ที่ยังไม่ตอบรับก็จะต้องไปหารืออีกครั้ง

          ด้านนายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พอใจมติการแก้ปัญหารับตรงของ ทปอ. เพราะถือเป็นเรื่องที่ตนได้พยายามผลักดันมาโดยตลอด ทั้งเรื่องการสอบ GAT, PAT จาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง และการตั้งศูนย์สอบตรงกลางร่วม ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ตนไม่ติดใจ เพราะถือว่าการทำงานของตนประสบความสำเร็จแล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทปอ. รื้อระบบสอบ GAT-PAT เหลือปีละ 2 ครั้ง อัปเดตล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 13:59:52
TOP