x close

ม.เชียงใหม่ ผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้

 




นักวิจัย มช. นำมันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้
 

          ทีมวิจัยจากห้องห้องปฏิบัติการพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสบผลสำเร็จ  นำมันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย สร้างพลาสติกชีวภาพสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ จากการทดสอบในสภาวะปุ๋ยหมักแบบใช้ออกซิเจน พบว่าย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ภายใน 30 วัน ช่วยลดปัญหาขยะ พร้อมเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตผลทางการเกษตรของไทย

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วินิตา บุณโยดม จากห้องปฏิบัติการพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่  เจ้าของผลงาน เปิดเผยว่า ห้องปฏิบัติการพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม พัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพทั้งทคโนโลยี ต้นน้ำ-กลางน้ำ และ ปลายน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนที่นำทางแห่งชาติ: การพัฒนาพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ พ.ศ. 2551-2555 ตามมติของคณะรัฐมนตรี เน้นการสร้างเทคโนโลยีของประเทศไทยเองที่สามารถใช้ได้ทันที ปัจจุบันความสนใจในการนำพอลิ(แลคติก แอซิด) (พีแอลเอ) ไปใช้งานเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสลายตัวทางชีวภาพ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากบรรจุภัณฑ์ที่เตรียมจากวัสดุปิโตรเคมีก่อให้เกิดของเสียหรือของเหลือใช้ที่เป็นขยะเป็นจำนวนมากยากที่จะกำจัดและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับประเทศไทยมีผลิตผลทางการเกษตรที่มีมูลค่าต่ำเช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ที่สามารถใช้ผลิตเม็ดพลาสติก

เทคโนโลยีต้นน้ำ: การผลิตกรดแลคติกจากผลิตผลทางการเกษตร

          เทคโนโลยีต้นน้ำ ได้นำผลิตผลทางการเกษตรมูลค่าต่ำ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย หรือของเสียที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบ โดยทำการแยกและคัดกรองหาจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตกรดแลคติก จำแนกชนิดของแบคทีเรียที่คัดเลือกได้ ศึกษาปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการผลิดกรดแลคติก รวมทั้งศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการเจริญ และสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการผลิตกรดแลคติก ผลิตกรดแลคติกจากแป้งหรือน้ำเสียที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบในระดับ Semi-pilot plant ซึ่งจะเป็นกระบวนการขั้นตอนเดียวโดยใช้แบคทีเรียแลคติก ทำให้ย่นระยะเวลาในการผลิต ใช้ต้นทุนต่ำ ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยีต้นน้ำ-กลางน้ำ: การผลิตแลคไทด์และพอลิแลคไทด์

          ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีการผลิตพอลิ(แลคติก แอซิด) ในระดับอุตสาหกรรม ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงสนใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการสังเคราะห์แลคไทด์ (แอล ดี และ ดีแอล) จากแลคติก แอซิด โดยทำเป็นโรงงานต้นแบบ และ พัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพสูงตัวใหม่ เป้าหมายของงานวิจัยคือ มีเทคโนโลยีการผลิตแลคไทด์ของประเทศไทย ได้แลคไทด์ที่มีเปอร์เซ็นต์ผลผลิตสูง ความบริสุทธิ์สูง ราคาถูกกว่าเกรดทางการค้า และใช้เวลาการสังเคราะห์สั้น ตัวเร่งปฎิกิริยาตัวใหม่นี้สามารถใช้เป็นตัวริเริ่มปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพในการพอลิเมอไรเซชันแบบเปิดวงของแลคไทด์เป็นพอลิแลคไทด์อีกด้วย งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นโรงงานต้นแบบการผลิตแลคไทด์และพีแอลเอ แห่งแรกในประเทศไทย

เทคโนโลยีปลายน้ำ: การพัฒนาสูตรการผลิตฟิล์มบรรจุภัณฑ์

          การพัฒนาสูตรการผลิตฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่มีพอลิ(แลคติก แอซิด) เป็นองค์ประกอบหลักได้มีการพัฒนาสูตรที่เหมาะสม โดยนำพีแอลเอมาผสมกับอนุพันธ์ของเซลลูโลสซึ่งมีสมบัติที่แข็งและเหนียว และ สารเพิ่มความยืดหยุ่นที่เหมาะสม  ทำการเตรียมพอลิเมอร์ผสมโดยการหลอมผสม และขึ้นรูปโดยวิธีหล่อ รวมทั้งในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ต่างๆ จากผลการทดสอบด้านสมบัติเชิงกลพบว่าเมื่อผสมพอลิเมอร์สามองค์ประกอบ สามารถปรับปรุงสมบัติเชิงกลได้โดยพอลิเมอร์ผสมที่ได้มีความยืดยืดหยุ่นและมีความอ่อนนุ่มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับพีแอลเอเริ่มต้น งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างห้องปฏิบัติการพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

          การทดสอบการย่อยสลายในสภาวะปุ๋ยหมักแบบใช้ออกซิเจนพอลิเมอร์ที่มีพีแอลเอเป็นองค์ประกอบหลัก ได้ถูกนำไปทดสอบการย่อยสลายในสภาวะปุ๋ยหมักแบบใช้อออซิเจนในระยะเวลา 90 วัน พบว่าพีแอลเอนั้นสามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ภายใน 30 วัน อนุพันธ์ของเซลลูโลสไม่สามารถย่อยได้ภายใน 90 วัน และ พอลิเมอร์ผสมสามองค์ประกอบนั้นความสามารถการย่อยสลายขึ้นกับอัตราส่วนของพอลิเมอร์ผสม ซึ่งสามารถควบคุมได้ตามความต้องการ งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ห้องปฏิบัติการพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

          สำหรับการขยายผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีโครงการที่จะจัดตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพเพื่อทำการทดลองผลิตในระดับโรงงานขึ้น ในพื้นที่วิทยาเขตศรีบัวบาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนในอนาคต.


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ม.เชียงใหม่ ผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ โพสต์เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 14:59:28
TOP