x close

ยุ สพฐ. เลิกหลักสูตร ยกร่างของใหม่

 




ยุ"สพฐ."เลิกหลักสูตร-ยกร่างของใหม่ (ไทยโพสต์)

         นักวิชาการยุ "สพฐ." เลิกหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ควรยกร่างใหม่ทั้งหมด เพราะไม่สอดคล้องแนวทางปฏิรูปการศึกษา ที่เน้นกิจกรรมในเด็ก และลดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน

         รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมหารือบทบาทหน้าที่ในการกำหนดหลักสูตรและมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีแนวโน้มจะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ สพฐ.เพิ่งจะมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับปรับปรุง 2551 ไปแล้ว ว่า ตนเห็นด้วยที่จะมีการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่ควรแค่ปรับเท่านั้น แต่ควรจะยกเลิกหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และยกร่างใหม่ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ซึ่งการเรียนการสอนจะต้องเน้นไปที่สมรรถนะของผู้เรียน และลดเนื้อหาที่มีความซ้ำซ้อนลง นำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนของครูให้ไปเน้นในเรื่องการบูรณาการทำกิจกรรมและทำโครงงานต่างๆ มากขึ้น

         รศ.สมพงษ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากกิจกรรม ซึ่งขณะนี้เรียกว่าเป็นสูตร 70:30 ที่จะต้องเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการปรับเปลี่ยนจุดเน้นเรื่องคุณภาพผู้เรียน และปรับเนื้อหาที่มีความซ้ำซ้อนในปัจจุบันไปสู่กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อให้การดำเนินงานเป็นรูปธรรมโดยเร็วมาโดยตลอด 

         ขณะที่หลักสูตรปัจจุบันเป็นปัญหาและไม่สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นสมรรถนะผู้เรียน ไม่ใช่เน้นที่ตัวมาตรฐานการเรียนถึง 8 กลุ่มสาระเหมือนปัจจุบัน ที่ทำให้เด็กต้องเรียนเนื้อหามากเกินไป ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น อีกทั้งเนื้อหาส่วนหนึ่งยังเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เรียนไปแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์ ทำให้เด็กยังติดอยู่กับการท่องจำ กลายเป็นว่าเรียนเพื่อสอบ และที่สำคัญสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ก็ยังออกข้อสอบตามสาระการเรียนรู้ทำให้เด็กต้องไปเรียนกวดวิชาเพื่อให้มีความรู้มาสอบ

         "สิ่งที่พยายามจะให้เกิดขึ้นพยายามจะลดเนื้อหาทั้ง 8 กลุ่มสาระลง แต่ก็มีอาจารย์บางคนบอกว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นในการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 2 จึงพยายามให้ครูปรับรูปแบบการสอนจากที่เน้นสอนเนื้อหา มาเป็นวิทยากรกระบวนการที่จะสอนการทำโครงงานและการวิจัยชุมชนแทน และลดเนื้อหา 8 กลุ่มสาระลงให้เด็กเรียนเท่าที่จำเป็น เช่นเด็กระดับประถมศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนทั้งหมด แต่เรียนแค่สาระที่จำเป็น อาทิ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิชาบูรณาการ ทำกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ เป็นต้น" รศ.สมพงษ์กล่าว.



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยุ สพฐ. เลิกหลักสูตร ยกร่างของใหม่ อัปเดตล่าสุด 31 มกราคม 2554 เวลา 16:35:30
TOP