x close

ชงค่าสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ราคาเดียวสมัครได้ทุกที่

 




ชงเข้ามหา\'ลัยราคาเดียว (ไทยโพสต์)

              ทปอ.อาจารย์มัธยมปลายระดมความคิด เสนอ กกอ.กำหนดค่าสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็น "ราคาเดียว" สมัครได้ทุกที่ ลดภาระค่าใช้จ่ายไม่ให้เด็กเดือดร้อน ขณะที่ประธาน ทปอ. เผย เตรียมหารือปรับสัดส่วนแอดมิชชั่นกลาง/รับตรง ที่เหมาะสม 12 ก.พ.นี้

              รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ตนได้หารือกับตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา อาทิ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อาจารย์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อหารือเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง หรือแอดมิชชั่นและระบบรับตรง เบื้องต้นทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมีปัญหาจริง และควรต้องมีการแก้ไข 

              โดยเสนอว่า การจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ควรให้เด็กต้องมาวิ่งรอกสอบและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้น น่าจะมีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ชัดเจนว่า เด็กหนึ่งคนควรจะต้องเสียเท่าไหร่ เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อเด็กจะ ได้ไม่เดือดร้อน เช่น นักเรียนอาจจะเสียเงินค่าสมัครเพียง 1,200 บาทต่อคนเท่านั้น แต่สามารถที่จะเลือกเรียนที่ไหนก็ได้ หรืออาจจะต้องมีการกำหนดให้เลือกอันดับมหาวิทยาลัยด้วยว่าจะเป็นกี่อันดับ 

              นอกจากนี้ ทุกฝ่ายยังเห็นว่าถ้ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องการจะวัดเด็กในวิชาเฉพาะ ควรให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดสอบให้ เพื่อเด็กจะได้มาสอบที่เดียว และยังมีการเสนอให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปถึงการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยว่าเป็นอย่างไร ต้องแก้ไขและปรับปรุงในส่วนใดบ้าง ทั้งนี้ตนจะนำข้อเสนอทั้งหมดไปเสนอต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ที่จะมีการประชุมกันในวันที่ 3 ก.พ. นี้ เพื่อ กกอ.รับทราบ และดูว่า กกอ.จะมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้างกับเรื่องนี้

              ด้าน ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะนายกสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า สอท.ได้รวบรวมข้อมูลจำนวนนิสิต/นักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนชั้นปีที่ 1 ปีการ ศึกษา 2553 โดยจำแนกการรับด้วยระบบแอดมิชชั่นกลาง รับผ่าน สอท.และระบบรับตรงผ่านมหาวิทยาลัยใน 23 สถาบัน พบว่า มีนิสิตนักศึกษาผ่านการคัดเลือก จำนวน 121,383 คน แยกเป็น รับผ่านแอดมิชชั่นกลาง จำนวน 40,506 คน คิดเป็น 33.37% รับผ่านระบบรับตรง จำนวน 80,877 คน คิดเป็น 66.63% 

              แต่เมื่อมาดูจำนวนนิสิตนักศึกษาที่รับผ่านระบบรับตรงพบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 36.27% ม.เกษตรศาสตร์ 50.06% ม.ขอนแก่น 72.05% ม.เชียงใหม่ 57.98% ม.ทักษิณ 97.23% ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 84.97% ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 72.35% ม.เทคโนโลยีสุรนารี 70.48% ม.ธรรมศาสตร์ 51.91% ม.นครพนม 100% ม.นราธิวาสราชนครินทร์ 95.83% ม.นเรศวร 63.36% ม.บูรพา 81.74% ม.มหาสารคาม 71.35% ม.มหิดล 68.43% ม.แม่โจ้ 69.00% ม.แม่ฟ้าหลวง 83.27% ม.วลัยลักษณ์ 84.62% ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 59.20% ม.ศิลปากร 70.98% ม.สงขลานครินทร์ 62.23% ม.อุบลราชธานี 63.19% และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 67.57%

              "จากตัวเลขในภาพรวมเห็นว่าจำนวนรับตรงไม่มากนักเพียงแค่ 66% แต่ถ้าจะดูเป็นรายมหาวิทยาลัยก็ถือว่ามาก แต่ในทางปฏิบัติมหาวิทยาลัยจะรับตรงก่อนแอดมิชชั่นกลาง ซึ่งตัวเลขรับตรงที่ ตั้งไว้บางคณะสูง 70-80% หรือบางคณะ 100% แต่พอรับจริงอาจจะรับไม่ได้ตามเป้า ทำให้มหาวิทยาลัยอาจจะร่วมรับแอดมิชชั่นกลางด้วยแต่อาจจะไม่ได้เด็กอีก ทำให้มหาวิทยาลัยจะไปรับตรงเพิ่มอีก ซึ่งผมขอให้ทางคณะทำงานศึกษาแอดมิชชั่น ไปดูว่าสัดส่วนการรับตรงกับแอดมิชชั่นที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่เพื่อเสนอ ต่อ ทปอ. ในวันที่ 12 ก.พ.นี้" ศ.ดร.ประสาท กล่าว


 

 

 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชงค่าสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ราคาเดียวสมัครได้ทุกที่ อัปเดตล่าสุด 28 มกราคม 2554 เวลา 09:21:09
TOP