x close

สิงคโปร์ปฏิรูปการศึกษา งดแยกสายหลักสูตร เลิกตีตราเด็กว่าใครเก่ง-ไม่เก่ง

 

            สิงคโปร์เดินหน้าปฏิรูปการศึกษา ยกเลิกการแยกรูปแบบการเรียนตามสายหลักสูตรพิเศษ-สามัญ-อาชีพ เลิกตีตราว่าใครเก่ง-ไม่เก่ง เปิดโอกาสให้เด็กจัดการเส้นทางตัวเอง
การศึกษา
ภาพจาก govsingapore

            วันที่ 5 มีนาคม 2562 เว็บไซต์สเตรทไทมส์ และแชนแนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า นายออง เย กัง  (Ong Ye Kung) รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาของสิงคโปร์ เผยแผนโยบายปฏิรูปการศึกษาในการประชุมสภา โดยระบุว่า ภายในปี 2667 หรือจากนี้ไปอีก 5 ปี การศึกษาระดับมัธยมศึกษา จะยกเลิกระบบการให้นักเรียนเลือกแผนการเรียนตามหลักสูตร 3 สาย ทั้งหลักสูตรเร่งรัด (Express), หลักสูตรปกติสายสามัญ Normal (Academic) และหลักสูตรปกติสายอาชีพ Normal (Technical) ที่ขึ้นอยู่กับผลการสอบ PSLE (Primary School Leaving Examination) หรือการสอบวัดผลชั้นประถมศึกษาปี 6 ที่นักเรียนสอบแข่งขันกันทั่วประเทศเพื่อขึ้นชั้นมัธยม

            "เราจะไม่ให้ปลาว่ายไปตามกระแสน้ำ 3 สายที่แบ่งแยกจากกัน แต่มันจะเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่หนึ่งเดียว ที่ให้ปลาแต่ละตัวสามารถจัดการเส้นทางของตัวเองได้" นายออง เย กัง กล่าว

            โดยแผนใหม่ที่ว่านี้ จะเป็นแผนการศึกษาแบบ Subject-Based Banding (SBB) เริ่มตั้งแต่ปีหน้าใน 25 โรงเรียนมัธยม จะให้เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน ได้เรียนหลากหลายวิชาเหมือนกันทั้งหมด ไม่ใช่การแบ่งวิชาเรียนตามแบบ 3 สายเช่นเดิม โดยเด็กนักเรียนสามารถเลือกเรียนวิชาต่าง ๆ ได้ตามความถนัดและสนใจ หากชอบในวิชานั้น ๆ ก็สามารถเรียนไล่ระดับต่อไปเรื่อย ๆ มีตั้งแต่ G1, G2 ไปจนถึง G3

            สำหรับเหตุผลที่ต้องยกเลิกการศึกษาในระบบเดิม นายออง เย กัง ระบุว่า ระบบการศึกษานี้ ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งมีความเป็นกังวลว่ามีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่เรียนไม่ไหว ดังนั้น จึงต้องมีการเปลี่ยนระบบการศึกษาในแบบที่จำกัดให้เด็กนักเรียนต้องเลือกสายใดสายหนึ่ง เพราะเมื่อเด็กเรียนไม่ทัน หรือไม่เข้าใจวิชาที่ต้องเรียน พวกเขาก็จะหมดความสนใจ และดรอปการเรียนไปในที่สุด

            นายออง เย กัง เผยว่า ตนมั่นใจว่าระบบใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนจำนวนมาก ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของเขาในวัยเด็ก เขาเติบโตมาในครอบครัวพูดภาษาจีน ทำให้เขาประสบความยากลำบากในการเรียนภาษาอังกฤษมาโดยตลอด เขาเพิ่งจะสามารถอ่านออกเสียงและสะกดคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้ตอนประถมศึกษาปีที่ 3 แสดงให้เห็นว่า เด็กแต่ละคนได้รับการดูแลด้านการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ส่งผลต่อการเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา ทำให้ไม่มีโอกาสที่สองในการเปลี่ยนการศึกษาของตัวเอง หรือพูดอีกอย่างก็คือ เด็กบางคนอาจจะสนใจในบางวิชา แต่ไม่มีพื้นฐานที่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อในวิชานั้น ๆ ได้ 

           ทว่าระบบการศึกษาใหม่นี้ ในชั้นมัธยมศึกษา เด็กนักเรียนจะสามารถเริ่มต้นพัฒนาทักษะวิชาที่ไม่เก่งหรือไม่ถนัดได้ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน (G1) ไปจนถึงระดับก้าวหน้า (G3) ทำให้เด็กได้พัฒนาระดับความสามารถทางด้านสติปัญญา ควบคู่ไปกับความสนใจของตัวเอง ในขณะที่การศึกษาแบบเดิม เป็นการแบ่งรูปแบบการเรียนให้เด็ก จำกัดกรอบให้พวกเขา เด็กถูกแบ่งแยกว่าเก่งและไม่เก่งอย่างชัดเจน ดังนั้น ระบบการศึกษาใหม่นี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนเลือกเรียนได้เอง หากอยากข้ามสายหรือเปลี่ยนสายความรู้ที่สนใจก็สามารถทำได้ 

            นายออง เย กัง กล่าวว่า "เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ล้วนมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งก็เป็นวิถีของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป ดังนั้น ความท้าทายของระบบการศึกษาคือ การจัดหาสิ่งที่พวกเขาต้องการ นั่นคือจุดประสงค์หลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ระบบการศึกษาในโรงเรียนจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น การเรียนรู้ของเด็กนักเรียนสามารถมีการปรับแต่งได้ เพื่อให้พวกเขาเบ่งบานเติบโตได้แตกต่างกัน ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมของพวกเขา เชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น"



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สิงคโปร์ปฏิรูปการศึกษา งดแยกสายหลักสูตร เลิกตีตราเด็กว่าใครเก่ง-ไม่เก่ง อัปเดตล่าสุด 8 มีนาคม 2562 เวลา 17:33:16 16,571 อ่าน
TOP