x close

มหิดล เปิดสอนนิติวิทยาดิจิทัล ล่าโจรไฮเทค



มหิดล เปิดสอนนิติวิทยาดิจิทัลล่าโจรไฮเทค (ไทยโพสต์)

          มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดหลักสูตร "นิติวิทยาดิจิทัล" ระดับปริญญาเป็นแห่งแรก หวังสร้างบุคลากร-เชี่ยวชาญในการจับผู้กระทำความผิดทางดิจิทัล "ผู้พิพากษา" ห่วงการค้นหาความจริงจากหลักฐานทางดิจิตอลอาจยาก เพราะถูกทำลายง่าย แต่ยอบรับศาลจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยี

          เมื่อวันอังคาร ที่หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.สรนิต ศิลธรรม รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและสารสนเทศ  ม.มหิดล ร่วมกับ ผศ.วิชาญ เลิศวิภาตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา, นายดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา และ ผศ.รวิน ระวิวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมกันให้ข้อมูลกรณี "การพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล"

          ผศ.รวิน กล่าวว่า ในปี 2554 ม.มหิดล เตรียมการที่จะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการนวัตกรรมและการเรียนรู้ด้านนิติวิศวกรรม (ห้องปฏิบัติการการสืบค้นและกู้ข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์) และได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับ NECTEC มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ เตรียมเปิดหลักสูตรนิติวิทยาดิจิตอลเป็นแห่งแรก เพื่อพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติวิศวกรรมเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญให้กับหน่วยงานทั้งทางภาครัฐและเอกชน

          "ขณะนี้ได้จัดทำหลักสูตรปริญญาโทด้านดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะรับนักศึกษาได้ปีละประมาณ 40 คน และในปี 55 มีแผนที่จะจัดตั้งห้องปฏิบัติการการสืบค้นและกู้ข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือ และห้องปฏิบัติการความมั่นคงบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์"

          เขาบอกว่า การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านดิจิทัล ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ และในหลักสูตรในระดับปริญญายังไม่มีเลย ส่วนใหญ่เป็นแค่การอบรมระยะสั้น จึงยังไม่สามารถนำมาช่วยเหลือการจับผู้กระทำผิดทางดิจิตอลมาลงโทษได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเรามีความภูมิใจและมีความพร้อมในการช่วยผลิตบุคลากร และเป็นแหล่งในการพิสูจน์หลักฐานทางดิจิตอลให้กับผู้ที่ต้องการ เพื่อให้ความยุติธรรมมีความยุติธรรมจริง ๆ

          ขณะที่นายดลกล่าวถึงความยากในการค้นหาความจริงจากหลักฐานทางดิจิตอลว่า ที่ผ่านมาเราจะชินกับพยานหลักฐาน ซึ่งกฎหมายระบุว่ามี 3 อย่าง คือ วัตถุ บุคคล และเอกสาร แต่พอบอกว่ามีพยานหลักฐานดิจิตอล นักกฎหมายก็จะงงทันทีว่ามันคืออะไร เป็นแบบไหน ปัญหาคือการพัฒนาและการนำกฎหมายมาใช้กับคดีที่เกิดขึ้นจะมีความยุ่งยาก ในกรณีที่คนยังไม่เข้าระบบของมัน ประกอบกับพยานหลักฐานทางดิจิทัลมันถูกทำลายง่าย แปลสภาพง่าย

          "ดังนั้นหากมาพูดถึงทางคดีแล้วจะพิสูจน์ว่าใครเป็นคนทำผิด แต่ด้วยเหตุมันถูกทำลายง่าย จึงต้องเกิดคำถามตามมาว่าถูกใส่ร้ายหรือเปล่า คนอื่นมาทำหรือเขาทำเอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้งเขา เมื่อหลักฐานเปลี่ยนแปลงง่ายก็ยิ่งมีปัญหาง่ายขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายไทยปัจจุบันในเรื่องทางอาญาหากมีเหตุอันควรสงสัยศาลจะยกฟ้อง โจทก์ต้องสืบให้ศาลเชื่อว่าเขาเป็นคนทำผิด เกิดความผิดขึ้นจริงตามที่กฎหมายบัญญัติ 99% ถ้าต่ำกว่านั้นศาลสงสัยก็จะยกฟ้องทันที ความยากของการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานก็เป็นปัญหาหนึ่ง" นายดล กล่าว

          ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวต่อว่า หลักฐานทางดิจิตอลมันอยู่ในเครื่องรูปแบบแถบแม่เหล็ก ความยุ่งยากในการเก็บรวบรวม การรักษาพยาน การวิเคราะห์ และต้องนำสืบให้ศาลไม่สงสัย จึงถือเป็นปัญหาในทางปฏิบัติค่อนข้างมาก ซึ่งในประเทศเราคดีที่เกี่ยวกับดิจิทัลยังไม่เยอะ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายที่รองรับพยานหลักฐานดิจิตอลหลายฉบับออกมาแล้ว เช่น พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ แต่ปรากฏว่าคดีที่ขึ้นมาสู่ศาลยังไม่มากเท่าที่ควร

          "ปัญหาคือเมื่อเกิดคดีขึ้นมาแล้วเราจะทำยังไง จะพิจารณาได้หรือไม่ ในมุมของศาลเป็นห่วงอยู่อย่างเดียวคือเรื่ององค์ความรู้ของเทคโนโลยี แต่ข้อดีคือตอนนี้เราใช้ระบบกล่าวหา คือคู่ความเป็นคนนำสืบ แต่ไม่ได้หมายความศาลไม่จำเป็นต้องรู้ แต่ต้องรู้ว่ากระบวนการขั้นตอน การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทางดิจิทัล จะต้องใช้กระบวนการพิเศษอย่างไร มีมาตรฐานอย่างไรเวลาศาลพิพากษาจะยึดสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเกณฑ์" นายดล กล่าว




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



   
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มหิดล เปิดสอนนิติวิทยาดิจิทัล ล่าโจรไฮเทค อัปเดตล่าสุด 19 มกราคม 2554 เวลา 10:35:21
TOP