x close

สั่งฟันโรงเรียนกวดวิชา ค้ากำไรเกิน




สั่งฟันรร.กวดวิชาค้ากำไรเกิน (ไทยโพสต์)

            ครม.เบรกเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา แต่ยังไม่รอด นายกฯ สั่งคลัง-ศธ.เช็กบิล ค้ากำไรเกินควร พร้อมให้เชือดครูขยักวิชา ใช้เวลาราชการรับจ๊อบไปสอนโรงเรียนกวดวิชา "ประดิษฐ์" เผยแค่ กทม.เปิดสอน 2.7 พันแห่ง บางแห่งฟันกำไรปีละพันล้าน แต่จดทะเบียนกับ สช. แค่พันแห่ง


            ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ได้มีการพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสนอให้ ครม.พิจารณาและกำหนดให้กระทรวงการคลังจัดเก็บภาษี รร.สอนกวดวิชาขึ้น

            นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ถึงกรณีการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาว่า ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือมาถึงรัฐบาล เสนอแนะเกี่ยวกับเรื่อง รร.กวดวิชา 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องของการเก็บภาษี และ 2.เรื่องความปลอดภัยในสถานที่ ซึ่งในเรื่องของความปลอดภัยในสถานที่นั้นไม่มีปัญหาอะไร เพราะ ศธ.เป็นผู้อนุญาตนั้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน รร.เอกชนหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับการศึกษา ก็ไม่ได้มีการจัดเก็บภาษี แต่จะมีการควบคุมในเรื่องของค่าธรรมเนียม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้หลังจากที่ฟังความห่วงใยจากทาง ป.ป.ช.แล้ว เห็นว่าน่าจะเป็นปัญหา 2 ปัญหาที่ต้องเข้าไปดู คือ 1.ปัญหาว่าธุรกิจเหล่านี้นั้นมีการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ และ 2.ธุรกิจเหล่านี้ที่เติบโตมาก และเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือครู รร. มีส่วนผลักให้เด็กต้องเข้ามาที่ รร.กวดวิชาหรือไม่ ฉะนั้น ทางแก้ที่ทาง ครม.เห็นว่าตรงประเด็นที่สุดให้ไปดูปัญหาในเรื่องของการมีกำไรเกินควร ซึ่งคือการตรวจสอบว่าผู้ประกอบการหรือธุรกิจเหล่านี้มีกำไรมากน้อยแค่ไหน ถ้าเกินไปก็จะต้องเข้าไปดำเนินการ และถ้ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือครู รร.ที่มีส่วนผลักให้เด็กต้องเข้ามาที่ รร.กวดวิชาก็ต้องถือเป็นความผิด

            ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตามที่มติ ครม.ขอให้ ศธ.เคร่งครัดไม่ให้ครูใช้เวลาราชการไปเปิด รร.กวดวิชา หรือใช้เวลาที่ต้องสอนนักเรียนไปสอนใน รร.กวดวิชา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ตนจึงถือโอกาสนี้ในการเตือนครูที่กระทำการดังกล่าวด้วย

            ส่วนค่าเรียนใน รร.กวดวิชาที่ถูกมองว่าสูงเกินควร นายชินวรณ์กล่าวว่า รร.กวดวิชาถือว่าเป็น รร.นอกระบบ และตาม พ.ร.บ.รร.เอกชน พ.ศ.2550 ยังกำหนดว่าการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าทำเนียมอื่นของ รร.นอกระบบต้องไม่มีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควร แม้ว่าจะไม่มีการกำหนดไว้ว่ากำไรควรจะเป็นเท่าไหร่ก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หากเห็นว่ามีการแสวงหากำไรเกินควรก็มีอำนาจสั่งให้ลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามสมควรได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดระเบียบเพื่อให้ รร.นอกระบบจัดทำรายงานแสดงกิจการและงบการเงินของโรงเรียนเพื่อตรวจสอบว่าการดำเนินการของโรงเรียน ว่าได้ดำเนินการตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กำหนดได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยให้นำค่าใช้จ่ายของ รร.รวมกับผลตอบแทนมากำหนดเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษาจะต้องได้กำไรไม่เกิน 20%

            ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในปี 2550 พบว่า รร.กวดวิชาที่จดทะเบียนทั่วประเทศทั้งหมด 1,078 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 334 แห่ง ต่างจังหวัด 744 แห่ง จำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาทั้งสิ้น 353,060 คนต่อปี มีครูผู้สอน 7,199 คน ขณะที่นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ขณะนี้มี รร.กวดวิชาทั้งหมด 2,715 แห่ง แบ่งเป็นใน กทม. 2,685 แห่ง และในต่างจังหวัดอีก 30 แห่ง ซึ่งแต่ละปีสถาบันกวดวิชาเหล่านี้มีกำไรถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี สอดคล้องกับความเห็นและการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุการเติบโตของธุรกิจกวดวิชามีแบบก้าวกระโดด มีรายได้จากค่าธรรมเนียม 6,039 ล้านบาท ในปี 2550 ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 1,000-3,000 บาท

            ในขณะที่กรมสรรพากรตรวจสอบธุรกิจ รร.นอกระบบ พบว่า ไม่มีการกำหนดเพดานค่าธรรมเนียม เพราะกฎหมายใช้คำระบุว่า "สามารถเก็บได้ตามสมควร" สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จึงไม่สามารถควบคุมค่าเล่าเรียนสำหรับ รร.สอนกวดวิชาได้ ดังนั้นจากข้อมูลปี 2550 หากรัฐเก็บภาษีจะสามารถนำรายได้เข้ารัฐ จำนวนประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี ส่วน รร.เอกชนตาม พ.ร.บ.รร.เอกชน พ.ศ.2500 อาทิ รร.อัสสัมชัญและเอกชนทั่วไปคงยกเว้นภาษีเหมือนเดิม



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สั่งฟันโรงเรียนกวดวิชา ค้ากำไรเกิน อัปเดตล่าสุด 22 มกราคม 2554 เวลา 16:17:48
TOP