x close

สทศ.ร้องราชบัณฑิตช่วย บัญญัติศัพท์ย่อสอบ NET




สทศ.ร้องราชบัณฑิตช่วย บัญญัติศัพท์ย่อสอบ"NET"

          สทศ.ร้องขอราชบัณฑิตเตรียมบัญญัติศัพท์ตัวย่อภาษาไทย การสอบสารพัด "NET" และ "GAT/PAT" เพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

          ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน รักษาการผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราชบัณฑิตยสภาได้ขอข้อมูลจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เกี่ยวกับคำและความหมายต่างๆ ของการทดสอบที่ สทศ.ดำเนินการจัดสอบ ได้แก่ กลุ่มแบบทดสอบที่ลงท้ายด้วย NET เช่น O-NET หรือแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน, V-NET แบบทดสอบอาชีวศึกษา, N-NET แบบทดสอบสำหรับนักเรียนการศึกษานอกโรงเรียน, I-NET แบบทดสอบสำหรับนักเรียนอิสลามศึกษา รวมทั้ง GAT/PAT โดย GAT หรือ General Aptitude Test หรือแบบวัดความถนัดทั่วไป PAT หรือ Professional and Academic Aptitude Test หรือแบบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ เป็นต้น เพื่อบัญญัติลงในพจนานุกรมวิชาการของราชบัณฑิตยสภา ซึ่ง สทศ.เห็นว่าเป็นโอกาสดี และได้ให้ข้อมูลไปเรียบร้อยแล้ว และได้แจ้งกับบัณฑิตยสภาว่าจะขอให้ทางราชบัณฑิตยสภาช่วยกำหนดศัพท์ตัวย่อที่เป็นภาษาไทยเพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

          ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเรียกร้องให้กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยจัดสอบซ่อมวิชาเฉพาะทางการแพทย์ให้กับเด็กที่ถูกตัดสิทธิ์สอบเนื่องจากหลักฐานการสมัครสอบไม่ครบถ้วน โดยเทียบเคียงกับการจัดสอบ GAT/PAT ของ สทศ. ซึ่งจัดสอบปีละ 3 ครั้ง ซึ่งเป็นข้อสอบเพื่อคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนกันนั้น ศ.ดร.อุทุมพรกล่าวว่า ข้อสอบทั้ง 2 ประเภทใช้ในการสอบคัดเลือกเหมือนกันก็จริง แต่การสอบ GAT/PAT จะเลือกใช้คะแนนสูงสุดไปใช้ ดังนั้นข้อสอบของ GAT/PAT จึงเป็นข้อสอบคู่ขนาน แต่การสอบคัดเลือกแพทย์คัดเลือกจากผู้มีคะแนนสูงสุดจนถึงคะแนนต่ำสุดตามจำนวนที่ต้องการ ดังนั้นข้อสอบแพทย์กับ GAT/PAT จึงเป็นคนละแนวคิดกัน.


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สทศ.ร้องราชบัณฑิตช่วย บัญญัติศัพท์ย่อสอบ NET อัปเดตล่าสุด 9 พฤศจิกายน 2553 เวลา 15:03:41
TOP