สำเร็จ! สกัดน้ำหอม ไม้กฤษณาได้ผลทุกต้น มก.เตรียมเผยแพร่ความรู้ (ไทยโพสต์)
นักวิจัยไม้กฤษณา มก.ค้นพบเทคนิคกระตุ้นสารหอมจากไม้ชื่อดัง สกัดน้ำหอมได้ทุกต้นด้วยวิธีธรรมชาติ กำลังจะเปิดอบรมให้ผู้สนใจได้รับความรู้อย่างถูกต้อง เตือนผู้ปลูกไม้กฤษณาอย่าหลงเชื่อโฆษณาสอนวิธีกระตุ้นสารหอม อาจเข้าข่ายขบวนการต้มตุ๋น
รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ ผู้เชี่ยวชาญสารหอมจากไม้กฤษณา ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาวิจัยไม้กฤษณาเพื่อหาวิธีกระตุ้นให้เกิดน้ำมันหอมระเหยหรือสารหอมใน ปริมาณสูงขึ้น โดยได้รับทุนวิจัยจาก มก. เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งขณะนี้เสร็จสิ้นโครงการแล้ว และยังได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อศึกษาโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การจัดทำมาตรฐานและการใช้ประโยชน์สารหอมจากไม้กฤษณาในเชิงพาณิชย์ เมื่อปี 2552 และในปีนี้ยังขอทุนวิจัยเพื่อต่อยอดการตลาดในระดับอุตสาหกรรม ผลจากการวิจัยครั้งนี้ได้ค้นพบเทคนิคใหม่ในการกระตุ้นไม้กฤษณาให้เกิดสารหอม ด้วยวิธีธรรมชาติทั้งหมด 3 สูตร ได้แก่ 1.การใช้เชื้อรา 2.สารอินทรีย์ที่ปลอดภัย และ 3.การใช้สารอินทรีย์ผสมสารสกัดสมุนไพร ซึ่งได้จดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รศ.ดร.งามผ่องกล่าวอีกว่า ไม้กฤษณาเป็นไม้โตเร็ว น้ำหอมจากไม้กฤษณาในปัจจุบันมีราคาแพงมาก เพราะการผลิตในประเทศไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง ตลาดใหญ่คือ ประเทศแถบตะวันออกกลางและยุโรป ถึงแม้ไม้กฤษณาที่มีการปลูกกันในเมืองไทยจะมีเพิ่มมากขึ้น ประมาณเกือบ 20 ล้านต้น แต่ปัญหาที่พบคือ ไม้กฤษณาไม่สร้างสารหอม เพราะโดยธรรมชาติไม้กฤษณาจะสร้างสารหอมต่อเมื่อเกิดแผลบนเนื้อไม้ และจากการสำรวจพบไม้หอมเกิดขึ้นประมาณ 0-10% ของพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ บางต้นอาจจะไม่สร้างสารหอมขึ้นเลย
"ผู้วิจัยวิธีกระตุ้นสารหอมจากไม้กฤษณามี 3 ท่าน ประกอบด้วย รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ รศ.พูนพิไล สุวรรณฤทธิ์ และอาจารย์ศลิษา สุจิตรวรสาร จากคณะวิทยาศาสตร์ มก. ได้ค้นพบวิธีการใหม่ที่จะกระตุ้นสารหอมได้ 100% หรือทำได้ทุกต้น กระตุ้นได้ตั้งแต่ต้นไม้มีอายุ 5 ปีขึ้นไป แล้วนำเนื้อไม้มาเข้ากระบวนการกระตุ้น การสกัดและการกลั่น โดยใช้ระยะเวลา 1 ปี จะได้ผลผลิตน้ำหอมประมาณ 0.3% ของน้ำหนักเนื้อไม้" ผู้เชี่ยวชาญสารหอมจากไม้กฤษณากล่าว และว่า เมื่อวิเคราะห์คุณภาพน้ำหอมที่ได้อยู่ในระดับเกรดเอ+ หากขายในเมืองไทยในขนาด 1 โตร่าหรือ 12 ซีซี ก็จะได้ราคา 8,000 บาท แต่ถ้าส่งขายต่างประเทศ เช่น เมืองดูไบ จะได้ราคา 25,000 บาท
รศ.ดร.งามผ่องบอกว่า ไม้กฤษณาที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งยังเป็นต้นขนาดเล็ก สามารถกระตุ้นให้เกิดสารหอมและกลั่นเป็นน้ำหอมได้ปริมาณขั้นต่ำ 2 โตร่า มากกว่าวิธีที่ทำกันทั่วไป 1 เท่า หากขนาดต้นไม้ใหญ่มากขึ้นหรือมีอายุมากขึ้นก็จะได้ปริมาณน้ำหอมเพิ่มมากขึ้น ตามอัตราส่วน ทั้งนี้ การใช้เทคนิคกระตุ้นให้เกิดสารหอมทั้ง 3 สูตรดังกล่าวมีความแตกต่างกันและขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ปลูก แต่สามารถปลูกได้ทั่วประเทศ
"ขณะนี้ยังมีการหลอกลวงประชาชนให้ลงทุนปลูกไม้กฤษณาในราคาสูงเกินจริง ราคาต้นกล้าทุกวันนี้ราคา 10-12 บาทเท่านั้น ไม่ควรซื้อในราคาเกินกว่านี้ ในส่วนเกษตรกรหรือผู้ที่กำลังปลูกไม้กฤษณาไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อว่า สามารถกระตุ้นให้เกิดสารหอมได้ ก่อนตัดสินใจก็ต้องศึกษาหาข้อมูลให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อต้มตุ๋นและสูญเสียเงินจำนวนมาก"
รศ.ดร.งามผ่องกล่าวอีกว่า กำลังเปิดอบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไม้กฤษณาตั้งแต่การปลูก การกระตุ้นให้เกิดสารหอม และการตลาดไม้กฤษณา ตลอดจนให้ความรู้อย่างถูกต้องในการสกัดสารหอมจากไม้กฤษณาให้ได้ปริมาณผลผลิต สูง โดยจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ณ วัดนาหลวง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี โดยมีหัวข้อบรรยายและสาธิตเทคนิคกระตุ้นสารหอมโดยใช้เชื้อราและสารอินทรีย์ ที่ปลอดภัย และชมน้ำหอมที่เกิดจากการกระตุ้น เป็นต้น ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2562-5555 ต่อ 4020
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ชมรมไม้กฤษณา (ไม้หอม) แห่งประเทศไทย