การเรียนต่อต่างประเทศถือเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคน ยิ่งหากเราได้ทุนเรียนต่อต่างประเทศด้วยแล้ว บอกเลยว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ของชีวิต แต่แหม...หลาย ๆ คนคงคิดเหมือนกันใช่ไหมคะว่าการขอทุนไปเรียนต่างประเทศก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ลองมาดูกันค่ะว่าการขอทุนไปเรียนต่อต่างประเทศยากจริงไหม เพราะวันนี้ คุณ LUZINDA สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ใจดีสรุปวิธีขอทุนไปเรียนต่างประเทศมาบอกต่อกันแล้ว
หลายคนอาจจะมองว่าการเรียนต่อต่างประเทศนั้นยากแล้ว แต่การหาเงินไปเรียนต่อนั้นยากกว่า 555 วันนี้เปิ้ลขอเปิดมุมมองอีกด้านหนึ่งสำหรับคนไม่เก่งภาษา ไม่มีเงิน มีแต่ตัวและหัวใจกันค่ะ ข้างล่างนี้คือกระทู้ที่เคยเขียนเรื่องขอทุนไว้ค่ะ
- ต่อโทเมืองนอก ของ่ายกว่าที่คิด (Taiwan Full Scholarship)
โดยส่วนตัวเปิ้ลนั้นวิเคราะห์ตนเองออกมาว่า...
ไม่เก่งอิ๊ง+เรียนไม่ยาก+เอาที่ไม่ต้องมีประสบการณ์ทำงาน+จบไม่ตรงสายที่ต่อโท+ไม่เอาแบบสัมภาษณ์ ก็เลยนั่งหาข้อมูลมาเจอ National Formosa University, Taiwan มหาวิทยาลัยนี้เอาโทอิกน้อยมากประมาณ 550 +เกรด 2 กว่า ก็สมัครได้+ไม่มีสอบ+ไม่ต้องมีประสบการณ์ทำงาน+ ไม่ต้องใช้ทุนคืน+มีค่าครองชีพให้+เรียนไม่ยากจนเกินไป ;)
แบบนี้ก็มีด้วยยยยยยย น่าสนใจใช่ไหมค่ะ
ขอทุนไปเรียนต่อนั้นง่ายกว่าที่คิดเยอะค่ะ บางที่อาจจะแค่ยื่นเอกสารรอพิจารณาแล้วก็รอประกาศผลสวย ๆ หากตอบรับก็ทำเรื่องของวีซ่าและซื้อตั๋วเดินทางโล้ดด
ตัวอย่างทุนที่ดังและคิดว่าทุกท่านคงรู้จัก อันนี้ก็มีความยากในปัจจัยต่าง ๆ เยอะ อาทิ
- Chevening
- Fulbright
- DAAD
- Endeavour
จริง ๆ แล้วทุนเรียนต่อต่างประเทศก็มีทั้งหน่วยงานในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยที่สนับสนุน หรือเป็นในส่วนของประเทศต่าง ๆ ที่ให้ทุนกับนักศึกษาต่างชาติ บางประเทศก็มีข้อกำหนดว่าให้ทุนกับประเทศใดบ้าง แต่ในบทความนี้ขออนุญาตพูดถึงทุนในต่างประเทศค่ะ
สารบัญ
1. ประเมินความรู้ความสามารถของตนเอง+หาความชอบ
2. เลือกประเทศ+ประเภททุน และเงื่อนไขต่าง ๆ
3. Timeline วางแผนการดำเนินการ, ระยะเวลาสมัคร, ประกาศผล
4. จัดเตรียมเอกสาร
5. Upgrade Profile ง่ายนิดเดียว
1. ประเมินความรู้ความสามารถของตนเอง+หาความชอบ
ขั้นแรกสุดก่อนจะหาข้อมูลใด ๆ คือการสำรวจความสามารถของตนเองก่อน เช่น
* ความสามารถในศาสตร์แขนงที่สนใจจะสมัคร
- เรียนต่อด้านเดิมที่เรียนมา
- เรียนสาขาใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเดิม
ลองสำรวจความต้องการของตนเองดูนะคะ ว่าเป้าหมายที่เรามาเรียนนี่ต้องการอะไร หรือจะนำไปใช้ยังไงต่อได้บ้าง
* ความสามารถทางภาษา
- บางประเทศอาจจะต้องใช้ภาษาประจำชาติเขาร่วมด้วย เช่น บางมหาวิทยาลัยในจีน, เยอรมัน
- ผลคะแนนภาษาอังกฤษว่ารับในรูปแบบใด IELTS, TOEFL, TOEIC อื่น ๆ
วางแผนโทอิก 600 ใน 1เดือนกันค่ะ
- สูตร(ไม่ลับ)30วันพิชิตTOEIC 600+
* สามารถที่จะอยู่คนเดียวไกล ๆ เป็นเวลาหลายเดือนได้ไหม
สำหรับบางท่านที่ไม่เคยไปต่างประเทศหรือไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ห่างบ้านนาน ๆ ให้ลองถามใจตัวเองดูก่อนนะคะ ว่าถ้าเราต้องไปนาน ๆ กว่าจะได้กลับทีก็อาจจะช่วงปิดเทอม เราไหวไหม พร้อมไหม
* ความสามารถในการจ่ายตังค์ค่ะ 555
ในส่วนนี้ต้องเข้าใจในเงื่อนไขของการขอทุนว่ามีแบบต้องทำงานใช้คืน หรือไม่ใช้คืน ให้ทุนค่าเทอม 100%, 75% หรือเพียง 50% หรือเป็นทุนที่ให้ค่าครองชีพด้วย
ส่วนในเรื่องของความชอบนั้นก็สำคัญนะคะ ถามตัวเองให้แน่ใจว่าเราพร้อมไหมนอกจากทางด้านร่างกายและความสามารถแล้ว จิตใจก็สำคัญ หรือสิ่งที่เรียนเราเรียนไปเพื่ออะไร
- บางคนอาจจะบอกว่าสนองความต้องการ
- บางคนเรียนเพราะความชอบ
- บางคนก็อาจจะนำไปต่อยอดความรู้ในด้านการทำงาน
จากนั้นลองกำหนดคุณสมบัติคร่าว ๆ ของตนเองและสาขาที่ต้องการ+อื่น ๆ
ตัวอย่างเช่น มีคะแนน IELTS 7.0 พูดภาษาเยอรมันได้ประมาณ B1 ต้องการทุนฟรีไม่ใช้คืน+มีค่าครองชีพให้ สนใจด้านบริหารธุรกิจ (หากยังไม่สอบภาษาก็ประเมินระดับภาษาตนเองคร่าวๆ)+เป็นประเทศแถบยุโรป จากนั้นก็มาลองดูประเทศที่ให้ทุน-มหาวิทยาลัย-สาขา-เงื่อนไข กันต่อไป
2. เลือกประเทศ+ประเภททุน และเงื่อนไขอื่น ๆ
เมื่อเรารู้ความต้องการและความสามารถของตนเองแล้ว จากนั้นเราจึงมาดูว่าทุนแบบไหนที่เหมาะสำหรับเรา
ตัวอย่างทุน
- ทุนรัฐบาลอินเดีย ให้ตั้งแต่ ตรี โท เอก ในทุกสาขาวิชา ยกเว้นแพทย์ มีเงินเดือนให้ทุกเดือน พออยู่พอใช้ มีค่าเครื่องบิน มีทริปให้ไปท่องเที่ยวทั่วอินเดียทุกเทอม เจอเพื่อนจากร้อยกว่าประเทศทั่วโลกที่ได้ทุนมาเหมือนกัน ให้ค่าเทอม เรียนจบกลับไทยทันที แต่วุฒิใช้ได้ทั่วโลก
- ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ‘มงบุคะงะคุโชว’ หรือเรียกสั้นว่าทุนมง สำหรับคนที่ชอบแดนปลาดิบ ผู้คนมีระเบียบวินัย ให้ตั๋วเครื่องบิน ให้ค่าเล่าเรียน พร้อมเงินกว่าเดือนละ 50,000 บาท ที่สำคัญไม่ต้องคืนเงิน ไม่ต้องใช้ทุน
- ทุนสหภาพยุโรป (Erasmus Mundus) ในหลักสูตรเดียวให้เลือกเรียนได้ถึง 2-3 ประเทศ อยู่ประเทศละเทอมสองเทอม กว่าจะเรียนจบก็ได้เที่ยวหลายที่ ให้เงินเดือน มีค่าที่พัก มีกิจกรรมทัศนศึกษา แถมที่สำคัญเรียนจบก็ไม่บังคับ อยากกลับบ้านก็ได้ อยากทำงานในยุโรปก็ได้ ขอแค่สมัครเอง แล้วบริษัทรับก็เป็นพอ
- ทุนประเทศฝรั่งเศส (Franco-Thai) อันนี้ให้สำหรับปริญญาโท-เอก มีทั้งแบบทุนเต็มจำนวนและกี่งหนี่งก็ว่ากันไป แต่ช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่นจะได้รับการคุ้มครองทั้งกายและใจ รวมถึงมีสวัสดิการสังคมให้เต็มที่
- ทุนฟูลไบรท์ อันนี้ของสหรัฐอเมริกา ให้ทุนด้านภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์ โดยรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งมวล ขอแค่เรียนจบห้ามหางานในอเมริกา 2 ปี หลังจากนั้นจะตีตั๋วกลับมาก็เอาตามที่สบายใจเลย
- ทุนรัฐบาลโมร็อกโก อันนี้สำหรับคนที่พอได้ภาษาฝรั่งเศสหรืออาหรับ สมัครเรียนได้ทุกสาขาไม่จำกัดอายุ ไม่ต้องอยู่ใช้ทุน แต่อาจต้องพกพาเงินเดือนไปเพิ่มเติมบ้าง อันนี้ก็ถือว่าลงทุนเพื่อการศึกษานะคะ
- ทุนรัฐบาลจีน (CSC) อันนี้ก็ขอแนะนำเลย คนไทยได้กันเยอะมาก เรียนจบไม่ผูกมัด แถมอยู่ใกล้เดินทางไป-กลับได้สะดวก ได้ภาษาจีนมาเพิ่มด้วย แถมบางหลักสูตรเรียนเป็นภาษาอังกฤษด้วยนะ ส่วนทุนที่ได้ก็ครอบคลุมทั้งการเดินทางทั้งในทั้งนอกประเทศ ทั้งค่าอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอย ที่พัก สวัสดิการ เงินเดือน ถ้าไม่อยากใช้ทุนก็น่าสนอยู่นะ
- ทุนไต้หวัน อันนี้สำหรับ ป.โท ได้เงินเดือน เดือนละ 30,000 บาทโดยประมาณจนจบหลักสูตร รวมทุกอย่างที่อยากได้ ทั้งเครื่องบิน ที่พัก ค่าหนังสือ แถมยังมีหลักสูตรปรับพื้นฐานภาษาจีนให้ด้วย
- ทุนมาเลเซีย อันนี้ก็น่าสนใจเพราะมีค่าใช้ให้หลายประการ เริ่มตั้งแต่เรียนตรียันเรียนเอกเลยทีเดียว นอกจากนี้ที่นี่ยังใช้ภาษาอังกฤษสำหรับการเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนได้เปรียบมากมาย แต่มีข้อแม้ว่าหลังเรียนจบห้ามทำงานในมาเลเซียเท่านั้นเอง
- ทุนรัฐบาลเม็กซิโก สำหรับใครที่อยากไปผจญภัย เรียนรู้วัฒนธรรม พูดภาษาสเปนด้วยอังกฤษด้วย ที่เม็กซิโกก็เป็นตัวเลือกหนี่งที่น่าสน เพราะดูแลตั้งแต่เงินรายเดือน ถึงค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วย เผลอ ๆ หากเรียนสายวิทย์ฯ บริษัทในประเทศอาจดึงตัวให้ทำงานต่อก็เป็นได้
- ทุนอังกฤษ Chevening สำหรับผู้ที่สนใจเงื่อนไขที่ไม่มีข้อผูกมัด ยกเว้นต้องกลับมาทำงานที่ไหนก็ได้ (ไม่จำเป็นต้องเป็นภาครัฐ) ในเมืองไทยสองปีหลังเรียนจบ ใครอยากมาใช้ชีวิตเมืองผู้ดี ก็ลองสมัครทุนนี้ดู ทุนนี้มีเครือข่ายผู้รับทุนที่ใหญ่และมีเกียรติแห่งหนี่งของโลกเชียวนะ
- ทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ สำหรับใครที่หลงใหลในประเทศเกาหลีใต้ และอยากที่จะศึกษาหาความรู้ในประเทศที่ให้ทั้งทุนเรียนภาษาและทุนปริญญาแบบ (1+2 ปี) โดยไม่ต้องใช้ทุนแต่อย่างใด
- ทุน UN ไปเรียนด้านสันติภาพ ที่คอสตาริกาและฟิลิปปินส์ ทุนนี้ก็เป็นทุนให้เปล่าเช่นเดียวกันเพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำสันติภาพในระดับโลก ใครอยากไปใช้ชีวิตชาวเกาะ พร้อมทุนการศึกษาและโอกาสทำงานในองค์การระหว่างประเทศก็อันนี้เลย
- ทุน DAAD ของเยอรมนี อาจได้ทำงานในเยอรมนีต่อ ได้ทุนเรียนภาษา ที่สำคัญใครมีลูกภรรยาสามีพาไปด้วย เขาก็ให้เงินทุนเพิ่มด้วยนะเออ แถมมีสาขาให้เลือกเยอะ หากใครมีความสามารถจริง มหาวิทยาลัย และอาจารย์อาจหางานให้ทำต่อด้วยล่ะ
- ทุนรัฐบาลตุรกี เรียนที่นี่ได้อยู่ทั้งยุโรปและเอเชียในประเทศเดียว มีหลายคอร์สให้เลือกจากตรีถึงเอก แถมยังได้ภาษาตุรกีและอังกฤษอีกด้วย สำหรับผู้สนใจด้านศาสนา อิสลามศึกษาก็น่าสนไม่เบา
- ทุน Singa ของสิงคโปร์ สำหรับสายวิทย์ฯ วิศวะ เทคโนโลยี อันนี้ให้เงินก็เยอะ นอกจากฟรีแล้วเรียนที่ NUS หรือ NTU ถือว่าระดับโลกเลยทีเดียว อีกอย่างบินไป-กลับไทย สิงคโปร์ก็ใช้เวลาไม่นาน
เครดิต : www.wegointer.com
ยังมีอีกเยอะนะคะ ไม่เชื่อลองถามอากู๋ดูได้เลยค่ะ อิอิ
ประเทศที่อยากไป
- อยากอยู่ใกล้ไทยเพื่อเดินทางสะดวกช่วงวันหยุดหรือปิดภาคเรียน ค่าใช้จ่ายต่ำก็คงไม่พ้นแถบเอเชีย เช่น จีน, ไต้หวัน, มาเลเซีย
- อยากท่องเที่ยว อยู่ในประเทศที่สวยงาม ค่าครองชีพก็จะสูงตามมาด้วย เช่น โปแลนด์, เยอรมนี, ฝรั่งเศส
- อยากอยู่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เช่น USA, UK, AUS
**สำคัญมากอย่าลืมตรวจสอบสำหรับผู้ที่จะทำงานราชการว่า มหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรนั้น ๆ เป็นที่ยอมรับของ ก.พ. หรือไม่
เงื่อนไขของทุน
อันนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรตรวจสอบให้ดีก่อนเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาตามมาทีหลังค่ะ
* ทุนเต็มจำนวน+ค่าครองชีพ+ไม่ต้องใช้ทุนคืน
- ค่าครองชีพของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นอาจจะให้มาก-น้อยไม่เท่ากัน แต่เท่าที่เห็นมาเขาจะแจ้งไว้เลยว่า Master degree ให้เท่าไร Doctoral degreeให้เท่าไร
* ทุนเต็มจำนวน+ไม่ต้องใช้ทุนคืน/ทำงานใช้ทุน
* ทุน 75% 50%
* อื่น ๆ
- เป็นเรื่องของคุณสมบัติด้วย เช่น บางที่เอาเกรดขั้นต่ำหรือไม่, ต้องมีประสบการณ์ทำงานไหม, ต้องจบ ป.ตรี ตรงสาขาหรือเปล่า
**บางทุนมีเงื่อนไขว่าต้องได้เกรดตามที่กำหนด เทอมต่อไปถึงจะได้ทุน
หลังจากเราหาทุนที่ใช่สำหรับเราได้แล้ว ต่อมาก็คือการวางแผนตามระยะเวลาที่ทุนกำหนดเพราะเอกสารต่าง ๆ ล้วนใช้เวลา เช่น Resume, Recommend Letter, Research Proposal, Autobiography, การทำ Passport, ตรวจสุขภาพ, เอกสารทางด้านการเงิน, ทรานสคริปต์ เป็นต้น
ในส่วนของวันประกาศผลก็แล้วแต่ที่เลย ของเปิ้ลประมาณ 1 เดือนนิด ๆ ก็ทราบผลทางอีเมลค่ะ ช่องทางการประกาศผลก็แตกต่างกันไปตามข้อกำหนดมหาวิทยาลัย
สำหรับน้องมัธยมที่สนใจอยากต่อปริญญาตรี/โทในอนาคต แนะนำว่าให้เตรียมตัวเรื่องภาษา (อังกฤษ, ภาษาประจำชาตินั้น ๆ ) และทักษะที่จำเป็นไว้ให้มาก เช่น ความรู้รอบตัว, ทักษะการปรับตัว, ทักษะการพูด การ Present งานต่าง ๆ ช่วงอายุของน้องค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องการเตรียมตัวเพราะค่อนข้างมีเวลา มีความพร้อมเท่ากับมีชัยไปกว่าครึ่งแล้วนะคะเด็ก ๆ ^^ ป.ล. อยากฝึกการพูด ต้องกระทู้นี้เลยค่ะ
- 10 เทคนิคการพูดแบบฉบับนักพูดระดับโลก (Ted talks)
สำหรับน้องปริญญาตรีที่สนใจอยากต่อปริญญาโทในอนาคต หากน้อง ๆ ยังอยู่ในช่วงปี 1-2 น้อง ๆ มีเวลาในการอัดภาษาได้เต็มที่ รวมถึงเตรียมความพร้อมในด้านอื่น ๆ อีกด้วย
* อย่าลืมวางแผนในเรื่องของ Statement กันด้วยนะคะ แต่ละที่เขามีกำหนดขั้นต่ำอยู่
* บางทุนเปิดทุกเทอม เช่น ที่ไต้หวันเปิดรับชาวต่างชาติทุกเทอม เราสามารถส่งได้ตามระยะเวลาที่เขากำหนด ปีนึงสอง-สามรอบแน่ะ
** สำหรับน้อง ๆ ที่ไม่ค่อยเก่งภาษา+ไม่ค่อยจะมีตังค์+อยากได้ภาษาที่สาม แนะนำไต้หวันเลยค่ะทุนเยอะมาก รวมทั้งมีค่าครองชีพให้ ไม่ต้องใช้ทุนคืน สมัครง่ายแค่ส่งเอกสาร ระดับภาษาส่งโทอิกได้เริ่มต้นเท่าที่เห็นรับกันก็ประมาณ 500 เองมั้งคะ บางที่สูง-ต่ำขึ้นอยู่กับกฎของมหาวิทยาลัย
4. จัดเตรียมเอกสาร
หากน้อง ๆ ตัดสินใจได้แล้วว่าจะสมัครมหาวิทยาลัยไหน ต่อมาก็เริ่มในการจัดเตรียมเอกสารซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีข้อกำหนดต่างกัน อาทิ
* Resume or CV เทคนิคคร่าว ๆ
- ประสบการณ์ต่าง ๆ
- ใบประกาศนียบัตร (หากไม่มี เรามีวิธีช่วยค่ะ ดูได้จากหัวข้อที่ 5)
- อาจจะลงเรื่อง Hard skill, Soft skill ลงไป
- ความสามารถพิเศษ
- ทักษะทางภาษา หากมีคะแนนสอบด้วยยิ่งดีค่ะ
- คู่มือสรุปการทำ Resume, CV ฉบับเบื้องต้น
รู้วิธีการทำ Resume แล้ว มาต่อกันด้วยเครื่องมือในการทำ Resume กันค่ะ
- คู่มือเทคนิคการทำ Infographic ฉบับมือใหม่หัดขับ
* Autobiography
ประวัติส่วนตัวบางที่อาจจะมีกำหนดขั้นต่ำนะคะ เช่น 1,000 คำ+
เทคนิคคร่าว ๆ
- หากกรณีให้เขียนเป็นพันคำ ให้ลองร่างแต่ละย่อหน้าที่ต้องการ
- ดึงจุดเด่นที่น่าสนใจของเราออกมาให้ได้
- จบไม่ตรงสายที่จะเรียนต่อก็สามารถพูดถึงความสนใจที่อยากเรียนต่อได้
- เขียนเกี่ยวกับกิจกรรมที่เคยทำมาหรือเรียนเพิ่มเติม
- อวย ๆ ประเทศเขาว่าทำไมเราถึงอยากไปเรียนต่อ อาจจะเพราะระบบการศึกษาดี สามารถสร้าง connection ได้, แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมไปถึงเขียนว่าทำไมอยากได้รับทุนนี้ ที่มหาวิทยาลัยนี้
- เขียนเกี่ยวกับเมื่อเรียนจบแล้วจะนำความรู้ไปต่อยอดหรือใช้ต่อได้อย่างไร
- เขียนเกี่ยวกับนิสัยส่วนตัว เช่น เป็นคนเข้ากับคนง่าย ชอบเรียนรู้ เป็นคนอุตสาหะ
* Recommend letter
ไม่แน่ใจว่าสามารถเป็นจดหมายจากเจ้านายได้ไหม หรือว่าต้องจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว (หลาย ๆ ที่อาจจะเอา 2-3 ท่านค่ะ)
เทคนิคคร่าว ๆ
- หาอาจารย์ที่ติดต่อง่าย ๆ
- มียศต่าง ๆ ทางการศึกษายิ่งดีค่ะ 555
- หากอาจารย์ชิล ๆ เราก็อาจจะร่างหรือบอกความต้องการไปว่าอยากให้เขียนประมาณไหน เช่น ความประพฤติดี, เคยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเป็นยังไง, เรียนดี อะไรก็ว่ากันไป
- Seal ไปเลยก็ดีนะคะ บางที่กำหนดชัดเจนในคู่มือการสมัคร อาจจะ Seal และให้อาจารย์เซ็นชื่อทับรอยเปิด-ปิดหลังจดหมาย
*อย่าลืมติดขนม นม เนย เข้าไปฝากท่านด้วยนะคะ อิอิ เพื่อผูกสัมพันธ์ศิษย์-อาจารย์
* Research Proposal
หัวข้องานวิจัย หากเขาไม่ได้กำหนดโครงมาให้เรา เราสามารถลองค้นหาฟอร์มในอากู๋ได้เช่นเคย
เทคนิคคร่าว ๆ
- หาหัวข้อที่น่าใจหรือที่เราอยากทำ
- ในเนื้อหาลองหาผลวิจัยใส่ลงไป
- เขียนเป็นสามเหลี่ยมคว่ำ คือจากกว้างเข้าไปแคบ
- ถ้ากลัวซ้ำลองเจาะกลุ่มเข้าไป เช่น ในประเทศไทย เป็นต้น
* Study plan
พยายามเขียนให้เขาเห็นว่าเรามีความตั้งใจจริงที่จะมาเรียนที่นี่ และเรามีความสามารถที่จะเรียนได้จนจบ รวมถึงเขียนว่าเมื่อเราจบแล้วเราจะทำอะไรต่อ พยายามเขียนในลักษณะเชิงบวกที่ให้อะไรกับคนอื่นหรือสังคม เช่น กลับมาพัฒนาประเทศ กลับมาเป็นอาจารย์ รวมถึงตอนเรียนเราจะทำอะไรบ้างแล้วลองเรียบเรียงดูค่ะ ว่าถ้าเราเป็นกรรมการ เราอ่านแล้วรู้สึกสนใจไหม ยิ่งที่ที่ไม่ต้องสอบด้วยแล้ว มันวัดกันแค่หน้ากระดาษนี่เองค่ะ
*** เอกสารต่าง ๆ ที่เป็น Resume, Research Proposal, Autobiography หากไม่แม่นในเรื่องของภาษาหรือแกรมมาร์ ลองหาเพื่อน ๆ ที่เก่ง ๆ หรือบริการตรวจคำจาก Native Speaker ทางอากู๋ดูนะคะ ไม่แพงค่ะ จะได้เป๊ะปังกันไปเลย
* การสมัครนั้นมีทั้งแบบ Online และแบบจดหมาย
ทริคส่วนตัวนะคะ อันนี้ คหสต. มหาวิทยาลัยที่คนสมัครน้อยอาจจะรับด้วยจดหมายมากกว่าทำระบบเพิ่มขึ้นมา เป็น Choice ที่น่าสนใจมากนะคะ สำหรับท่านที่ไม่เก่งแต่อยากไปเรียนต่อ เพราะคู่แข่งอาจจะน้อยกว่าที่อื่น ๆ
5. Upgrade Profile ง่ายนิดเดียว
Resume ก็โล่ง ประวัติก็ไม่รู้จะเขียนอะไร ประสบการณ์ก็ไม่มี ไม่ใช่ปัญหาค่ะ เพราะเราสามารถที่จะเพิ่ม Certificate ได้ฟรี ๆ หรือเสียตังค์ก็มี 555 โดยทำผ่านการเรียนออนไลน์ MOOC ลองค้นหาดูนะคะ ไม่ว่าจะเป็น edX, Coursera, Udemy, Thaimooc และอื่น ๆ อีกมากมาย
ใช้เวลาไม่มากและสามารถเลือกหัวข้อความรู้ที่เราต้องการได้ค่ะ แบบอยากต่อโทบริหารแต่จบทำอาหาร ก็ลองลงเรียนเพื่อเอาใบประกาศดู เพื่อที่เราจะได้นำไปเขียนได้ว่าเราสนใจและเรียนเพิ่มเติมมาแล้วนะ
ภาพจาก linkedin.com
อย่าลืมกดถูกใจหรือจะกดเลิฟ กดแชร์ก็ได้นะคะ เพื่อเป็นกำลังใจเล็ก ๆ ให้ จขกท. ด้วยค่ะ อยากให้น้อง ๆ พี่ ๆ ที่ฝันอยากเรียนต่อได้รู้ว่าขอทุนไม่ได้ยากอย่างที่คิด
สุดท้ายนี้อยากฝากเพื่อนๆ สมาชิกไว้ว่า “อ่านกระทู้แล้วได้ความรู้ แต่ถ้าลองคบกับ จขกท. แล้วจะพบความรัก” ล้อเล่นนะคะ 555555+ แล้วพบกันใหม่ในกระทู้หน้าค่ะ ขอบคุณค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
คุณ LUZINDA สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม