x close
education > ข่าวการศึกษา

นักศึกษาไทยเจ๋ง-ทีมฝนหลวงคว้าแชมป์สร้างหุ่น RDC2017 เป็นตัวแทนสู้ศึกที่จีน !

|

         

          เอ็มเทค-สวทช. เปิดเวทีฉลอง 10 ปี ให้เด็กไทยโชว์ทักษะการสร้างหุ่นยนต์ในหัวข้อ “รัชกาลที่ ๙ กับการเกษตร” น้อมนำแนวพระราชดำริเกษตรยั่งยืนสู่สนาม “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย” (RDC2017) เฟ้นหาตัวแทนเด็กไทยร่วมแข่งขันเวทีออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือ “IDC RoBoCon 2017” ระหว่างวันที่ 6 – 19 สิงหาคม 2560 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดโดยมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University)
 
          ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ร่วมจัด “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10” (Robot Design Contest 2017, RDC2017) รอบชิงชนะเลิศ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ทักษะความสามารถของเยาวชนไทยด้านการศึกษาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ณ ลานชั้น 1 ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ รวมทั้งเฟ้นหาเยาวชนตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2017 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 6 - 19 สิงหาคม 2560 ซึ่งมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันต่อไป

          สำหรับหัวข้อการแข่งขัน RDC 2017 ในปีนี้ คือ “รัชกาลที่ ๙ กับการเกษตร” มีนิสิต นักศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วมจำนวน 220 คน จาก 30 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยแบ่งการแข่งขันรอบคัดเลือกไปใน 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออก และภาคใต้ ตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนเหลือผู้เข้ารอบสุดท้ายร่วมกับนักศึกษาในภาคกลางและตะวันตก รวมทั้งสิ้น 78 คน จาก 22 สถาบันการศึกษา

          ในการแข่งขันระดับประเทศนี้ แบ่งผู้เข้าแข่งขันออกเป็น 16 ทีม ทีมละ 4 - 5 คน แบบคละสถาบันการศึกษา ในการเก็บตัวปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกปี โดยผู้จัดการแข่งขันได้แบ่งการอบรมออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาคทฤษฎีเพื่อเสริมทักษะด้านการออกแบบและเขียนโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงานและเคลื่อนที่อัตโนมัติตามพื้นฐานของการสร้างหุ่นยนต์ และการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมตามรอยพ่อ ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน เพื่อให้เยาวชนได้สัมผัสประสบการณ์จริงที่เป็นต้นแบบสาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรที่ยั่งยืนทฤษฎีใหม่ตามแนวทางพระราชดำริและการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเยาวชนทุกคนจะได้ลงมือเป็นเกษตรกรจริงในทุกขั้นตอนเพื่อนำประสบการณ์มาพัฒนาและต่อยอดเข้ากับการสร้างหุ่นยนต์ให้ตรงกับโจทย์ของการแข่งขันที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก่อนการแข่งขันรอบสุดท้าย

          ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวว่า ปัจจุบันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ทั้งในวงการแพทย์ การศึกษา การเกษตร ระบบอุตสาหกรรม ฯลฯ เอ็มเทค จึงได้ใช้เวทีการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 เพื่อเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เยาวชนไทยได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น ผู้เข้าแข่งขันจะได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะด้านการสร้างและออกแบบหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม และเรียนรู้การทำงานเป็นทีมตลอดจนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยสร้างและผลักดันให้เกิดบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต
 
          สำหรับหัวข้อในปีนี้คือ รัชกาลที่ ๙ กับการเกษตร เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวทางการจัดการเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับเกษตรกรไทย โดยการเลือกจัดสรรพื้นที่ทำเกษตรอย่างเหมาะสม มีทั้งส่วนเพาะปลูกเพื่อการบริโภคและจำหน่าย ส่วนที่อยู่อาศัยและการเลี้ยงสัตว์ ส่วนกักเก็บน้ำเพื่อการใช้ภายในไร่นา ทำให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ ลดค่าใช้จ่าย เกื้อหนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี และยังนำของเสียหรือมูลของสัตว์กลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งในรูปของปุ๋ย อาหารเลี้ยงสัตว์ และพลังงาน ผู้จัดการแข่งขันจึงคิดโจทย์ให้ผู้แข่งขันได้ระดมทักษะความสามารถมาใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพและช่วยส่งเสริมการเกษตรได้
 

          ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกฎกติกาการแข่งขัน RDC 2017 ในปีนี้ว่า เราได้จำลองปัญหาการเกษตรแบบพื้นที่ราบสูงจากจังหวัดน่านมาเป็นสนามแข่งขัน ซึ่งพื้นที่จะมีทั้งพื้นราบและราบสูงเชิงเขามีปัญหาเรื่องการขนส่งน้ำขึ้นไปทำการเพาะปลูก โดยปีนี้ผู้จัดการแข่งขันได้พานักศึกษาไปสัมผัสพื้นที่จริงเพื่อนำมาเป็นพื้นฐานในการออกแบบหุ่นยนต์ และเพื่อให้อิสระในการทำงานจึงไม่มีการกำหนดขนาดและจำนวนของหุ่นยนต์ในแต่ละทีม เพื่อจะได้ออกแบบให้เหมาะกับภารกิจต่าง ๆ โดยทุกทีมมีเวลาแข่งขันเพียง 150 วินาที ที่จะต้องบังคับหุ่นยนต์ให้ไปกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกรวม 10 ต้น ก่อนจะลงมือปลูกต้นกล้าทั้งบนพื้นราบและเนินสูงอย่างน้อย 20 ต้น และต้องขนลูกปิงปอง ที่เป็นตัวแทนของน้ำจำนวนต้องสัมพันธ์กับต้นกล้าที่ปลูก ขึ้นไปเก็บไว้บนพื้นที่ด้านบนของสนามซึ่งจำลองเป็นสระกักเก็บน้ำ หลังจากนั้นทำปุ๋ยหมักจากวัชพืชที่ถอนทิ้งร่วมกับมูลวัวที่อยู่ในส่วนเลี้ยงสัตว์จึงจะเกิดคะแนน นอกจากนั้นอาจทำ Bingo เพื่อชัยชนะได้ด้วย

          "ทีมใดสามารถกำจัดวัชพืชทั้งหมด ปลูกพืชบนพื้นราบและเนินอย่างน้อย 20 ต้น และมีบนเนิน 3 ต้น เก็บลูกปิงปอง (น้ำจากแม่น้ำ) ไปไว้ในสระได้ 20 ลูก และทำปุ๋ยคอกได้สมบูรณ์ 1 ก้อน ได้ก่อนก็จะชนะคู่แข่งทันที ซึ่งความยากของการแข่งขันที่หุ่นยนต์ต้องทำหลายอย่างในเวลาที่จำกัด นักศึกษาที่เข้าแข่งขันต้องวางแผนการทำงาน รู้จักแบ่งหน้าที่ของทุกคนในทีม ออกแบบหุ่นให้สัมพันธ์กับการใช้งาน และต้องใช้ไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหวังว่าหลังจบจากกิจกรรมนี้นักศึกษาจะนำประสบการณ์ ไปดัดแปลงและใช้งานจริงได้ในอนาคต และในอีก 5-10 ปี เหล่านักศึกษาจากเวทีนี้จะไปเป็นผู้ประกอบการใหม่ทางด้านการสร้างหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยต่อไป”  ดร.สุรัฐ ระบุ
 
          สำหรับทีมผู้ชนะเลิศในการแข่งขัน RDC 2017 ได้แก่ “ทีมฝนหลวง” ประกอบไปด้วย นายวิวัฒน์ ศิลารักษ์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล นายธัญญรัตน์ หงษ์คงคา จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร นางสาวฐิติมา สุขจิตร จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม นายมาซูวัน ดือเระ จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ นายสุทิวัส ญาณชโลทร จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วม “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือ IDC RoBoCon 2017” ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6 - 19 สิงหาคม 2560 โดยมีประเทศที่เข้าร่วม คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ อียิปต์ เม็กซิโก และประเทศไทย

          นายธัญญรัตน์ หงษ์คงคา จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ตัวแทนทีมผู้ชนะ กล่าวถึงชัยชนะในครั้งนี้ว่า ดีใจมากที่ชนะเพราะการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างหุ่นนี้ขึ้นมา เราค่อนข้างพยายามกันมาก เพราะเป็นงานหนักและทุกคนต่างก็เครียดกันทั้งสัปดาห์ก่อนการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ แน่นอนว่ามันต้องมีปัญหา ติดขัดอะไรบ้าง แต่ทุกคนก็ร่วมแรงร่วมใจแก้ปัญหา ช่วยกันวางแผน ก็รู้สึกประทับใจที่ทีมเราถึงจุดนี้ ส่วนเทคนิคที่คิดว่าทำให้ทีมเราชนะนั้น ตนคิดว่า อยู่ที่คนบังคับ และการวางหุ่นในแต่ละแพทเทิร์น เราต้องคิดให้ดีก่อนว่า เราวางหุ่นแบบนี้จะมีประโยชน์อย่างไรให้ทำได้ง่าย เก็บได้เยอะ และเร็วที่สุด

          “สำหรับการไปแข่งขันที่จีนในเดือนสิงหาคมนี้ ผมคิดว่าคงเตรียมตัวทั้งในเรื่องภาษาอังกฤษ และทำการบ้านเรื่องเมคานิกที่เราจะใช้ในการสร้างหุ่น ที่จะช่วยซัพพอร์ตทุกคนในทีมให้ได้ดีที่สุด และผมจะพยายามเรียนเทคนิคของเพื่อนต่างชาติเพื่อนำมาประยุกต์สำหรับการเรียนออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ต่อไปในอนาคต ก็ฝากเพื่อน ๆ คนไทยช่วยกันเชียร์พวกเราด้วยนะครับ” นายธัญญรัตน์ กล่าว 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักศึกษาไทยเจ๋ง-ทีมฝนหลวงคว้าแชมป์สร้างหุ่น RDC2017 เป็นตัวแทนสู้ศึกที่จีน ! อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2560 เวลา 15:21
TOP