x close

ม.มหิดล พัฒนาชุดตรวจดีเอ็นเอช้างสำเร็จ

elephent

ชุดตรวจ DNA ช้าง ม.มหิดล ทำสำเร็จ (ไทยโพสต์)

          นักชีววิทยา ม.มหิดล พัฒนาชุดตรวจดีเอ็นเอ ระบุตัวลูกช้างป้องกันสวมรอยนำช้างออกจากป่าสู่ธุรกิจช้างเลี้ยงและยังเทียบตำแหน่งดีเอ็นเอพิสูจน์ความสัมพันธ์แม่ลูกช้างได้ เตรียมดันเข้าสู่คณะกรรมการกำกับนโยบายช้างแห่งชาตินำไปบังคับใช้จริงกับช้างเลี้ยงทั่วประเทศ เผยอนาคตต่อยอดพัฒนาชุดตรวจสอบดีเอ็นเอในสัตว์ป่าเศรษฐกิจชนิดอื่น

          การตรวจสอบดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกไม่ได้มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น แต่ปัจจุบันนักวิจัยได้พัฒนาชุดตรวจสอบดีเอ็นเอระบุตัวช้างเลี้ยงและพิสูจน์ความสัมพันธ์ของแม่ลูกช้างเอเชีย เพื่อป้องกันผู้ลักลอบนำช้างป่ามาสวมรอยได้สำเร็จแล้ว

          ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 กันยายน น.ส.ชมชื่น ศิริผันแก้ว ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยชุดตรวจดีเอ็นเอช้างเลี้ยง โครงการพัฒนาองค์ความรู้และการศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศ ไทย (โครงการ BRT) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่าจากปัญหาลักลอบนำลูกช้างป่ามาขึ้นทะเบียนสวมรอยเพื่อนำเข้าสู่ธุรกิจการซื้อขายช้างเลี้ยง จึงได้พัฒนาชุดเครื่องหมายดีเอ็นเอเพื่อการระบุตัวช้างด้วยรหัสพันธุกรรม 15 ตำแหน่ง มีความแม่นยำ 99.99% และยังวิเคราะห์ความสัมพันธ์แม่ลูกช้างด้วยเครื่องหมายดีเอ็นเอ มีความแม่นยำ 98.80% ซึ่งทาง น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ สัตวแพทย์ประจำสำนักพระราชวัง เตรียมผลักดันเข้าสู่คณะกรรมการกำกับนโยบายช้างแห่งชาติ เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลรหัสดีเอ็นเอช้างเลี้ยงทั่วประเทศไทยต่อไป

          น.ส.ชมชื่น กล่าวว่า ปัจจุบันการยืนยันว่าลูกช้างเชือกใดเชือกหนึ่งเป็นช้างเลี้ยง คือการมีหลักฐานยืนยันได้ว่าลูกช้างเชือกนั้นเกิดจากแม่ช้างเลี้ยงจริงแต่วิธีที่ดีที่สุดที่จะระบุตัวลูกช้างเลี้ยงคือเมื่อมีลูกช้างแรกเกิดควรทำการระบุตัวลูกช้างและแม่ช้างด้วยรหัสดีเอ็นเอ โดยการใช้ชุดเครื่องหมายดีเอ็นเอคุณภาพสูงที่เราได้พัฒนาขึ้นพร้อมบันทึกข้อมูลทางสรีระและพฤติกรรมของคู่แม่ลูกช้างประกอบเป็นหลักฐานในใบเกิดของลูกช้าง

          เมื่อลูกช้างมีอายุตามเกณฑ์ในการทำตั๋วรูปพรรณควรทำการตรวจสอบดีเอ็นเออีกครั้งเพื่อยืนยันว่าเป็นลูกช้างเชือกเดียวกันกับที่ระบุไว้ในใบเกิดนั้นจริงสำหรับลูกช้างที่ยังไม่มีตั๋วรูปพรรณควรนำรหัสดีเอ็นเอประจำตัวลูกช้างและแม่ช้างมาจับคู่เปรียบเทียบร่วมกับรหัสดีเอ็นเอของช้างเพศเมียเชือกอื่น ๆ ทั่วประเทศหากหลักฐานทางสถิติให้ผลการยืนยันว่าเป็นลูกของแม่ช้างตามคำกล่าวอ้างจริงจึงจะระบุว่าเป็นลูกช้างเชือกนั้นเป็นลูกช้างเลี้ยง

          "ประโยชน์ของชุดตรวจดีเอ็นเอชนิดไมโครแซตเทลไลต์ของช้างเอเชียที่เราพัฒนา ขึ้นจะช่วยป้องกันการนำช้างป่าและลูกช้างป่ามาสวมรอยเป็นช้างเลี้ยงได้ แต่จะต้องสร้างระบบให้ช้างทุกเชือกถูกระบุตัวด้วยรหัสดีเอ็นเอที่มีคุณภาพสูง เมื่อช้างที่ได้รับการทำรหัสดีเอ็นเอประจำตัวแล้วล้มตายหากเจ้าของนำเอกสารเช่น ใบเกิดหรือตั๋วรูปพรรณ มาสวมสิทธิช้างป่าก็จะถูกตรวจสอบได้ เพราะรหัสดีเอ็นเอไม่สามารถปลอมแปลงได้" นักวิจัยชุดตรวจดีเอ็นเอช้างเลี้ยงกล่าว

          ส่วนในกรณีที่มีการส่งช้างไปยังต่างประเทศ ข้อมูลดีเอ็นเอก็ยังจะช่วยตรวจสอบประวัติของช้างและช่วยคัดเลือกช้างที่จะส่งไปต่างประเทศได้โดยช้างที่ จะถูกส่งออกควรมีการระบุตัวเป็นช้างเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิด และไม่ควรเป็นช้างที่มีลักษณะพันธุกรรมที่หาได้ยากในประชากรช้างเลี้ยงของประเทศไทย

     น.ส.ชมชื่น กล่าวว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังจะต้องพัฒนาตำแหน่งดีเอ็นเอที่ใช้ในการตรวจความสัมพันธ์แม่ลูกช้าง ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะจากการตรวจดีเอ็นเอลูกช้าง 19 เชือก เทียบกับแม่ช้างจริงและแม่ช้างปลอม 35 เชือก นำมาจับคู่กัน จำนวน 665 ครั้ง พบว่าตรวจสอบความสัมพันธ์แม่ลูกได้ถูกต้องจำนวน 657 ครั้ง หลังจากนี้ไปก็จะมีการพัฒนาชุดตรวจสอบดีเอ็นเอช้างป่า และดำเนินการทดสอบในเร็ว ๆ นี้

          "ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างป่าประมาณ 2000 ตัว และช้างเลี้ยงประมาณ 3000 เชือก ข้อมูลทางพันธุกรรมจะช่วยในการระบุตัวและนับจำนวนตัวช้างป่ารวมถึงการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของช้างป่า ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังการ สูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม และยังเป็นข้อมูลในการศึกษานิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมของช้างป่า เช่น การจับคู่ พฤติกรรมในโขลงและการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของช้างในโขลงอีกด้วย" น.ส.ชมชื่นกล่าว และว่าในอนาคตจะมีการต่อยอดพัฒนาชุดตรวจดีเอ็นเอในสัตว์ป่าเศรษฐกิจ เช่น ไก่ฟ้า พญาลอ นกยูง นกปรอดหัวโขน และ กวาง เป็นต้นซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงหากการพัฒนาสำเร็จจะช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าได้อีกหลายชนิด



ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ม.มหิดล พัฒนาชุดตรวจดีเอ็นเอช้างสำเร็จ อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2553 เวลา 15:12:39
TOP