x close

ตะลึง! พบเด็ก ป.4 ริเป็นมาเฟียเด็ก

ทำร้ายเด็ก


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          เปิดผลวิจัยจุฬาฯ อึ้งพบเด็ก กทม. ป.4 ถึง ม.ต้น ริเป็นมาเฟียเด็ก ตั้งแก๊ง ทำร้ายร่างกาย รีดไถเงิน เสพและค้ายา ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ เผยเด็กใช้ความรุนแรงมากเป็นอันดับ 2 ของโลก

          วานนี้ (10 กันยายน) สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2553 โดยตอนหนึ่งของการสัมมนา ได้กล่าวถึงปัญหาของครอบครัวไทย ที่มีการหย่าร้างมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงของนักเรียนได้

          โดย พ.ญ.ศิริกุล อิศรานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว (กสค.) กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาเด็ก และครอบครัวได้ ต้องทำให้พ่อแม่มีคุณภาพ และสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ แต่ ณ ปัจจุบัน ยังมีครอบครัวที่ยากลำบาก พึ่งตัวเองไม่ได้ร้อยละ 20 จึงต้องมีการเข้าไปช่วยเหลือ แก้ปัญหา

          นอกจากนี้ ต้องปลูกฝังสอนให้เด็กรุ่นนี้ ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นแซด หรือ Gen Z ปรับตัวเสียใหม่ เพราะเด็กรุ่นนี้มีลักษณะเป็นวัยรุ่นใจร้อน วู่วาม ไม่มีทักษะควบคุมอารมณ์ ซึ่งพบว่า มีเด็กนิยมใช้ความรุนแรงตั้งแต่ชั้นประถม เช่น การข่มขู่รีดเงินจากเพื่อน ซึ่งพ่อแม่ต้องใช้เวลาทุ่มเทกับลูกแต่ละคนอย่างน้อย 10 ปีจึงจะได้คนมีคุณภาพ

          ด้าน ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ นักวิชาการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กใช้ความรุนแรงมากขึ้น และแนวโน้มพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในเด็ก มีรูปแบบที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่เด็กที่ทำผิดกฎหมายมีอายุน้อยลง โดยเฉลี่ย 12-18 ปี

          ทั้งนี้ จากการวิจัยเรื่อง "มาเฟียเด็ก" ใน กทม. ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ร้อยละ 18 ของนักเรียนในกลุ่มตัวอย่าง มีพฤติกรรมมาเฟียเด็ก ทั้งทำร้ายร่างกาย รีดไถเงิน เสพยา ค้ายา ขายบริการทางเพศ ซึ่งพบในทุกระดับ โดยเฉลี่ยเป็นเด็ก ป.4-ม.ต้น ที่พบความรุนแรงเดือนละ 2-3 ครั้ง และเป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้เด็กซึมซับมาจากครอบครัว

          ดร.วิมลทิพย์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงของเยาวชนจึงเป็นหน้าที่โดยตรงของครอบครัว อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายโรงเรียนที่มีเครือข่ายครอบครัวพยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ แต่ผู้บริหารโรงเรียนไม่สนับสนุนเท่าที่ควร ดังนั้น จึงมีข้อเสนอที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ 2 ประการคือ

          1.กระทรวงศึกษาธิการ ต้องกำชับให้ผู้บริหารโรงเรียนประถม มัธยม อาชีวะ เปิดให้ผู้ปกครองทำงานเต็มที่ และมีเกณฑ์ประเมินผู้บริหารด้วย โดยหากแก้ปัญหาไม่ได้จะมีผลต่อการจัดสรรงบประจำปีของโรงเรียน

          2.จัดระบบกลไกในการดึงผู้ปกครองของเด็กกลุ่มเสี่ยงมาร่วมแก้ปัญหา รวมทั้งเป็นการกึ่งบังคับให้มารับผิดชอบการกระทำของเด็ก อย่างเช่นระบบการแก้ปัญหาของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีปัญหาเด็กใช้ความรุนแรงมากที่สุดในโลก ส่วนของไทยอยู่อันดับที่ 2 ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นใช้วิธีครอบครัวบัดดี้แก้ปัญหา โดยหากเด็กทำผิด นอกจากจะแจ้งไปยังผู้ปกครองของเด็กแล้ว จะต้องเชิญผู้ปกครองเด็กที่เป็นบัดดี้กันมาด้วย ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ดี เพราะคนญี่ปุ่นจะเป็นคนเกรงใจ ไม่อยากให้เพื่อนมาเดือดร้อนด้วย




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตะลึง! พบเด็ก ป.4 ริเป็นมาเฟียเด็ก อัปเดตล่าสุด 11 กันยายน 2553 เวลา 11:42:56
TOP