x close

เด็กไทยเจ๋ง! คว้าแชมป์สร้างหุ่นยนต์โลก


ปรัชญา ชัยศิริลาภ ผู้ได้รางวัลชนะเลิศ คนซ้ายสุด


ปรัชญา ชัยศิริลาภ รับรางวัล


ทวีศักดิ์ นาคเสน คนที่ 2 จากซ้าย ได้รางวัล การออกแบบยอดเยี่ยม



บรรยากาศขณะแข่งขัน


บรรยากาศขณะแข่งขัน

เด็กไทยเจ๋ง! คว้าแชมป์สร้างหุ่นยนต์โลก IDC 2010 ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

          เด็กไทยโชว์กึ๋นสร้างชื่อให้กับประเทศไทยอีกครั้งแล้ว ในเวทีการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นระดับนานาชาติ International Design Contest 2010 (IDC RoBoCon 2010) ครั้งที่ 21 ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเพิ่งทำการแข่งขันเสร็จสิ้นระหว่างวันที่ 5-18 สิงหาคมที่ผ่านมา
        
          โดยการแข่งขันในปีนี้ เด็กไทยสามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 4 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศ (Champion) ได้แก่ นายปรัชญา ชัยศิริลาภ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากทีมเยลโล่ (Yellow), รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายชยุตม์ จัตุนวรัตน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากทีม เคย์ (Clay), รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวปนัดดา พงษ์เกษมวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จากทีม เพอร์เพิล บลู (Purple Blue) และ รางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมได้แก่ นายทวีศักดิ์ นาคเสน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จากทีม นาวี (Navy)

          สำหรับตัวแทนผู้เข้าแข่ง IDC RoBoCon 2010 ประเทศไทยส่งนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 11 คน จากเวทีการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 (RDC 2010) จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหัวข้อการแข่งขัน IDC 2010 ในครั้งนี้ คือ Clean River, Better Life จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 65 คนจาก 8  ประเทศ

          ได้แก่ จีน, ไทย, เกาหลี, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, บราซิล และ สิงคโปร์ โดยแบ่งออกเป็น 13 ทีม แต่ละทีมจะมีนิสิต นักศึกษาคละกันไปจำนวน 5 คนต่อทีม และในการแข่งขันจะทำการคัดเลือกจาก 13 ทีมให้เหลือ 8 ทีมในรอบ รองชนะเลิศ และคัดเลือกให้เหลือเพียง 4 ทีมสุดท้ายเพื่อเข้าไปแข่งขันในรอบ ชิงชนะเลิศ ณ Citizen’s Initiative Pavilion Expo 2010 Shanghai,China

          นายปรัชญา ชัยศิริลาภ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมการวัดคุม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากทีมเยลโล่ (Yellow) หนึ่งในแชมป์ของการแข่งขัน กล่าวถึงบรรยากาศในการแข่งขันที่ผ่านมาว่า รู้สึกตื่นเต้น และสนุกสนานดี ไม่กดดันอะไรมาก เพราะการแข่งขันรอบ 4 ทีมสุดท้าย มีคนไทยรวมอยู่ด้วยทั้ง 4 ทีมจึงคิดว่าถ้าเราตกรอบ ยังไงก็ยังมีเพื่อนคนไทยคนอื่นที่จะสามารถคว้าแชมป์ให้กับประเทศไทยได้เช่นกัน ขณะเดียวกันก็ยังได้ประสบการณ์การจากการแข่งขันจากเวที RDC 2010 ที่แข่งขันในประเทศไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว จึงทำให้ไม่รู้สึกกดดันอะไรมากนัก

          ส่วนเรื่องความยากในการแข่งขันครั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่า น่าจะเป็นในเรื่องการทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมทีมที่มาจากต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ทำให้มีอุปสรรคในแง่การสื่อสารและการทำงานร่วมกันบ้าง แต่ในเรื่องความรู้ ทักษะ ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

          ถามถึงเรื่องเทคนิคการสร้างหุ่นยนต์ที่ทำให้สามารถคว้าแชมป์ได้ในที่สุด นายปรัชญา กล่าวว่า น่าจะเป็นเพราะทีมของตนสามารถสร้างหุ่นได้เสร็จก่อนเวลา จึงทำให้มีเวลาในการฝึกซ้อมมากกว่าทีมอื่นสามารถแก้ไขจุดบกพร่อง และเพิ่มเติมเทคนิคที่ดีในการช่วยเก็บคะแนนได้

          "ผมถือว่าการได้มาเข้าร่วมแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดประสบการณ์ครั้งแรกหลาย ๆ อย่างของผม ทั้งในเรื่องการทำงานกับเพื่อนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม ได้พบเจออะไรหลายอย่างที่ไม่เคยเจอ ได้เรียนรู้สไตล์การทำงานของต่างชาติว่าเป็นยังไง ทำให้ช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ของผมได้มากขึ้นทีเดียว" แชมป์ประเทศไทยกล่าว

          นาย ทวีศักดิ์ นาคเสน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เจ้าของรางวัล การออกแบบยอดเยี่ยม ในเวทีการแข่งขันดังกล่าว กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สามารถคว้ารางวัลมาได้ส่วนตัวคิดว่า จุดเด่นที่ทำให้ทีมของตนคว้ารางวัลนี้มาได้ เพราะมีการทำงานแบบมีหลักการคือ มีการระดมความคิดเรื่องการออกแบบหุ่นยนต์กันถึง 3 วัน ก่อนจะเลือกออกแบบผ่านระบบ Solid Work เป็นโปรแกรมออกแบบคอมพิวเตอร์ที่วิศวกรใช้กัน ทำให้สามารถขึ้นรูปหุ่นและ ทำออกมาได้อย่างที่ออกแบบเป็นหุ่นยนต์ที่แข็งแรง และ สวยงาม

          "ผมได้รับประสบการณ์ที่มีค่ามากจากการแข่งขันในครั้งนี้โดยเฉพาะภาษาเพราะเราต้องใช้สื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม และได้เรียนรู้สไตล์การทำงานของต่างชาติว่าเป็นยังไงอย่าง อเมริกา จะทำงานเป็นระบบมีหลักการ ส่วนฝรั่งเศสจะทำงานละเอียดมาก" เจ้าของรางวัลออกแบบยอดเยี่ยมกล่าว

          ด้าน รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะผู้ส่งเสริมการส่งเด็กไทยไปเข้าร่วมในเวทีการแข่งขันนี้ กล่าวว่า การแข่งขันในปีนี้ได้รับความสำเร็จเกินความคาดหมายเพราะเด็กของเราสามารถคว้ามาได้ถึง 4 รางวัล ถือว่าเป็นการช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับเด็กไทยได้มีโอกาสพัฒนาสู่เวทีในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น และในปีหน้ามีแนวทางหาพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่ม สู่การพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมได้ต่อไป และขยายการแข่งขันสู่ระดับภูมิภาค หวังมุ่งสร้างความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรมให้กับเยาวชนไทยมากขึ้น

          สำหรับ นายจารึก เฮงรัศมี ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สนับสนุนการแข่งขัน RDC 2010 ในครั้งนี้ กล่าวว่า สถาบันฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เด็กไทยได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ การที่ประเทศมีเยาวชนที่มีความรู้ ความสามารถย่อมแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของประเทศในอนาคต สถาบันฯ ยินดีที่จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณหลักให้กับโครงการที่ดีต่อเยาวชนของชาติแบบนี้และหวังว่าสถาบันฯ จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของประเทศได้



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็กไทยเจ๋ง! คว้าแชมป์สร้างหุ่นยนต์โลก อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2553 เวลา 17:28:03
TOP