x close

จ่อยกเลิกแอดมิชชันในปี 61 เล็งใช้ระบบใหม่คล้ายเอนทรานซ์




จ่อยกเลิกแอดมิชชั่นในปี 61 เล็งใช้ระบบใหม่คล้ายเอ็นทรานซ์

           ศธ. จ่อยกเลิกแอดมิชชันในปี 2561 หลังพบปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบ-ความเหลื่อมล้ำของเด็ก เล็งใช้ระบบใหม่คล้ายเอนทรานซ์ แต่เด็กจะรู้คะแนนล่วงหน้าก่อนยื่นเคลียริงเฮาส์

           วันนี้ (25 สิงหาคม 2559) นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังมีการหารือร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เรื่องระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดยระบุว่า ในที่ประชุมได้มีการอภิปรายถึงระบบในปัจจุบันซึ่งเด็กต้องวิ่งรอกสอบ ทั้งยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เด็กซึ่งมีฐานะดีกว่าจะมีโอกาสสูงกว่าเด็กที่มีฐานะด้อยกว่า
           ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่า จะต้องมีการปรับระบบการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในปีการศึกษา 2561 เนื่องจากปีการศึกษา 2560 มหาวิทยาลัยได้มีการประกาศ ปฏิทินการจัดสอบไปแล้ว

           โดยระบบใหม่จะจัดช่วงเวลาการสอบเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา ภายหลังจากที่เด็กเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว โดยจะอยู่ประมาณกลางเดือนมีนาคม จากนั้นจึงเปิดมหกรรมการสอบทั้งการสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) การสอบวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) และการสอบวิชาสามัญ 9 วิชาซึ่งเป็นวิชาที่ใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยจะใช้เวลาในการจัดสอบวิชาต่าง ๆ ประมาณ 6 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน ทั้งนี้จะไม่ให้มีการเปิดสอบรับตรงนอกช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ

           จากนั้นเมื่อเด็กทราบคะแนนจากการสอบแล้ว จึงเปิดให้เลือกสาขาวิชาที่ต้องการเรียนได้ 4 อันดับ จากนั้นทางมหาวิทยาลัยจะคัดเลือกเด็กตามลำดับคะแนน  และแจ้งผลการคัดเลือกกลับมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ ซึ่งจะมีทั้งหมด 2 รอบ โดยในรอบแรกหลังจากทางมหาวิทยาลัยแจ้งเด็กกลับไปแล้วว่าได้รับคัดเลือกกี่แห่ง หากเด็กยังไม่พอใจในคณะ/สาขาที่สอบได้ ก็สามารถนำคะแนนไปเข้าในระบบเคลียริงเฮาส์รอบที่ 2 แต่หากเด็กเลือกเข้าเรียนในคณะที่สอบได้ในรอบแรกแล้ว จะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการเคลียริงเฮาส์รอบที่ 2 ทันที และหากเดินหน้าใช้ระบบรับตรงกลางร่วมกัน จะไม่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยไปเปิดรับตรงเอง หากจะให้เปิดรับก็ต้องมีเหตุผลที่ดีมาชี้แจงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรับทราบ

           สำหรับระบบดังกล่าวซึ่งเรียกว่าการรับตรงกลางร่วมกัน คาดว่าจะสามารถรับเด็กเข้าเรียนได้ราว 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เด็กสามารถไปสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ยังมีที่นั่งว่างได้โดยตรงอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งในอนาคตก็อาจไม่จำเป็นต้องมีระบบแอดมิชชันกลางอีกต่อไป ซึ่งแม้จะดูคล้ายกลับไปใช้ระบบเอนทรานซ์ แต่ระบบนี้จะทำให้เด็กรู้คะแนนล่วงหน้า เพื่อให้สามารถประมาณตนเองได้ว่าจะไปแข่งกับใคร ในหลักสูตรใด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จ่อยกเลิกแอดมิชชันในปี 61 เล็งใช้ระบบใหม่คล้ายเอนทรานซ์ อัปเดตล่าสุด 15 มิถุนายน 2560 เวลา 17:49:41 16,989 อ่าน
TOP