x close

สกศ. เผย เด็กไทยอ่อนอังกฤษ วัดผลแทบบ๊วย




สกศ.เผยผลการวิเคราะห์สมรรถนะ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา) 

            ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล พ.ศ. 2552 โดยใช้ดัชนีของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการหรือ International Institute for Management Development (IMD) เป็นกรอบหลักในการวิเคราะห์ ซึ่งในปี 2552 IMD จัดอันดับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 57 ประเทศ พบว่า โดยภาพรวมความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติของประเทศไทยได้อันดับ 26 ดีขึ้น 1 อันดับ ดีกว่าประเทศเข้าร่วมจัดอันดับใหม่คือ คาซัคสถาน (อันดับ 36) 10 อันดับ แต่เป็นรองกาตาร์ (อันดับ 14) 12 อันดับ

            เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย 11 ประเทศ พบว่า ไทยอยู่ในอันดับต่ำกว่า 6 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง (อันดับ 2) สิงคโปร์ (อันดับ 3) ญี่ปุ่น (อันดับ 17) มาเลเซีย (อันดับ 18) จีน (อันดับ 20) และไต้หวัน (อันดับ 23) แต่เหนือกว่า 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี (อันดับ 27) อินเดีย (อันดับ 30) อินโดนีเซีย (อันดับ 42) และฟิลิปปินส์ (อันดับ 43) ทั้งนี้ ในส่วนความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของไทย ในปี 2552 IMD จัดอันดับอยู่ที่อันดับ 47 จากทั้งหมด 57 ประเทศ หล่นจากปี 2551 ถึง 4 อันดับ

          
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ยังกล่าวอีกว่า ด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่า อัตราการเข้าเรียนสุทธิระดับมัธยมศึกษาของไทยอยู่ที่ร้อยละ 71 อยู่ในอันดับ 49 ลดลง 3 อันดับ ส่วนอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลงเหลือร้อยละ 5.9 ในขณะที่มีอันดับคงที่อยู่ที่ 42 สำหรับด้านคุณภาพการศึกษา ในส่วนผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษาพิจารณาจากร้อยละของประชากรวัยแรงงานอายุ 25-34 ปี มีผู้จบระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 18 อยู่ที่อันดับ 43 และผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางคณิต-วิทย์ในโครงการ PISA ของเด็กอายุ 15 ปีได้คะแนนต่ำกว่าครึ่ง อยู่อันดับ 39 รวมทั้งความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของไทยยังด้อยอยู่ในอันดับรั้งท้าย คืออันดับที่ 51 

           "โดยสรุปแล้วสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากลยังอยู่ในระดับไม่เป็นที่น่าพอใจและยังล้าหลังกว่าหลายประเทศ ทั้งด้านโอกาส คุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษา ดังนั้น จากผลการศึกษาจึงเสนอว่าควรส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาสากลเป็นภาษาที่สองตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการเรียนรู้ภาษาที่สาม อีกทั้งต้องยกระดับคุณภาพการศึกษามุ่งเน้นคุณภาพให้มากขึ้น ทั้งคุณภาพครู คุณภาพผู้เรียน และคุณภาพของระบบการศึกษา" เลขาธิการ สกศ. กล่าว


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
 
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สกศ. เผย เด็กไทยอ่อนอังกฤษ วัดผลแทบบ๊วย อัปเดตล่าสุด 2 สิงหาคม 2553 เวลา 12:13:47
TOP