x close

สังคมได้อะไร จากกฎหมาย ท้องในวัยเรียน ตอนที่ 2




สังคมได้อะไร จากกฎหมายคุ้มครอง "ท้องในวัยเรียน" ตอนที่ 2 (สำนักข่าวแห่งชาติ) 

           ปัญหาเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ในวัยเรียนมีมานานตั้งแต่สมัยสังคมปิดที่ยังถือว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องลับน่าอับอาย จนมีการเรียกร้องให้มีการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน แต่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ก็รับฟังแบบไม่ค่อยเต็มใจ จนถึงยุคที่สังคมเปิด ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และการทำแท้งเกิดขึ้นมากมาย จนทำให้มีการรณรงค์แจกจ่ายถุงยางอนามัยในสถานศึกษา แต่คุณครูทั้งหลายก็ต่อต้านเพราะเห็นว่าเป็นดาบสองคม 

           อันที่จริงปัญหาความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวของนักเรียนและการตั้งครรภ์ในวัยเรียนมีมาอย่างต่อเนื่อง มีเพียงบางครั้งเท่านั้นที่ผู้บริหารและครูบางคนที่ขาดวิญญาณความเป็นครูและด้อยประสบการณ์เชิงบริหาร จึงกลายเป็นข่าวฉาวโฉ่สร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคม แท้ที่จริงแล้วโรงเรียนส่วนใหญ่สามารถแก้ปัญหาอย่างเรียบร้อยเหมาะสมจึงไม่ปรากฏเป็นข่าว 

           สำนักข่าวแห่งชาติ ขอหยิบยกข้อมูลจาก มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ที่ได้สอบถามความคิดที่หลากหลายมุมมอง พร้อมกับช่วยกันหาทางออกจากทุกๆ ฝ่ายโดยเฉพาะเสียงเล็กๆ ของ "แม่" ในร่าง "ด.ญ." เหล่านี้ 

           ด.ญ.ตาล (นามสมมติ) เด็กหญิงผมหยักโศกจาก จ.ตรัง ปัจจุบันกำลังตั้งท้องได้ 8 เดือนเนื่องจากโดนน้าเขยขมขื่น และต้องลาออกจากโรงเรียน ทั้งที่วันนี้มีอายุเพียง 11 ปีเท่านั้น 

           "ขอยืนยันเลยว่า ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่อยากท้องหรอก อย่างกรณีหนู โดนคนใกล้ตัวข่มขืนตอนเรียนอยู่ชั้น ป.5-ป.6 ทั้งๆ ที่หนูร้องไห้ขอร้อง เพราะเขาเมา และเล่นยาด้วย และเขายังข่มขู่หนูว่าห้ามไปบอกใครไม่งั้นเขาจะฆ่าหนู จนกระทั่งหนูรู้ตัวเองว่าตั้งท้องก็เข้าเดือนที่ 6 แล้ว จึงต้องออกจากโรงเรียน มันเป็นความรู้สึกเสียใจมากๆ กับการที่ไม่ได้เรียนอีกต่อไป…ตอนเรียนหนูชอบวิชาภาษาไทยมากที่สุด เล ยฝันไว้ว่าถ้าโตขึ้น เรียนจบหนูจะเป็นคุณครูสอนหนังสือเด็กๆ แต่ตอนนี้หนูไปเรียนหนังสือไม่ได้ ก็รู้สึกเสียดายโอกาส เพราะเพื่อนคนอื่นเขาได้ไปเรียนกัน ถ้ามีกฎหมายที่ว่ามาจริงๆ หนูว่ามันก็ดีเหมือนกัน เพราะเป็นการให้โอกาสคน และหนูก็อยากเรียนด้วย หนูไม่อายค่ะ เพราะสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดจากความยินยอมของหนูเลย" 

           ด.ญ.พลอย (นามสมมติ) เด็กหญิงร่างบาง แววตาเศร้า จาก จ.อยุธยา ปัจจุบันตั้งครรภ์แบบไม่ได้ตั้งใจจากน้ำมือพ่อบังเกิดเกล้า เมาแล้วขมขื่น ขณะอายุเพียง 15 ปี ที่ยังไม่รู้ประสีประสากำลังเพลิดเพลินอยู่กับวิชาความรู้มากมายในห้องเรียน ที่สุดแล้วเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ต้องจำใจหันหลังให้กับ "โรงเรียน" สิ่งที่รักมากที่สุดในชีวิต เปิดเผยประสบการณ์ที่ย่ำแย่ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า 

           "ตอนที่รู้ว่าท้องแล้วจะไม่ได้เรียนหนังสือ หนูเสียดายมากๆ เพราะต้องก้าวออกมาจากโรงเรียน ต้องจากเพื่อนๆ จากคุณครู และจากบรรยากาศที่เรารัก โดยเฉพาะต้องจากวิชาคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นวิชาที่หนูรักมากๆ และเพิ่งได้สัมผัสวิชานี้ไม่นาน...เมื่อ 2–3 วันก่อนจะรู้ว่าตั้งท้อง และต้องออกจากโรงเรียน แม่เห็นหนูชอบเรียนคอมพิวเตอร์ก็มักจะถามหนูว่าโตขึ้นฝันอยากจะเป็นอะไร หนูก็ตอบแม่ไปว่ายังไม่รู้ รู้แค่ว่าอยากจะเรียนหนังสือให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่น่าเสียดายที่ตั้งท้องเสียก่อน มันเร็วจนเรายังไม่ทันให้คำตอบกับแม่ได้ว่าฝันอยากจะเป็นอะไร" 

           เมื่อถามถึงกฎหมายคุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์ โดยมีสาระสำคัญในการอนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์เข้าเรียนได้ว่า เด็กหญิงวัย 15 ปี กล่าวว่า เห็นด้วย แต่สิ่งที่คนที่ท้อง และมีปัญหามากมาย เป็นห่วงเมื่อกฎหมายตัวนี้ผ่านให้สามารถกลับไปเรียนใหม่ได้ก็คือสุขภาพ และการดูแล 

           "ให้เราไปเรียนร่วมกับคนอื่นก็ดีนะ แต่ไม่เห็นด้วย เพราะอย่างไร เราก็เหมือนกับแกะดำในสังคม และยิ่งอายุน้อยๆ เพื่อนในห้องก็จะเข้ามาล้อเลียนกัน ไหนจะเรื่องอาการอาเจียนแพ้ท้อง เรื่องสุขอนามัยของคนท้องอีก ซึ่งถ้าสถาบันการศึกษามีการจัดระบบอำนวยความสะดวกให้กับเรื่องจุกจิกๆ มันจะเป็นประโยชน์มากมายกับคนท้องในวัยเรียนอย่างแท้จริง" 

           ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย อดีตสมาชิกวุฒิสภาและกรรมการเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นผลเสียมากกว่าได้ 

           "จริงๆ เรื่องนี้เคยมีการพูดกันนานแล้วว่าจากที่นักเรียนคนไหนตั้งท้องจะต้องโดนไล่ออกเลย แต่ในยุคคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เคยมีนโยบายว่าถ้าเจอเด็กกรณีแบบนี้ไม่ให้ไล่ออก และคิดไปไกลกว่าการให้ดร็อป เรียน ซึ่งหลังจากคลอดก็ให้กลับมาเรียนที่โรงเรียนแห่งใหม่ เพราะโรงเรียนเก่าเขาน่าจะมีความอายจากเพื่อนฝูง ปัญหามีอยู่ว่าพอสั่งการลงไปแล้วแต่ละโรงเรียนก็ปฏิบัติไม่เหมือนกัน จึงเป็นที่มาของ สธ.ขยับจะออกกฎหมายตัวนี้ แต่เนื่องจากมันเกี่ยวกับหลายกระทรวงจึงไม่ง่าย" 

           ถามว่าส่วนตัวคิดอย่างไร ครูหยุย บอกว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนของสังคมมากๆ ดังนั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่ว่าจะออกกฎหมายอะไรออกมาแล้วต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ไม่ใช่ออกมาป่าวประกาศคนก็ตกใจ 

           "ถ้าคุณให้ข่าวอย่างนี้เด็กก็อาจจะออกมาเฮ้ย...สบายแล้วสบายแล้วต่อไปนี้ ท้องก็ได้ เรียนก็ได้เรียน ในแง่หนึ่งก็เป็นการส่งเสริม แต่ในแง่หนึ่งก็เข้าใจว่าจำเป็น อย่างไรให้ดี ก็ต้องทำให้มันละมุนละม่อม ส่วนตัวผมค่อนข้างเป็นห่วงมากๆ กับการออก พ.ร.บ.ตัวนี้ ห่วงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้เด็กฟรีเซ็กซ์ เหมือนกับยุคหนึ่งที่คนออกมาประกาศให้สถาบันศึกษาสามารถติดเครื่องหยอดถุงยางอนามัยได้ ซึ่งถ้าตัวนี้ออกมาเป็นกฎหมายออกมาจริงๆ แล้วผมเชื่อว่าอันตรายมากๆ ถ้ากฎหมายที่ออกมาเปิดกว้างให้เด็กตั้งท้องเรียนในโรงเรียนได้ แต่ถ้าเราไม่จัดที่ระบบ-จัดที่ทางเอาไว้รองรับให้นักเรียนท้องให้เรียนร่วมกันได้ในโรงเรียนแบบปกติโดยเฉพาะ ผมไม่เห็นด้วยแน่นอน" 

           ขณะที่ความเห็นของนายมีชัย วีระไวทยะ เจ้าของไอเดียที่ท้าทายสังคมกับการนำตู้จำหน่ายถุงยางอนามัยไปติดตั้งในโรงเรียน เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวชื่นชมเจ้าของแนวคิดนี้พร้อมย้ำว่า น่าจะออกพ.ร.บ.นี้ออกมาตั้งแต่ 50-60 ปีแล้ว 

           "แม้ พ.ร.บ.ตัวนี้จะกินความหมายถึงผู้หญิงทุกๆ คน ถ้าเกิดตั้งครรภ์แล้วก็สามารถเรียนได้ ผมก็ไม่เห็นว่ามันผิดตรงไหนเ เพราะที่อื่นมีเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ผมเห็นขณะเรียนอยู่มัธยมที่เมืองนอกเขาก็ปล่อยให้เรียนในที่เฉพาะ กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้เรียนรวมกับคนอื่นได้ แต่ว่าการที่จับนักเรียนเด็กๆ ที่ตั้งครรภ์แล้วให้เรียนได้ เขากั้นเอาไว้เพื่อผลทางสุขภาพจิต จึงมีที่เฉพาะให้ เนื่องจากเขาไม่ได้เรียนหนังสืออย่างเดียว โรงเรียนต้องดูแลเรื่องสุขภาพ สุขภาพจิต มีลูกต้องอย่างไร ดูแลตัวเองอย่างไร ทั่วโลกเป็นเรื่องธรรมดา" 

           ทั้งนี้ นายมีชัย เสนอแนวทางว่าให้เดินหน้า พร้อมกับสร้างความพร้อมควบคู่กันไป 

           "ผมต้องย้ำว่าผมเห็นด้วย ถ้าเรื่องนี้มีการออกมาเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ดี ระหว่างนั้นผมแนะนำให้โรงเรียนต่างๆ ไปเตรียมตัว ไม่ใช่อยู่ๆ ก็พูดๆ แล้วก็นั่งแช่อย่างดียว ที่สำคัญผมไม่อยากให้หลายคนไปดูถูกคน ไม่มีใครอยากท้องหรอก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็ก แต่ปัญหามันอยูที่ความโง่เขลาของผู้ใหญ่ในแผ่นดินที่ไม่ได้เอาจริงจัง ในเรื่องให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์จริงๆ จังๆ มัวคิดแต่ว่า จะชี้โพรงให้กระรอกแต่ไม่เคยให้ความรู้ สมมติผมมีมีดโกนแล้วผมก็ไม่บอกเด็กว่ามันมีคมต้องระวัง มันก็บาดมือ ผมก็ควรจะสอนเขาว่า นี่คือมีดโกน ใช้ได้ในตอนไหน วิธีใช้อย่างไร" 

           ด้านนายบัณฑิต แป้นวิเศษ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสตรีและสหวิชาชีพ มูลนิธิเพื่อนหญิง แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ ว่าทางมูลนิธิเพื่อนหญิงได้ทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาเด็กท้องขณะอยู่ในวัยเรียนพบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะทางโรงเรียนทางภาคอีสาน 

           "ปัญหาต่อมาเมื่อเด็กประสบปัญหานั้น โรงเรียนที่ควรเป็นที่พึ่งก็ให้ออกจากโรงเรียนแม้กระทั่งครอบครัวหลายครอบครัวก็ไม่เข้าใจ ส่งผลให้เด็กหนีไปใช้ชีวิตคู่แบบไม่พร้อม ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมมากมาย เพราะว่ามากหรือน้อย พวกเขาก็อยู่ในสังคม สุดท้ายนอกจากจะกลับมาเป็นภาระให้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายายแล้ว ยังเป็นภาระใหญ่กับสังคม ซึ่งตนเห็นด้วยกับกฎหมายตัวนี้ แต่ก็อยากจะให้ระบุด้วยให้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือมหาวิทยาลัยสุโขทัย หรือการศึกษาอย่าง กศน.ต่างๆ เข้าไปมีบทบาท ในการเปิดพื้นที่รองรับคนกลุ่มนี้โดยการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทักษะในการประกอบอาชีพเฉพาะ สำเร็จแล้วก็ได้วุฒิการศึกษา อย่างน้อยๆ ถ้าเขามีวุฒิการศึกษาที่ดีระดับหนึ่ง มากหรือน้อยเขาก็จะกลับมาคืนกำไรให้กับสังคม" 

           ยังมีแนวคิดดีๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเยาวชนในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์ เรื่องยาเสพติด เรื่องทะเลาะวิวาท ที่มีการปฏิบัติอย่างได้ผลอีกมาก แต่ไม่มีการขยายผลหรือต่อยอดอย่างจริงจัง และไม่เคยบูรณาการสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาที่มีสาเหตุพื้นฐานเหมือนกัน 

           ถึงเวลาที่จะต้องหยิบปมปัญหาเหล่านี้กลับมาปัดฝุ่นทบทวนดูอีกครั้งหรือยัง? จะได้ไม่ต้องเสียเวลาออกกฎหมายแม่ กฎหมายลูกให้เปลืองเวลา เปลืองงบประมาณ ที่สำคัญ ปัญหาบางอย่าง หากรอช้าก็จะอาจสายเกินเยียวยาช่วยเหลือ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ชุติมา สุขวาสนะ เรียบเรียง
ศิริวรรณ ดำปรีดา บรรณาธิการ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สังคมได้อะไร จากกฎหมาย ท้องในวัยเรียน ตอนที่ 2 อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2553 เวลา 18:21:06
TOP