x close

สังคมได้อะไร จากกฎหมาย ท้องในวัยเรียน ตอนที่ 1




สังคมได้อะไร จากกฎหมายคุ้มครอง "ท้องในวัยเรียน" ตอนที่ 1 (สำนักข่าวแห่งชาติ) 

          จากสาระหลักสำคัญหลายประการ ของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ที่คณะอนุกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้ระบุไว้ เช่น การให้สถานศึกษา มีการสอนเพศศึกษาอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับวุฒิภาวะ, หน่วยงานที่มีหญิงตั้งครรภ์ปฏิบัติงาน ต้องไม่ขัดขวางการลาคลอดตามที่กฎหมายกำหนด, ผู้บังคับบัญชาต้องมีการป้องกันการคุกคามทางเพศ ต่อลูกจ้าง โดยเฉพาะข้อที่โดนวิพากษ์วิจารณ์จนนำไปสู่การทำประชาพิจารณ์ก็คือ หากหญิงมีครรภ์อยู่ในระหว่างศึกษา จะต้องอนุญาตให้ศึกษาต่อได้ในระหว่างตั้งครรภ์ และกลับมาศึกษาได้อีกครั้งหลังคลอดบุตร เริ่มกลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้างของสังคมไปแล้ว เมื่อมีทั้งกระแสสนับสนุนและต่อต้านร่างดังกล่าว 

          ซึ่งการเสนอโดยกรมอนามัยครั้งนี้ ก็เพื่อปูทางให้คุ้มครองสิทธิทางการศึกษาของนักเรียนหญิง ที่เกิดตั้งครรภ์ระหว่างการศึกษา โดยให้มีสิทธิศึกษาต่อในระหว่างตั้งครรภ์ และกลับมาศึกษาต่อได้ภายหลังคลอดบุตรแล้ว โดยห้ามโรงเรียนไล่ออก 

          โดยกลุ่มคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น ตัวแทนเครือข่ายอัตลักษณ์ทางเพศ เห็นว่าจะเป็นการทำลายวัฒนธรรมความ "รักนวลสงวนตัว" ที่ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ยังคงยึดปฏิบัติกันอยู่ ขณะเดียวกันก็จะกลายเป็นดาบสองคม อาจทำให้ทัศนคติการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของเยาวชนกลายเป็นเรื่องปกติได้ทั้งที่ไม่ควรจะเป็น ซึ่งเท่ากับส่งเสริมการท้องในวัยเรียนไปโดยไม่รู้ตัว 

          ขณะที่ กลุ่มผู้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยืนยันว่าสังคมจะต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนว่าการตั้งครรภ์ในวัยเรียนไม่ใช่อาชญากรรม เพียงแต่เป็นเรื่องไม่สมควรและขัดความรู้สึกด้านจริยธรรมและวัฒนธรรมที่หญิงไทยต้องรักนวลสงวนตัว การคัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเหมือนกับการตัดตอนว่าผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ร่วมกันก่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
อีกทั้งเป็นการตอกย้ำอคติทางเพศที่ฝังแน่นมานานว่าผู้หญิงจะต้องเป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมยิ่งโดยเฉพาะในกรณีที่นักเรียนหญิงบางรายถูกเพื่อนนักเรียนด้วยกันข่มขืนจนตั้งครรภ์ แต่กลับถูกโรงเรียนไล่ออกเพียงเพราะกลัวจะเสียชื่อ โดยไม่คิดว่าเด็กนักเรียนคนนี้ตกเป็นเหยื่อซ้ำสองซ้ำสามทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนผิด 

          อีกประการหนึ่งก็คือการที่เด็กนักเรียนหญิงเกิดตั้งครรภ์ระหว่างเรียน สะท้อนถึงความผิดพลาดของระบบการศึกษา โดยเฉพาะในวิชาเพศศึกษา ซึ่งหลักสูตรยังล้าหลังมาก เนื่องจากยังยึดติดกับค่านิยมเก่าๆ ที่มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าละอายหรือขัดกับวัฒนธรรมอันดี จึงไม่มีการเตือนในหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย 

          อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดแล้ว พ่อแม่ โรงเรียนและสังคมจะต้องเข้าใจเด็กให้มากขึ้นและมีเมตตากับเด็กที่เกิดตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ไม่ใช่ดีแต่คิดจะลงโทษสถานเดียว หนำซ้ำการไล่เด็กออกจากโรงเรียนก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด เห็นได้จากสถิติเด็กที่ตั้งครรภ์ระหว่างเรียนไม่ได้ลดน้อยลงแม้ว่าจะมีการลงโทษด้วยการไล่ออก ตรงกันข้ามเท่ากับส่งเสริมทางออกให้ไปทำแท้งเถื่อนซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กสาวผู้นั้น 

          ซ้ำร้ายกว่านั้น การลงโทษด้วยการไล่ออกเท่ากับตัดอนาคตของเด็กสาวคนหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงจะถูกไล่ออกจากโรงเรียน ยังไม่สามารถหางานดีๆ ทำได้ ลงท้าย เด็กสาวเหล่านั้นอาจถูกผลักให้เป็นโสเภณี อันจะยิ่งสร้างปัญหาใหญ่ให้แก่ประเทศชาติได้

          ในตอนหน้า ฟังความเห็นหลากหลายขยายประเด็นเห็นด้วยหรือต่อต้าน จากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและจากมุมมองผู้เกี่ยวข้อง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ชุติมา สุขวาสนะ เรียบเรียง
ศิริวรรณ ดำปรีดา บรรณาธิการ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สังคมได้อะไร จากกฎหมาย ท้องในวัยเรียน ตอนที่ 1 อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2553 เวลา 18:21:44
TOP