x close

การอ่าน กับพัฒนาการของเด็ก




การ "อ่าน" กับพัฒนาการของเด็ก 0-3 ปี (กระทรวงศึกษาธิการ)

รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสือ รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 0-3 ปี ตามสมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

          เด็กในวัย 0- 3 ปีแรกของเด็กถือเป็นวัยทองของชีวิต เป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดสำหรับเด็กทุกคน เนื่องจากความฉลาด ความสุข และการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพของเด็กเริ่มต้นจากพัฒนาการในช่วงนี้

          ในวัยแรกเกิด-1 เดือนแรก ประสาทสัมผัสทั้ง 5 จะเริ่มทำงาน เด็กจะได้ยินเสียงต่างๆ ยังไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไร แต่รู้ถึงความแตกต่าง และจะค่อยๆเรียนรู้ความแตกต่างนั้น จะรู้สึกถึงแสงสว่างจ้าบ้าง จางบ้าง เห็นรูปเงาต่างๆลางๆ เนื่องจากดวงตายังพร่ามัวเห็นไม่ชัด ช่วงวัยนี้จะชอบฟังเสียงคนพูดมากกว่าเสียงอื่นๆ

          ช่วงเดือนที่ 2 เด็กจะเริ่มเรียนรู้วิธีการสื่อสาร ซึ่งเสียงของแม่เป็นเสียงที่เด็กชอบฟังมากที่สุด ในช่วงนี้ระบบประสาทเกี่ยวกับการได้ยินและการมองเห็นเริ่มมีการทำงานสอด คล้องกัน เด็กจะหยุดฟังเมื่อได้ยินเสียงที่คุ้นเคย และกลอกตาไปตามที่มาของเสียงนั้น ในช่วงเวลานี้ หากมีการกระตุ้นให้เด็กมองตาม พูดคุยทำเสียงต่างๆจะเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในวัยนี้

          ช่วงเดือนที่ 3 เป็นช่วงที่พัฒนาการทางการฟังดีขึ้นมาก เด็กจะเริ่มเล่นกับเสียงต่างๆมากขึ้น การได้ยินเสียงไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรี เสียงที่น่าสนใจจะทำให้เด็กมีท่าทีตอบสนอง และหันหาเสียงที่ได้ยิน

          ช่วงเดือนที่ 4-6 เป็นช่วงที่ตื่นเต้นกับการเรียนรู้จากสิ่งใหม่ๆรอบๆตัวไปพร้อมๆกับการพูดคุย ของพ่อแม่ด้วย การพูดคุย ร้องเพลงให้ฟัง หรือเริ่มเล่านิทานอ่านหนังสือให้ฟังจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้ได้

          ช่วงเดือนที่ 7-9 เป็นช่วงที่อยากรู้อยากเห็น การพูดคุยกับเด็กบ่อยๆ การเล่านิทาน อ่านหนังสือ และร้องเพลง จะกิจกรรมที่สามารถช่วยกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้เป็นอย่างดี เด็กช่วงอายุนี้จะสนใจเสียงและคำซ้ำๆ โดยเฉพาะคำคล้องจอง และชอบดูรูปภาพที่มีสีสัน พ่อแม่จึงควรอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หนังสือภาพนับเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะสามารถกระตุ้นความสนใจและทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งแปลกๆใหม่ๆได้ง่าย ขึ้น

          ช่วงเดือนที่ 10-12 เป็นช่วงที่เด็กเริ่มพูดคำว่า "แม่" และ "ป้อ" หรือคำง่ายๆได้ การนำหนังสือภาพมาใช้ ชี้ชวนให้ดูภาพใหญ่ ๆ ในหนังสือ หาของเล่นประเภทบล็อกไม้รูปต่างๆ จะเป็นการสร้างการเรียนรู้ตามวัยที่ดี

          ช่วง 13-15 เดือน จะเป็นช่วงที่เด็กมีมีทักษะทางด้านการฟังดีขึ้น และเป็นการฝังอย่างเข้าใจความหมาย พ่อแม่ต้องหาเวลาอ่านหนังสือภาพ ชี้ให้ดูภาพ และเล่าเรื่องสั้นๆให้ฟังจะเป็นการช่วยสร้างเสริมพัฒนาการที่ดี

          ช่วง 16-18 เดือน เป็นช่วงพัฒนาการ ด้านภาษาและถ้อยคำ การเข้าใจความหมายของคำดีขึ้น เพียงแต่ยังพูดได้น้อย โดยเริ่มพูดเป็นคำ ๆ เป็นช่วงกำลังเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ชอบเลียนแบบคำพูดของพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด รวมถึงบทกลอนหรือคำกลอนง่าย ๆ ที่พ่อแม่อ่านหรือท่องให้ฟัง

          ช่วง 19-24 เดือน เป็นช่วงเรียนรู้ภาษาได้อย่างรวดเร็วมาก และจดจำศัพท์ได้ดี รู้จักชื่อตัวเอง บอกได้ว่า "หนูชื่ออะไร"  เริ่มพูดโต้ตอบ แสดงความต้องการ หรือเรียกสิ่งต่างๆ และคนคุ้นเคยด้วยการพูด 2-3 คำติดต่อกัน หรือประสมคำ 2 คำเข้าด้วยกันเพื่อพูดเป็นประโยค เช่น "นมอีก" "พ่อ-บ้าน" (หมายถึงคุณพ่ออยู่บ้าน)

          เด็กวัยนี้สนใจอยากรู้ไปทุกสิ่งทุกอย่าง ชอบฟังนิทานที่ใช้คำง่ายๆ สั้นๆ สนใจเสียงต่างๆ และคำซ้ำย้ำทวน  ชอบฟังเพลง และบางครั้งอาจมีการร้องคลอตาม พ่อแม่ควรอ่านหนังสือภาพกับเด็ก เล่าเรื่องราวหรือนิทานสั้นๆ ที่มีเนื้อหาง่ายๆ เหมาะสมกับวัย เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและส่งเสริมจินตนาการ การฝังนิทานเป็นประจำยังช่วยให้เด็กเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ รวมทั้งความหมายใหม่ๆอีกด้วย

          ช่วง 25-36 เดือน เป็นช่วงแห่งการช่างพูด ช่างถาม จำเก่ง พูดคำคล้องจองได้ และสนใจการเรียนรู้ ที่หลากหลาย การเล่านิทานและอ่านหนังสือภาพให้ฟังจะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างการเรียนรู้ และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านอีกทั้งยังเสริมจินตนาการได้เป็นอย่างดี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กระทรวงศึกษาธิการ

เอกสารอ้างอิง
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2552).  รูปแบบการ จัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 0-3 ปี ตามสมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย. กรุงเทพฯ: สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การอ่าน กับพัฒนาการของเด็ก โพสต์เมื่อ 9 กรกฎาคม 2553 เวลา 10:59:18 1,626 อ่าน
TOP