x close

น่าห่วง ! ผลวิจัยเผยเด็กไทยสอบตก ติด 1 ใน 16 ประเทศ

เด็กไทยสอบตก

           เด็กไทยสอบตกติดอันดับ 1 ใน 16 ประเทศ เผยปัจจัยที่มีผลให้เด็กสอบตกมาจาก ครอบครัว-โรงเรียน-ระบบการสอน ชี้หากไม่เร่งแก้ไขจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

           วันนี้ 17 กุมภาพันธ์ 2559 จากกรณีผลสอบโอเน็ตวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่ปรากฏว่าเยาวชนไทยสอบตกกันกว่าครึ่งนั้น ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดเผยว่า การที่เด็กไทยสอบตกนั้นไม่เป็นเพียงเพราะการสอบโอเน็ตเท่านั้น แต่การวัดผลระดับนานาชาติอย่าง PISA ก็พบว่า เด็กไทยมากกว่าครึ่งประเทศสอบตกวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่การอ่าน  ดังนั้นประเทศไทยจึงกลายเป็น 1 ใน 16 ประเทศ ที่เยาวชนอายุ 15 ปี สอบตก PISA มากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างนักเรียนที่เข้าสอบ

           ดร.ไกรยส กล่าวถึงสาเหตุของผลการเรียนของเด็กไทยตกต่ำ โดยระบุว่า การที่เด็กผลการเรียนต่ำนั้น ไม่ได้มาจากเด็กเพียงอย่างเดียว เนื่องจากผลวิจัยขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD ) ที่มีการศึกษาข้อมูลเชิงลึกของเยาวชนในกลุ่มประเทศที่มีผลคะแนนสอบตกมากกว่าครึ่งประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่า 10 ปี รวมทั้งประเทศไทย และได้เผยแพร่ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าปัจจัยมาจาก 3 ส่วนคือ

           - ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัว ประกอบไปด้วย  ความยากจน, การขาดโอกาสทางการศึกษาก่อนวัยเรียน หรือเข้าเรียนล่าช้า ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดเรียน และมีแนวโน้มหลุดจากระบบการศึกษา และยังรวมไปถึงการเลี้ยงดูที่ส่งผลต่อทัศนคติด้านการศึกษา

           - ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ประกอบไปด้วย สัดส่วนของเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนที่มีผลต่อประสิทธิภาพการพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคล, สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ และกระบวนการสอนในชั้นเรียน เช่น ครูไม่อยู่ในห้องเรียน ครูไม่ครบชั้นหรือขาดประสบการณ์ รวมถึงการขาดแคลนทรัพยากรและบุคลากรที่เพียงพอ

           - ปัจจัยที่เกี่ยวกับระบบการศึกษา เช่นการจัดสรรทรัพยากรด้านการศึกษาที่ไม่เป็นธรรม

           ดร.ไกรยส กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาควรร่วมกันระหว่างครอบครัว โรงเรียน และชุมชนในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ รวมไปถึงการปรับปรุงกระบวนการการเรียนการสอนให้สอดคล้องต่อความต้องการที่หลากหลายของเด็ก

            ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า หากไม่แก้ปัญหาพัฒนาการเรียนรู้ที่ล่าช้าของเด็กอายุ 15 ปี อย่างเป็นระบบนั้น ทาง OECD ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายจากกำลังแรงงานที่ขาดคุณภาพไว้ว่า จะส่งผลเสียต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะหายไปถึงร้อยละ 16

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น่าห่วง ! ผลวิจัยเผยเด็กไทยสอบตก ติด 1 ใน 16 ประเทศ อัปเดตล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 11:38:47 5,324 อ่าน
TOP