x close

เปิดคำฟ้องล้มละลาย ดลฤดี หนีทุน ยอดหนี้พุ่งกว่า 48 ล้านบาท



ดลฤดี จําลองราษฎร์

          เปิดคำฟ้องล้มละลาย ดลฤดี จําลองราษฎร์ หมอฟันหนีทุน ยอดหนี้พุ่งกว่า 48 ล้านบาท ชี้ยังไม่เคยชำระหนี้ และเข้าข่ายมีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย

          จากกรณีของ นางสาวดลฤดี จําลองราษฎร์ ทันตแพทย์หญิง อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอทุนไปเรียนต่อปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา แต่ไม่ชดใช้ทุนรัฐบาลตามสัญญา ซึ่งต่อมาทางอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องล้มละลายไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 หมายเลขคดีที่ ล. 3603/58 โดยจะมีอายุความเพียง 3 ปีนั้น

          ล่าสุด (5 กุมภาพันธ์) สำนักข่าวอิศรา มีรายงานเปิดเผยสาระสำคัญของคำฟ้องคดีล้มละลายดังกล่าว พบว่า โจทก์ คือ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย นายอุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 1 และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) โดย นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ 2 ยื่นฟ้อง จำเลย คือ นางสาวดลฤดี จำลองราษฎร์ ให้ชำระหนี้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นจำนวน 4.58 ล้านบาท (คำนวณดอกเบี้ยถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558) และจำนวนหนี้ที่ต้องชำระให้ สกอ. เป็นเงินจำนวน 43.27 ล้านบาท (คำนวณดอกเบี้ยถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558)

          ส่งผลให้ปัจจุบัน นางสาวดลฤดีเป็นหนี้ตามคำพิพากษา ที่จะต้องชำระให้กับมหาวิทยาลัยมหิดลและสกอ. รวมเป็นเงินกว่า 48 ล้านบาท

ดลฤดี จําลองราษฎร์

          ทั้งนี้ในคำฟ้องคดีล้มละลาย ระบุด้วยว่า มหาวิทยาลัยมหิดล และ สกอ. ได้เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2  ฟ้องจำเลย ขณะที่ นายประสิทธิ์  จำลองราษฎร์, นางอารยา พงษ์หาญยุทธ, นางสาวภัทรวดี ผลฉาย, นายเผด็จ พูลวิทยกิจ และ นางสาวพัชนีย์ พงศ์พียะ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 6 ตามลำดับ ต่อศาลปกครองกลาง เรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (จำเลยในคดีนี้) กับพวก ชดใช้เงินคืนแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทำสัญญาการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อศึกษาในวิชาทันตแพทยศาสตร์ และสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศกับผู้ฟ้องคดีที่ 1

          นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังทำสัญญารับทุนรัฐบาล เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศกับผู้ฟ้องคดีที่ 2 ด้วย โดยสัญญาการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อศึกษาในวิชาทันตแพทยศาสตร์ดังกล่าว มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ถึง ที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกัน 

          ส่วนสัญญารับทุนรัฐบาล เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศดังกล่าว  มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ถึง ที่ 6 เป็นผู้ค้ำประกัน  ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกผิดสัญญา ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายจึงได้เรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกชดใช้เงินตามสัญญาดังกล่าว เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1364/2557 โดยฟ้องคดีวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547

          ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 180/2549 ว่า
 
          (1) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 232,975 บาท  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  ของเงินต้นดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          (2) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 1,847,206.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี  ของเงินต้นดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (3) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จำนวน 116,431.05 บาท กับอีก 666,131.73 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ 

          ทั้งนี้เงินตราต่างประเทศให้คำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 หากอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มี ก็ให้ถือวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนก่อนวันที่ชำระเงิน โดยให้ชำระแล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดจำนวน 52,005 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และจำนวน 200,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลปกครอง  คดีหมายเลขแดงที่ 180/2549 อย่างไรก็ตามเนื่องจากคดีดังกล่าวไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด  คดีจึงถึงที่สุดแล้ว  ในชั้นศาลปกครองชั้นต้น

          ส่งผลให้หนี้ตามคำพิพากษา เป็นหนี้ที่เด็ดขาดและกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ซึ่งจำเลยกับพวกจะต้องชำระให้กับโจทก์ทั้งสอง ขณะที่โจทก์ทั้งสองได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้ว ปรากฏว่าไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะบังคับคดีได้

          ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีหมายเลข 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 180/2549 ของศาลปกครองกลางได้นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา เฉพาะส่วนของตนครบถ้วนแล้ว และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ถึงที่ 6 ได้นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้กับโจทก์ทั้งสองเพียงบางส่วน ส่วนจำเลยยังมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด ส่งผลให้ปัจจุบัน จำเลย จึงยังคงเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระให้กับโจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 4,518,987.60 บาท (รวมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาคำนวณถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558) และจะต้องชำระให้กับจำเลยที่ 2 เป็นเงินจำนวน 43,271,448.28 บาท (รวมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาคำนวณถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2558 เท่ากับ 35.596 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)

          อย่างไรก็ตาม จำเลย เพิกเฉยไม่นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ทำการเร่งรัดหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะดำเนินการบังคับคดีได้อีก ตลอดจนจำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสองเกินกว่า 1 ล้านบาท กรณีเข้าข้อสันนิษฐานของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทย์ทั้งสองจึงได้ฟ้องจำเลยเป็นบุคคลล้มละลายในคดีนี้

เกาะติดข่าว หมอฟันหนีทุน ทั้งหมดคลิกเลย      

ภาพจาก สำนักข่าวอิศรา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดคำฟ้องล้มละลาย ดลฤดี หนีทุน ยอดหนี้พุ่งกว่า 48 ล้านบาท อัปเดตล่าสุด 5 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 15:33:44 43,751 อ่าน
TOP