กยศ. เล็งเปิดเผยข้อมูลผู้กู้ เตรียมทวงเงินคนค้างชำระ - 3 ปีเอาชื่อเข้าเครดิตบูโร



ลูกหนี้ กยศ. ควรรู้ มีหนี้ค้าง ทำอย่างไรไม่ให้ถูกยึดทรัพย์


           กยศ. เอาจริง เตรียมออก พ.ร.บ. ให้เปิดเผยข้อมูลผู้กู้ เพื่อเตรียมทวงเงินคนที่ไม่ยอมมาติดต่อชำระเงินคืน พร้อมเอาชื่อเข้าเครดิตบูโร ลดปัญหาคนหนีหนี้

            เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2558 มีรายงานว่า น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เผยว่า ปัญหาที่ กยศ. ไม่สามารถติดตามทวงเงินจากผู้กู้ยืมได้นั้น เพราะหลังจากที่ผู้กู้ยืมเรียนจบแล้ว ทางกองทุนไม่ทราบว่าผู้กู้ยืมไปทำงานที่ใด บางคนเปลี่ยนที่อยู่แต่ไม่แจ้งกลับ กยศ. ดังนั้น จึงได้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา เพื่อให้หน่วยงานสามารถเปิดเผยข้อมูลบุคคลได้ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

            นอกจากนี้ ทาง กยศ. เอง ยังจะหาโปรโมชั่นใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นการชำระเงิน โดยในปี พ.ศ. 2561 จะมีการนำรายชื่อผู้ที่ค้างชำระตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เข้าข้อมูลเครดิตบูโร เพราะหลายคนคิดว่าไม่จ่ายก็ไม่เห็นเป็นไร และในปี พ.ศ. 2559 จะมีการคัดกรองผู้กู้อย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยไม่ว่าจะเป็นรายใหม่หรือรายเก่า ต้องมีเกรดเฉลี่ย 2.00 และทำกิจกรรมอาสาไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมงต่อปี หากเป็นนักเรียน ต้องอยู่ในสถานศึกษาที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ส่วนในระดับปริญญาตรี นิสิตนักศึกษาต้องเรียนในหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  รับทราบ และหากนักเรียนนักศึกษาไม่ตั้งใจเรียน จะหมดสิทธิ์กู้ทันที

            ด้าน รศ. นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  กล่าวว่า ตอนนี้ได้มีการยึดทรัพย์ผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ รุ่นปี 2547 ไปแล้วเกือบ 800 ราย และเตรียมยึดทรัพย์เพิ่มเติมอีก 4,000 ราย ซึ่ง กยศ. ควรมีมาตรการเข้มงวดตั้งนานแล้ว ไม่เช่นนั้นผู้กู้ก็จะปล่อยปละละเลย ไม่สนใจชำระหนี้ เพราะไม่จ่ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ได้มีการนำเรื่องการหักเงินเดือนของข้าราชการในกระทรวงที่ค้างหนี้ กยศ. และ กรอ. เข้าหารือในที่ประชุมแล้ว โดยที่มีผู้กู้ยืมแล้วค้างชำระไม่ยอมติดต่อชำระคืนเลย ทั้ง กยศ. 19,437 ราย และ กรอ. 944 ราย ส่วนผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ. และชำระเงินตามปกติ สามารถเข้าร่วมทำข้อตกลงหักเงินเดือนได้เช่นกัน พร้อมมอบส่วนลด 3 เดือนให้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีคนมาชำระหนี้มากขึ้น

            ด้าน ศ.ดร. ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)  กล่าวว่า  การยึดทรัพย์ของ กยศ. นั้น เป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้องได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข เมื่อสำเร็จการศึกษา 2 ปีต้องมาชำระหนี้ทันที ซึ่งถ้า กยศ. ไม่ทำอะไร ปล่อยคดีความหมดอายุ จะถือเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ แต่ท้ายที่สุดผู้กู้และ กยศ. ก็สามารถอะลุ่มอล่วยกันได้ ทาง ทปอ. เอง ก็จัดกิจกรรมให้นักเรียนนักศึกษา เห็นความสำคัญของการชำระเงิน เพื่อให้ทุกคนมีวินัย ความรับผิดชอบ และมอบโอกาสให้รุ่นน้องต่อไป

เกาะติดข่าว กยศ. ทั้งหมดคลิกเลย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กยศ. เล็งเปิดเผยข้อมูลผู้กู้ เตรียมทวงเงินคนค้างชำระ - 3 ปีเอาชื่อเข้าเครดิตบูโร อัปเดตล่าสุด 12 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 17:59:08 15,330 อ่าน
TOP
x close