ผู้จัดการ กยศ. เล็งเข็น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา หวังหน่วยงานเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว แก้ปัญหาผู้กู้เบี้ยวหนี้ กยศ. เตรียมนำชื่อคนค้างชำระตั้งแต่ ปี 2539 เข้าระบบข้อมูลเครดิตบูโรปี 2561 เข้มคัดกรองผู้กู้รายเก่า-รายใหม่ เกรดต้อง 2.00 ทำกิจกรรมอาสา 36 ชั่วโมงต่อปี เตือนนักศึกษาตั้งใจเรียน ชี้อาจถูกตัดสิทธิ์ได้
จากกรณีที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ออกมาตรการใหม่ ยึดทรัพย์ผู้กู้ กยศ. ที่ค้างชำระหนี้ โดยกรมบังคับคดีประเดิมยึดทรัพย์ไปแล้วเกือบ 800 ราย และเตรียมยึดทรัพย์อีกกว่า 4,000 ราย (อ่านข่าว กยศ. ลุยแล้ว ! บุกยึดทรัพย์ลูกหนี้ คิวต่อไปอีก 4 พันกว่าราย)
ล่าสุดวานนี้ (18 กันยายน 2558) น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถติดตามเงินผู้ที่กู้ยืมได้ เพราะไม่ทราบว่า ผู้กู้ยืมที่เรียนจบแล้วไปทำงานที่ไหน รวมถึงไม่ทราบที่อยู่ปัจจุบัน เนื่องจากผู้กู้บางคนเปลี่ยนที่อยู่แต่ไม่มีการแจ้งกลับมายัง กยศ. ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวจึงได้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษาขึ้น
สำหรับเนื้อหาสาระในร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีความสำคัญมาก เพราะกำหนดให้หน่วยงานสามารถเปิดเผยข้อมูลบุคคลได้ รวมถึงผู้กู้ยืมก็ต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ กยศ. สามารถไปขอข้อมูลบุคคลกับหน่วยงานใดก็ได้ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา
อย่างไรก็ตาม กยศ. จะหาโปรโมชั่นใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นการชำระหนี้คืนให้มากขึ้น และในปี 2561 ยังยืนยันว่าจะนำรายชื่อผู้ค้างชำระตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตบูโรแน่นอน เพราะทุกวันนี้หลายคนยังคิดอยู่ว่าไม่จ่ายหนี้คืนก็ไม่เห็นเป็นไร ดังนั้น เราจึงต้องมีมาตรการที่เอาจริงเอาจังมากขึ้น
โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป หลักเกณฑ์การคัดกรองผู้กู้ยืม กยศ. ก็จะเข้มงวดมากขึ้นด้วย ผู้ที่จะมีสิทธิ์กู้ยืมนั้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้กู้รายเก่า หรือรายใหม่ ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 และทำกิจกรรมจิตอาสา ไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมงต่อปี รวมทั้งต้องศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รับรอง ส่วนในระดับปริญญาตรี นิสิต นักศึกษา ต้องเรียนในหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับรองมาตรฐาน ตนจึงฝากเตือนไปยังนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่จะกู้ยืมเงินว่า ให้ทุกคนตั้งใจเรียน เพราะหากคุณสมบัติไม่ครบ อาจจะหมดสิทธิ์กู้ยืมได้
ขณะที่ รศ. ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนมีนโยบายชัดเจนว่าบุคลากรในสังกัด สกอ. ที่กู้ยืมเงิน กยศ. จะต้องชำระหนี้คืนให้หมด เพราะ สกอ. เป็นหน่วยงานที่บริหารเงิน กยศ. ถ้าคนใน สกอ. กู้เงิน กยศ. แล้วไม่ชำระหนี้คืนก็ถือว่าผิด ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบยังไม่มีใครค้างชำระหนี้ และมีการจ่ายเงินคืนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สกอ. จะไม่ดำเนินการหักเงินเดือนบุคลากรในสังกัด ทั้งนี้สำหรับมหาวิทยาลัยนั้น ตนมั่นใจว่า ทุกสถาบันต้องมีการกระตุ้นให้นิสิต นักศึกษา และศิษย์เก่าชำระหนี้คืนอยู่แล้ว เพราะถ้ามหาวิทยาลัยใดมีสัดส่วนการไม่ชำระหนี้คืนสูง ทาง กยศ. ก็จะปล่อยเงินกู้ยืมให้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้กู้ยืมลดน้อยลงด้วย
เกาะติดข่าว กยศ. ทั้งหมดคลิ กเลย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก