x close

มช. พร้อมก้าวสู่ผู้นำ Digital Content ภาคเหนือ




มช. พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์ Digital Content ภาคเหนือ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

          วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มช. ยกระดับการเป็นผู้นำสาขาวิชาแอนนิเมชั่น พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านดิจิตอลคอนเทนท์ของภาคเหนือ

          วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้งศูนย์กลางดิจิตอลคอนเทนท์ของภาคเหนือ เพื่อเป็นการรองรับการทำงานด้าน Animation และเพื่อพัฒนาผลงานการแข่งขันนักศึกษาให้อยู่ในระดับประเทศ พร้อมโชว์ศักยภาพการจัดการเรียนการสอนด้านดิจิตอลคอนเทนท์

          อาจารย์ ดร. ณพศิษฏ์  จักรพิทักษ์ คณบดีวิทยาลัยฯ กล่าวว่า  การจัดตั้งศูนย์กลางดิจิตอลคอนเทนท์ของภาคเหนือขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเหนือตอนบน ด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์ความรู้ใหม่อย่างรวดเร็วตามปรัชญาวิทยาลัยฯ "International Knowledge Worker" 

          วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี เป็นศูนย์กลางความพร้อมทางด้าน Animation และ Digital Content  ได้จัดการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา โดยปัจจุบันเปิดสอนทั้งหมด 6 หลักสูตร หนึ่งในนั้นได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแอนนิเมชั่น  ซึ่งสาขาวิชาแอนนิเมชัน  มุ่งผลิตบัณฑิต ให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ในการออกแบบ พัฒนา ติดตั้ง ควบคุมงานโครงการผลิตซอฟต์แวร์ แอนนิเมชัน เกม และระบบเสมือนจริง ให้เป็นผู้ที่สร้างสรรค์งานแอนนิเมชั่นที่สามารถบูรณาการความรู้ด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก ด้านการออกแบบร่วมไปกับการใช้ข้อมูลทางการตลาดเพื่อสร้างสรรค์งานให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แอนนิเมชั่นระดับนานาชาติได้

          ทางวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี  ได้จัดให้มีการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในห้องเรียนและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยด้วยงบประมาณในการลงทุนอุปกรณ์ ICT กว่า 50 ล้านบาท   อาทิ ห้อง Motion Capture แห่งแรกของมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือตอนบน, Computer Hardware และ Software ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อรองรับการทำงานด้าน Animation, Rendering Farm เพื่อลดระยะเวลาในการ Render ภาพ 3 มิติ สนับสนุนการเรียนการสอนในสาขาวิชาแอนนิเมชัน, ห้อง Rapid prototype เพื่อรองรับการผลิตต้นแบบ หรือลักษณะตัวละครแอนนิเมชัน เป็นต้น

          อาจารย์ ดร. ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ กล่าวเสริมว่า “อุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวสนับสนุนการเรียนด้านแอนนิเมชันของนักศึกษาให้มีประสิทธิภาพ  ทำให้นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่สร้างสรรค์ผลงานมีโอกาสส่งผลงานเข้าประกวด และได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ  รางวัลชนะเลิศระดับประเทศในการประกวด Sipa Contest 2009 ประเภท Mobile Game และประเภท Game Console และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย”  

          นอกจากนี้ นักศึกษายังได้เข้าร่วมโครงการ จัดทำภาพยนตร์แอนนิเมชัน ด้านวิชาการเกษตรสู่ชุมชน ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นการนำสาระความรู้ วิทยาการด้านการเกษตร ภูมิปัญญาล้านนาไทย  มาผนวกรวมและถ่ายทอดในรูปแบบของการ์ตูนแอนนิเมชัน มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเกษตรปลอดภัยและการเกษตรพอเพียง และยังได้เข้าร่วม โครงการ Creative Product Development with Competitiveness and Merchandising ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาบุคลาการทางด้านการออกแบบ และพัฒนาสินค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ และพัฒนา Application และ Function ของวัตถุดิบที่น่าสนใจของไทย และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี  ร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) จัดทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจล้านนาเชิงสร้างสรรค์ เป็นโครงการที่รองรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในเศรษฐกิจใหม่ (New Economy)  

          วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในด้านการเรียนการสอนที่มีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ถือได้ว่าเป็นวิทยาลัยที่มีความสามารถในการเป็น "ศูนย์กลางความพร้อมทาง Animation และ Digital Content  ของภาคเหนือ"



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มช. พร้อมก้าวสู่ผู้นำ Digital Content ภาคเหนือ โพสต์เมื่อ 20 เมษายน 2553 เวลา 16:40:39
TOP